เราต้องไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น


เราต้องไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น

 

ดร.พยัต วุฒิรงค์

              

               คำถามยอดฮิตที่ผมเจอเวลาไปเป็นวิทยากรบรรยายให้องค์การขนาดเล็กกลางใหญ่ เป็นอาจารย์สอนหนังสือนักศึกษา หรือแม้กระทั่งไปร่วมเสวนาใหญ่ๆ ที่มีผู้ฟังหลายร้อยคนคือ ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในยุคนี้ ทำอย่างไรถึงจะรวย ทำอย่างไรถึงจะสบาย ทำน้อยๆ ได้เยอะๆ คำถามเหล่านี้ไม่ว่าไปพูดคุยที่เวทีไหน ก็ต้องเจอคำถามนี้ที่เวทีนั้น

               ครั้งหนึ่งผมได้รับการติดต่อให้ไปพูดให้ผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบนฟัง พูด 3 จังหวัด 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีผู้ประกอบการทั้งระดับที่เล็กที่สุดคือ การรวมกลุ่มกันในระดับชุมชน ใหญ่ขึ้นมาหน่อยคือ ผู้ประกอบการ SME จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ติดต่อพยายามตั้งหัวข้อให้ดึงดูดใจ จึงตั้งชื่อว่า “ชี้ช่องทางรวยด้วยกลยุทธ์ทะเลสีครามต้อนรับ AEC” หัวข้อนี้มีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์และศิลปะเลยทีเดียว กลยุทธ์ทะเลสีครามถือเป็นศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ มีที่มาที่ไปชัดเจน ในขณะที่ ชี้ช่องทางรวย ผมถือว่าเป็นศิลปะ บางเรื่องยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทำนองไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มีของแถมเล็กน้อยให้ดูทันสมัยคือ ต้อนรับ AEC หัวข้อนี้ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ต้องบอกว่า “เราจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในโลกยุคนี้” หลักการง่ายๆ หลักการหนึ่งที่สรุปได้จากหัวข้อนี้คือ       

“เราต้องไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น”

                 ศาสตร์ของกลยุทธ์ทะเลสีคราม หรือผู้คิดค้นใช้คำภาษาอังกฤษว่า Blue Ocean มีอยู่ว่า โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน องค์กรหรือธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ต้องหลีกหนีจากทะเลสีเลือด หรือ Red Ocean ที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง รุนแรงขนาดที่ว่า วันนี้ซื้อของเรา พรุ่งนี้ลูกค้าหนีไปซื้อของคนอื่นกันเลยทีเดียว มีการตัดราคากันไม่หยุดหย่อน เราลด เค้าลด เราแจก เค้าแจก จนตายกันไปข้างหนึ่งเหมือนธุรกิจชาเขียวที่เราเห็นในปัจจุบัน ทำให้เงินหาย กำไรหด สุดท้ายบางธุรกิจต้องปิดกิจการไป

                 ตรรกะนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับ SME เท่านั้น แต่เกิดกับบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ดังจะเห็นข่าวการขายกิจการของห้างยักษ์ใหญ่อย่างคาร์ฟูร์ในประเทศไทย หรือการประกาศขายกิจการในต่างประเทศของเทสโก้ หลังเจอวิกฤตยอดขาย ทั้งๆ ที่เราเห็นว่า ธุรกิจนี้ขายดีมากๆ คนแน่นทุกวันและน่าจะมีสายป่านยาวก็ตาม หรือการเข้าซื้อกิจการธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยจากธนาคารต่างประเทศทั้งธนาคารซีไอเอ็มบีของมาเลเซีย หรือธนาคารยูโอบีของสิงคโปร์

นั่นคือ สาเหตุที่ทำไมเราถึงต้องไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น

                การที่เราจะอยู่รอดหรือถึงขั้นรวยได้อย่างยั่งยืน เราต้องสร้างรูปแบบธุรกิจของเราขึ้นมาใหม่ หรือ โลกใหม่แห่ง “คุณค่า” ของเราขึ้นมา มันไม่ใช่แค่มูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่ต้องเป็น “คุณค่าเพิ่ม” คุณค่านี้มากกว่ามูลค่าที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจที่สร้างความอิ่มเอมใจให้กับลูกค้า

               ถามต่อว่า “ที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น” มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ให้คุณนึกก่อนว่า หากคุณคิดจะปรับธุรกิจ ปรับสินค้าหรือบริการใหม่ให้ขายได้ ขายดี ที่ที่เราไปนั้น เมื่อมองซ้าย มองขวาแล้วต้องยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนหรือเคยทำแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ที่ที่เราไปอาจอยู่ในรูปของสินค้า บริการ กระบวนการนำเสนอ การติดต่อสื่อสาร หีบห่อ ชุดแต่งกายพนักงาน การตกแต่งร้านค้า รูป รส กลิ่น เสียงหรือทุกอย่างรวมๆ กัน รูปแบบของธุรกิจใหม่เป็นการหาอะไรที่ทำให้ธุรกิจทันสมัยขึ้น ดูแปลกตาขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น 

