เตรียมตัวอย่างไร ก่อนขอสินเชื่อธนาคาร


 เตรียมตัวอย่างไร ก่อนขอสินเชื่อธนาคาร

 

โดย คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์

กรรมการผู้จัดการบริษัท จีโนซิส จำกัด

ที่ปรึกษาด้านวางแผนกลยุทธ์ การเงินธุรกิจ และผู้ตรวจประเมินคุรภาพแฟรนไชส์

[email protected]

 

การขอสินเชื่อธนาคาร หรือการกู้ยืมเงินเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนที่ผู้ประกอบการ SME คิดเป็นอันดับถัดจากการระดมทุนกันเอง เช่นการใช้เงินออมของตนเอง ได้เงินสนับสนุนจากครอบครัว ได้เงินร่วมทุนจากญาติสนิท มิตรสหาย  หรือแม้กระทั่งได้เงินทุนจากนักลงทุนที่เห็นว่าโครงการที่เราจะทำนั่นมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ และพร้อมรับความเสี่ยงในระดับที่สูง

อย่างไรก็ดี การขอสินเชื่อกับธนาคารเป็นกรณีที่แตกต่างกัน เงินที่ให้กู้ยืมของธนาคารนั้น มาจากเงินออมจากประชาชนทั่วไป และเงินออมเหล่านั้นเป็นต้นทุนที่ธนาคารจะต้องรักษาไว้ให้ดี และการจะนำเงินออมนั้นไปปล่อยเงินกู้หรือให้สินเชื่อ ธนาคารจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างถี่ถ้วน นอกจากนี้ยังต้องรายงานผลการดำเนินงาน และทำตามประกาศ และกฎกติกาต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย

เกณฑ์การพิจารณาของธนาคารแบ่งเป็น 2 หัวข้อหลักๆ คือ

  • พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้

  • พิจารณาความเต็มใจในการชำระหนี้

ข้อพิจารณาเหล่านี้ ผู้ประกอบการ SME จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถชำระหนี้ได้ และเต็มใจจะชำระหนี้ได้ตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมจะต้องเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อกับธนาคาร เพราะการพิสูจน์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาชั่วค่ำคืน จะต้องสร้างมาแล้วระยะเวลานึง

1. ความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารจะพิสูจน์ข้อพิจารณานี้จาก แผนธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ว่าโครงการที่จะมานำเสนอเพื่อขอสินเชื่อนั้นมีโอกาสและความเสี่ยงอะไรบ้าง ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมตัวพิสูจน์ให้เห็นดังนี้

  • โครงการที่จะขอสินเชื่อ มีโอกาสที่จะเกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ตอบได้ว่าแหล่งที่มาของรายได้มาจากทางใดบ้าง และถ้าทำไม่ได้จะมีกลยุทธ์แก้ไขความเสี่ยงอย่างไร แหล่งที่ใช้ไปของเงินทุน (ทั้งเงินทุนส่วนตัว และเงินกู้) จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีผลต่อการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างไร เช่นนำเงินทุนไปซื้อเครื่องจักรผลิตสินค้า นำเงินทุนไปใช้หมุนเวียนชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อก่อให้เกิดรายได้ของกิจการ นำเงินทุนไปซื้อวัตถุดิบมาผลิต หรือนำมาบวกกำไรเพื่อขายต่อ เป็นต้น

  • ธนาคารจะสนใจงบประมาณการกระแสเงินสด ที่กิจการสามารถระบุได้ว่าเงินสดรับ และเงินสดจ่าย ก่อนชำระดอกเบี้ยและเงินต้นนั้นมีสุทธิอยู่เท่าไร ดังนั้นสมมติฐานที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมไว้ต้องน่าเชื่อถือว่า เงินสดรับในแต่ละเวลานั้นจะได้มาอย่างไร และเงินสดจ่ายที่จำเป็นมีอะไรบ้าง แต่คำถามต่อมาที่ผู้ประกอบการและธนาคารสงสัยคือ แล้วถ้าโครงการนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนล่ะ งบประมาณจะพิสูจน์อย่างไร คำตอบคือผู้ประกอบการต้องศึกษาวิจัยอย่างละเอียด เช่นศึกษาจำนวนลูกค้าเป้าหมาย มียุทธศาสตร์หรือวิธีการที่จะทำธุรกิจกับลูกค้าเหล่านั้น มีการทดสอบการขาย หรือมีการสั่งสินค้าล่วงหน้า  (Pre-Order)  เปรียบเทียบสินค้าและบริการที่ใกล้เคียงของคู่แข่งขันทางการค้า พิสูจน์ว่ามีตลาดนั้นจริงๆ เป็นต้น

