นักวิจัยชาวบ้านแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ผลิตฟ้าทะลายโจรขาย-แจกให้ฟรี! ช่วยสู้วิกฤตโควิด


นักวิจัยชาวบ้านเครือข่าย สกสว. รับมือวิกฤตโควิด-19 ผลิตสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอบแห้งส่งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ และทำแคปซูลแจกชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิออกงบสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็ปรับตัวสู้ภัยแล้งด้วยระหัดวิดนน้ำจากภูมิปัญญาพื้นบ้านและปลูกพืชใช้น้ำน้อย

นางสุนันทา โรจน์เรืองไร หัวหน้าโครงการวิจัย “พัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ของชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 11 ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ” โดยการสนับสนุนจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สมุนไพรที่ถูกเอ่ยถึงในความเป็น “ตัวแม่” ที่ครอบคลุมการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่สายพันธุ์ซาร์ส จนถึงล่าสุดสายพันธุ์โควิด-19 ในหลอดทดลอง ก็คือ “ฟ้าทะลายโจร”
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นค้นหาองค์ความรู้ จนเกิดงานวิจัยดังกล่าวตั้งแต่ ปี 2556

 

 

จนถึงวันนี้ทำให้เกิดการผลิตฟ้าทะลายโจรอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐานสากล IFOAM โดยปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ต.ท่ามะไฟหวาน ได้ส่ง “ฟ้าทะลายโจรอินทรีย์ชนิดชิ้นแห้ง” ที่ผ่านการอบแห้งแล้วให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ปีละ 1,000-2,000 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมูลค่า 160,000-320,000 บาทต่อปี ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ช่วยสนับสนุนค่าตรวจแปลงให้กับเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2559 อย่างต่อเนื่อง

 

 

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิในการสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการตากฟ้าทะลายโจรให้ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันมอดสมุนไพร โดยกลุ่มชาวบ้านร่วมสมทบงบประมาณร้อยละ 30 ของงบก่อสร้างทั้งหมด

 

 

นักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านได้นำผลผลิตส่วนที่เหลือมาแปรรูปเป็นชนิดผงและแคปซูล จำหน่ายเป็นรายได้เสริม และได้แจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนาประมาณ 7,000 แคปซูลอีกด้วย

 

 

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยเราจึงมีแหล่งผลิตฟ้าทะลายโจรที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับนานาชาติ พร้อมส่งออกได้ทั่วโลก โดยแนวคิดที่ให้ชุมชนได้ทำวิจัยนั้น เป็นวิธีสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้ทางหนึ่ง ทั้งนี้ งานวิจัยที่จะดำเนินการต่อไป กำลังจะขึ้นโครงการกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เกี่ยวกับสมุนไพรไทยเพื่อความยั่งยืนของชุมชนใน จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีตนเป็นพี่เลี้ยงโครงการทำหน้าที่ผู้ประสาน

 

 

สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านจำนวน 30 คน จาก 5 ครัวเรือน ที่ยกระดับเป็นกลุ่มผลิตสมุนไพรมาตรฐาน IFOAM และกลุ่มที่ปลูกพืชสมุนไพรเล็กน้อยเพื่อทำเป็นลูกประคบ สถานการณ์ของหมู่บ้านในขณะนี้เป็นที่น่ายินดีว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะมีการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านตามปกติ และกักตัวคนที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะแรงงานที่กลับจากกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ชาวบ้านมีการปลูกผักสวนครัวและผลไม้ต่าง ๆ เพื่อรับประทานในครัวเรือนของตนเพิ่มมากขึ้น

 

 

ด้านการรับมือกับภัยแล้งในปีนี้ นางสุนันทากล่าวว่า การมีระหัดวิดน้ำทำหน้าที่เป็นฝายช่วยชะลอน้ำ กั้นลำปะทาวตอนกลาง จ.ชัยภูมิ เป็นช่วง ๆ ถึง 17 ตัว ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้น้ำไม่แห้งเร็ว ส่งผลให้กลางปี 2562-2563 ที่ผ่านมาชาวบ้านริมลำปะทาวตอนกลางมีน้ำไว้อุปโภค เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว อีกทั้งการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด แตงไทย ได้ใช้น้ำที่มาจากระหัดวิดน้ำโดยไม่ได้สูบน้ำเพิ่ม ที่สำคัญยังได้ของฟรีเป็นอาหารริมลำปะทาว ได้แก่ ผัก ผลไม้ ปลาพื้นบ้าน

 

 

“หลายคนอิจฉาท่ามกลางความอดอยากยากจนจากสถานการณ์โควิด แต่ที่นี่ยังมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และมีรายได้จากการขายผลไม้ตามฤดูกาลเป็นของแถมด้วย ไม่ว่าวิกฤตโควิดหรือเทศกาลไหน ๆ เราก็ไม่อดตาย” นางสาวนัยนา ยืนชีวิต ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาระหัดวิดน้ำเพื่อการดูแลรักษาระบบนิเวศลำปะทาวตอนกลาง กรณีศึกษาหมู่บ้านนาไก่เซา หมู่ที่ 6 ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิกล่าว

 

 

โดยระหัดวิดน้ำ ถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่ามากท่ามกลางสถานการณ์โควิด