               บางคนอาจมองว่า ยากจริงๆ การหาอะไรที่คนอื่นไม่เคยทำ จากประสบการณ์ของผมพบว่า “การค้นหาไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเรา เพราะทุกคน ทุกธุรกิจมีของดีในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่มันยังไม่ถูกเอาออกมาใช้ หรือยังไม่ได้ถูกขัดเกลาให้โดดเด่นแค่นั้นเอง” ปัญหาของการไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็นคือ เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และเราคิดว่ามันยากเกินกำลัง ซึ่งไม่จริงเลย ก่อนอื่นเราต้องมองว่าเราอยากทำธุรกิจในรูปแบบไหน ทำธุรกิจเดิมในตลาดเดิม ทำธุรกิจเดิมในตลาดใหม่ ทำธุรกิจใหม่ในตลาดเดิม หรือทำธุรกิจใหม่ในตลาดใหม่ ซึ่งความยากง่ายของแต่ละรูปแบบธุรกิจก็แตกต่างกัน แต่ต้องใช้ความตั้งใจและสร้างคุณค่าเพิ่มทั้งสิ้น

               ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพมากขึ้น มีชุมชนหนึ่งในภาคเหนือถามผมว่า “ทำอย่างไรให้ลำไยขายได้ราคาดี” เพราะตอนนี้ขายกันเป็นกิโล ขายกันเป็นตัน ลำไยก็คือลำไย เวลาคนซื้อไม่ได้สนใจว่าจะเป็นลำไยของใคร กินแล้วอร่อยก็จบ ราคาก็ต่ำติดดิน

               ผมเริ่มต้นโดยการค่อยๆ ถามว่า ลำไยของคุณมีอะไรดีกว่าคนอื่น จนได้คำตอบออกมาเรื่อยๆ และสิ่งที่ผมแนะนำคือ ให้ชุมชนของเค้าไปรวบรวมลำไยลูกใหญ่ที่สุดมาขาย ผมย้ำว่า ต้องเป็นลำไยที่ใหญ่ที่สุดนะ ใหญ่ชนิดแถบนั้นไม่มีใครสู้ได้ และต้องมีขนาดของลูกลำไยใกล้เคียงกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชุมชนนี้มั่นใจว่า สวนลำไยเค้าไม่ใช้สารเคมีแน่นอน 100% และผมแนะนำเพิ่มเติมว่า ไม่จำเป็นต้องขายเป็นกิโลแล้วขายเป็นถุงได้เลย แต่ละถุงคัดลำไยขนาดใหญ่ Size เดียวกันใส่ลงไป เพิ่มชื่อแบรนด์และบวกกับการสื่อสารว่า “ลำไยปลอดสารเคมีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ใหญ่จริงยินดีคืนเงิน” (ตอนแรกคิดว่าจะให้ใช้ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่แน่ใจจึงให้ใช้ในประเทศไทยก่อน) ให้คนพูดกันปากต่อปาก ถ่ายรูปใน Social Media ผ่านไป 3 เดือน ลำไยของชุมชนนั้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และขายได้ราคาขายสูงขึ้น 4-5 เท่าตัว ลูกค้ายินดีและเต็มใจจ่าย ไม่มีคู่แข่ง นี่ไม่นับโอกาสในการขายลำไยอบแห้ง และส่งออกไปจีนและต่างประเทศ

              นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวที่เราและชุมชนคิดไม่ถึง แต่เป็นการสร้างคุณค่าเพิ่ม ที่ผู้ขายอยู่ได้และผู้ซื้อก็อิ่มเอมใจ ซึ่งกรณีนี้มีต้นทุนเพิ่มน้อยมาก และนี่คืองานส่วนใหญ่ที่ผมทำในฐานะนักบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างคุณค่า ทำตั้งแต่ของระดับชุมชน ไปจนถึงการผลักดันงานวิจัยระดับโลกไปสู่ผลงานที่ใช้ได้จริง ทำของคนไทยให้ฝรั่งได้ใช้กัน

              ผมอยากให้ข้อคิดซักนิดเกี่ยวกับโลกใหม่แห่ง “คุณค่า” ที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็น หรือทะเลสีครามว่า ทะเลไม่มีวันสงบฉันใด เมื่อคนอื่นเห็นว่า ธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมามันหอมหวานเพียงไร หมู่มวลภมรก็จะตามมาดอมดมฉันนั้น เมื่อนั้น ทะเลก็จะกลายเป็นทะเลสีเลือดที่มีคนลอกเลียนแบบและตัดราคาอีกครั้ง ซึ่งเราก็จำเป็นต้องค้นหาโลกใหม่แห่ง “คุณค่า” หรือที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็นแห่งใหม่ต่อไป…สวัสดี

———————————————————————————————————————————————————————–

ดร.พยัต วุฒิรงค์

นักบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างคุณค่าแถวหน้าของเมืองไทย มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่หันมาเอาดีด้านการตลาด การบริหารคน และการบริหารจัดการนวัตกรรม เพราะมองว่ามีความท้าทายและความสุขมากกว่า สั่งสมประสบการณ์จากองค์กรอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมและการบริหารคนของไทยเกือบ 20 ปี จากนั้นลาออกมาช่วยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในหลากหลายศาสตร์จาก “หิ้งสู่ห้าง” สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ และพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ชอบพูดคุยกับผู้รู้ CEO บริษัทต่างๆ ชอบเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และวัตถุดิบมาต่อยอดความรู้และถ่ายทอดสู่สังคม