  • ผู้ประกอบการ และทีมทำงานต้องพิสูจน์ตัวเองได้ว่า มีความสามารถในการทำโครงการ หรือธุรกิจนั้นได้ แสดงผลงานและประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าไม่เคยทำธุรกิจนั้นมาก่อนเลยแต่มองว่าเป็นโอกาส ก็จำเป็นต้องมีทีมทำงานที่เคยทำมาหรือได้ผ่านการอบรมกับงานที่เกี่ยวข้องนั้นมาระยะเวลาพอสมควร

  • เงินทุนตั้งต้น มีเพียงพอ และผู้ประกอบการมีรายได้จากแหล่งอื่นหรือไม่ เพื่อใช้สำรองเมื่อธุรกิจดำเนินไปแล้วจะมีเงินทุนหมุนเวียนให้เกิดสภาพคล่อง ทั้งนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของโครงการอาจยังทำงานประจำอยู่ สลิปเงินเดือน หรือใบรับรองเงินเดือนจากงานประจำก็ยังพอช่วยได้ แต่ไม่ได้การันตีว่าเงินเดือนเหล่านั้นจะใช้ได้เสมอ เพราะธนาคารไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นจะลาออกเมื่อไร ธนาคารจึงต้องดูว่าเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะต้องชี้แจ้งในใบสมัครขอสินเชื่อกับธนาคารอย่างครบถ้วน

2. ความเต็มใจในการชำระหนี้ ข้อพิสูจน์นี้เป็นข้อที่ยากมากสำหรับธนาคาร เพราะสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เปลี่ยนแปลงความเต็มใจในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อย่างไรก็ตามธนาคารยังต้องนำข้อมูลที่ผู้ประกอบการมีอยู่มาพิจารณาหาข้อพิสูจน์ว่า ผู้ประกอบ SME  หรือลูกหนี้ธนาคารนั้นจะเต็มใจในการชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งหน้าที่ของผู้ประกอบการ SME คือต้องแสดงให้เห็นว่ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดี

หลักฐานที่ธนาคารจะขอดูได้แก่

  • ข้อมูลเครดิตบูโร จากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นแสดงความยินยอมกับธนาคารให้ดูข้อมูลได้ ในข้อมูลเครดิตบูโร จะระบุเรื่องประวัติส่วนตัว ข้อมูลประวัติการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และการชำระสินเชื่อ รวมทั้งประวัติการชำระสินค้าผ่านทางบัตรเครดิต หรืออีกนัยหนึ่งคือการแสดงนิสัยการชำระหนี้และการใช้เงินของเรา ถ้าผู้ประกอบการ SME ได้ชำระหนี้ปกติ  ก็พิสูจน์เบื้องต้นว่ามีระเบียบวินัยในการชำระหนี้ เต็มใจในการชำระหนี้ ที่เขาเรียกว่า เป็นคนมีเครดิตดี

  • รายละเอียดบัญชีเงินฝาก Bank Statement มีรูปแบบการเดินบัญชีธนาคารอย่างดี แปลว่ามีรายได้หรือเงินฝากเป็นประจำ มีจำนวนการถอนเงินน้อยกว่าจำนวนการฝากเงิน มีการเดินบัญชีอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่ว่านานๆ ฝากทีนึง หรือเงินเข้าออกผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอเป็นต้น

  • พิสูจน์ความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ มีประวัติที่สามารถค้นหาได้ง่าย มีบุคคลอ้างอิง ถ้าหากมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในระดับชุมชน หรือมีผู้ที่ให้การรับรองความซื่อสัตย์ได้ยิ่งง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังหรือดารา ขอแค่มีประวัติที่สืบค้นได้ และมีบุคคลรับรองให้ ซึ่งกรณีนี้ธนาคารมักจะให้มีบุคคลค้ำประกัน เพื่อยืนยัน แต่ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ยิ่งยุคสมัยดิจิตอล ถ้าหากมีข่าวไม่ดี หรือลงข้อความ หรือภาพถ่ายแสดงตัวตนไม่ดี ยิ่งลดเครดิตตัวเองไปได้เช่นกัน  

ดังนั้นการเตรียมตัวของผู้ประกอบการ SME จะต้องพร้อมในเรื่องข้อมูลโครงการ วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม วิธีการดำเนินงานที่สามารถชำระหนี้ได้ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลหรือกิจการที่มีเครดิตดี เริ่มสร้างประวัติดีๆ กันตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่จะขอสินเชื่อแล้ว ไม่เคยมีประวัติเลย ผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกรรมกับธนาคารมาบ้างจะมีโอกาสมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจดำเนินได้ตามปกติไม่มีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อใดๆ ในขณะนั้น ให้ลองพิจารณามีวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการจำนวนหนึ่ง  เพื่อสร้างประวัติการชำระหนี้ สร้างเครดิต เวลามีความจำเป็นต้องการขยายหรือขอสินเชื่อก้อนใหญ่ขึ้น โอกาสในการได้สินเชื่อจะง่ายขึ้น