SMEs ต้องปรับตัวอย่างไรในยุคข้าวของแพง กับคุณมงคล ลีลาธรรม


วันนี้สิ่งที่ทุกคนเจอคือราคาน้ำมันที่ประกาศออกมา ซึ่งขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ยังมีข่าวที่จะทำให้ทุกคนกังวลใจ นอกจากราคาน้ำมันที่สูงเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะกระทบต่อราคาแก๊สหุงต้ม และก็ชีวิตความเป็นอยู่ในเรื่องของการขนส่ง ที่ติดต่อกันไปมารวมทั้งกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าเดลิเวอรี่ ที่นำไปสู่การซื้อการขายของธุรกิจต่าง ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นมันแสดงให้เห็นถึงว่าภาวการณ์ขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครนนั้นกระทบกันทั่วโลก ประเทศไทยมันก็ชัดเจนว่าเรานำเข้าสินค้าที่เราเรียกว่าน้ำมันหรือพลังงาน ถึงร้อยละ 80 ถึงแม้ว่าสัดส่วนน้อยมากที่เรานำเข้ามาจากทางรัสเซีย แต่ผลกระทบนี้ มันกระทบต่อเรื่องราคา

คุณมงคล ลีลาธรรม กล่าวกับ SmartSME ว่าแนวโน้มวัตถุดิบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาหาร หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค ก็ดูเหมือนขึ้นราคาทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นได้ชัดว่าภาวะเงินเฟ้อค่อนข้างจะรุนแรง มีอัตราถึง 2 หลัก เรียกว่ามากกว่า 10 % บางกรณีก็เป็นเท่าตัว

“ประเทศรัสเซียกับยูเครน เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรมากของโลก ซึ่งเรายังโชคดีว่าราคาที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังไม่ส่งผลเรื่องการขาดแคลน แต่เพียงแค่นี้ทุกคนก็รู้สึกว่าทุกข์ยาก โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย เราเรียกว่าเปราะบาง รวมทั้งคนที่มีรายได้ประจำก็จะเป็นคนที่รับภาระนี้อย่างชัดเจน เช่น คนที่ทำอาชีพส่งของเดลิเวอรี่ ปกติค่าน้ำมันของเขาเดิมหนึ่งวันอยู่ที่ 80 บาท พอน้ำมันขึ้นราคาอย่างดุเดือดเหมือนวันนี้ก็กระทบขึ้นมาถึง 140 บาท ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือ 1 เดือน 250 บาท ก็แค่บรรเทาเยียวยาเท่านั้น”

คุณมงคลกล่าวต่อว่า ถ้าสมมุติว่าคนเหล่านี้รายได้กลับ 300 บาท ก็ถูกกระทบทันทีร้อยละ 20 และเงินเฟ้อที่เราประกาศไปทุกสิ้นเดือนมันมีเพียง 5 % หรือที่บางประเทศบอกว่ามีประมาณ 8-9 % มันไม่สะท้อนของกลุ่มคนรายได้หาเช้ากินค่ำ สิ่งที่ตามมาก็คือพอกระไปร้อยละ 20 คนก็เหลือแค่ไม่กี่บาท ก็แน่นอนว่าคนเหล่านี้ถูกกระทบโดยอำนาจซื้อที่เราเรียกว่าเงินเฟ้อมันทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง นั่นก็หมายความว่าคนก็ซื้อของน้อยลง เพราะว่าเงินมันน้อยลง แน่นอนว่าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการอาหาร เพราะว่าเฉลี่ยอาหารที่เราทานมื้อหนึ่งก็ 30-50 บาท ก็ถูกกระทบกระเทือนทันที ก็แน่นอนว่าจะทำให้ผู้ประกอบการขายอาหารจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อเป็นระลอกแรกก่อน แล้วแน่นอนเลยว่าช่วงโควิด นักท่องเที่ยวที่มาก็หายไปเลย เพราะฉะนั้นร้านอาหารที่เคยมีรายได้ต่อเนื่องก็ถูกกระทบกระเทือนมากและการฟื้นตัวก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าไม่เท่ากัน มีความเหลื่อมล้ำบ้าง กระทบกันแน่นอนเลยว่าคนที่ประกอบการร้านอาหารหรือที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสินค้าบริการที่ไม่จำเป็นซึ่งก็เป็นผลกระทบตามมา อันนี้ก็คือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าภาวะพลังงานเหล่านี้มีผลกระทบต่อที่เราเรียกว่าอำนาจซื้อ การซื้อการขายโดยเฉพาะการกินการอยู่ก็จะถูกประหยัดและก็น้อยลง

สิ่งที่เกิดขึ้นทุกคนต้องแก้ไข ปรับปรุงรูปแบบของตัวเองที่มีอยู่ คนที่เป็นรายวัน หาเช้ากินค่ำ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาทก็จะถูกกระทบมาก บวกกับคนที่กินเงินเดือนก็ไม่สามารถผลักภาระผลกระทบนี้ไปให้กับคนอื่น การช่วยเหลือของรัฐบาลก็เป็นลักษณะเยียวยาหรือบรรเทาเรื่องนี้เท่านั้นเอง แต่ไม่ถาวร ถ้าสมมุติว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่ารัสเซียกับยูเครนยังต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เหมือนกับ 2 ปีติดโควิดที่ผ่านมาอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหลายต้องทบทวน เพราะว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรม อำนาจซื้อเปลี่ยน จึงจำเป็นที่ต้องจัดการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่

“นำเสนอง่าย ๆว่าไปหาคนที่มีอำนาจซื้อ และเป็นของที่มีตลาดอยู่ มีความต้องการอยู่และสามารถซื้อหาได้ ถ้าเป็นธุรกิจอาหารก็มาเน้นที่สินค้าอาหารสุขภาพ อาหารที่มีคุณภาพที่ไม่มีสารปนเปื้อนที่เราเรียกว่าอาหารสีเขียว เป็นอาหารที่ใช้ ชีววิถีของคนโบราณมาขาย วัตถุดิบของสินค้าเหล่านี้ก็หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดและราคาไม่แพงมาก เป็นสินค้าหมุนเวียนที่เอามาทดแทนกันได้ อย่างช่วงนี้มะนาวค่อนข้างแพง ถ้าเรายังขายอาหารอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ต้มยำ หรือลาบที่ต้องใช้มะนาวเป็นหลักก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก กำไรก็เหลือน้อย ฉะนั้นเราอาจจะต้องเปลี่ยนสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าคุณภาพใหม่ หลายคนก็เสนอแนะว่าให้ใช้มะม่วงแทนบ้าง ผู้บริโภคไม่ยอมรับ เพราะว่าต้องปรับปรุงไปยังสินค้าที่เรียกว่าคุณภาพและชีววิถีต่าง ๆ เช่น เอาเรื่องขิง เรื่องเต้าหู้ หัวปลีที่เรามีอยู่ กล้วยตอนนี้ราคาถูกมาก ก็สามารถนำมาอำนวยเมนูของสินค้าเชิงคุณภาพได้ ต้องเปลี่ยนเมนูตามพฤติกรรม”

คุณมงคลแนะนำผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลายว่าต้องลองนั่งคุยหรือกลับไปศึกษาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างจานด่วน ผัดไทย ที่ดังทั่วโลกในวันนี้ ว่าหลายคนเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างไร ทีแน่นอนก็คือทุกคนต้องประหยัด ต้องใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผลและมีวินัย และที่สำคัญสำหรับคนที่มีหนี้ให้ไปตกลงขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป ก็จะทำให้การชำระหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่มันเปลี่ยนแปลงไป

สรุปได้ว่าภายใต้วิกฤตนั้นยังมีโอกาส สำหรับคนที่เปลี่ยนแปลง คิดบวก และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่าสินค้าหรือบริการให้สอดคลองกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน อำนาจซื้อของคนที่มีอยู่ และที่สำคัญก็คือต้องบริหารรายได้หรือกำไรนั้นให้สอดคล้องกับชีววิถีที่เรามีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ส่วนภาระหนี้และพฤติกรรมการใช้ชีวิตเราต้องพอเพียง และเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อผ่อนปรน รวมหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้ ก็มีโอกาสที่จะอยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาวได้