สืบสานพระราชปณิธาน ร.๕ พาประเทศก้าวพ้นความล้าหลัง สู่ยุครุ่งเรืองด้าน Logistics : ฐาปนา บุญหล้า


         ผมได้อัญเชิญพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ ร.๕ และแผนผังเส้นทางไฟ ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้วิศวกรชาวเยอรมันจัดทำขึ้นตามมาตรฐานเยอรมัน มาขึ้นหน้าแรกของหนังสือฉบับนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเครื่องกระตุ้นให้คนไทยทุกคนชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการวางแผนพัฒนาระบบคมนาคมของไทยที่เป็นสากลและยังคงทันสมัยจนถึงวันนี้ รวมทั้งภาพแผนที่ Trans – Asian  Railway Network และแผนที่โลกแสดงให้เห็นว่าไทยมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดีกว่าทุกประเทศในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของโลก เป็น Gateway ของการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

        ประเทศไทยโชคดี ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถล้ำเลิศ ตัดสินพระทัยให้พัฒนาระบบรถไฟตรงตามแบบแผนของเยอรมันทุกประการ เป็น Positive Selection จนไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศที่ 6 ของโลกที่ใช้ทางรถไฟมาตรฐานขนาด ๑.๔๓๕ เมตร แม้จะถูกบีบบังคับจากอังกฤษให้ลดขนาดรางเหลือ ๑ เมตร ในภายหลังก็ตาม หากผู้นำหรือรัฐบาลยุคต่อๆมา จะมีวิสัยทัศน์เพียงครึ่งหนึ่งของพระองค์ นำแผนการพัฒนาที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้กลับมาทบทวนใช้ และเปลี่ยนกลับไปใช้รางขนาดมาตรฐานสากลให้ตรงตามพระราชประสงค์ ประเทศไทยคงมีระบบคมนาคมที่เจริญทัดเทียมกับเยอรมันและนานาอารยประเทศไปนานแล้ว แต่น่าเสียดายทุกครั้งเมื่อผู้นำท่านใดที่จะพัฒนาระบบรางให้เป็นสากล ท่านผู้นั้นจะถูกแรงผลักดันให้พ้นจากหน้าที่ ถูกปฏิวัติรัฐประหาร ระบบรางรถไฟก็ถูกแช่แข็งอยู่กับที่ เรามีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕0๕ จนถึงฉบับที่ ๕ ไม่เคยบรรจุการพัฒนาระบบรถไฟไว้เลย มุ่งมั่นแต่การสร้างถนนอย่างเดียวอย่างเมามัน มาเริ่มกำหนดแผนพัฒนาระบบรถไฟกันในแผนฯ ฉบับที่ ๖ แต่ก็เป็นการเลือกแผนพัฒนาทางลบ แทนที่จะเกิดประโยชน์กลับสร้างภาระหนี้สินให้ประเทศ ผลที่ออกมาต่ำกว่าเป้าหมาย แถมด้วยความเสียหายอย่างยากที่จะเรียกกลับคืน หลักฐานความอัปยศค้างให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นตอม่อ HOPEWELL หรือการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับแขวนระโยงระยางเป็นมลภาวะต่อสายตาในใจกลางเมืองหลวง แทนที่จะสร้างรถไฟใต้ดินอย่างที่อารยประเทศเขาทำกัน

         การลงทุนในนโยบายการพัฒนาระบบการคมนาคมและระบบขนส่งมวลชนมูลค่านั้น เป็นความถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย โดยเฉพาะทางภูมิเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ และสอดคล้องกับพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ ร.๕ แต่สิ่งที่จะสร้างความเสียหายแสนสาหัสในระยะยาว ประชาชนทั่วไปอาจไม่ตระหนักคือ การสงวนไว้ซึ่งรางรถไฟขนาด ๑ เมตร ซึ่งเป็นการทำลายโอกาสของประชาชนในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าทางไกล Inter City และรถสินค้า ด้วยรางขนาด ๑ เมตร ป็นมูลค่าสูงสุดถึง 176,507 ล้านบาทโดยการสร้างมายาคติว่า รถไฟฟ้าทางไกลและรถสินค้าในระบบรางขนาด ๑ เมตร ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูงใช้ระบบรางขนาด ๑.๔๓๕ เมตร ทั้งที่ความจริงทั้งรถไฟฟ้าทางไกล รถความเร็วสูง และรถขนส่งสินค้าในระบบรางขนาด ๑.๔๓๕ เมตรร่วมกันได้

        ประเทศไทยโชคดีครับที่มีทำเลที่ตั้งดีที่สุดในโลก และเนื่องจากเราเป็น Gateway  ของโลกจึงเป็นความ “จำเป็น” ที่ต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้สามารถเป็นจุดเชื่อมผ่านสากล รวมทั้งต้องพัฒนาการขนส่งระบบราง เพื่อให้ระบบรางรถไฟในประเทศต่างๆ เชื่อมต่อกันได้เป็นหลักการความร่วมมือระหว่างประเทศ และไทยก็ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีร่วมบนเครือข่ายทางรถไฟสาย Trans-Asia ของสหประชาชาติ (Intergovernmental Agreement on the Trans – Asian Railway Network) ระยะทาง ๑๑๑,๐๐๐ กิโลเมตรครอบคลุม ๒๘ ประเทศในเอเชียและยุโรป ซึ่งการเชื่อมต่อกับสากล จะต้องใช้ระบบรางขนาด ๑.๔๓๕ เมตรเท่านั้น การลงทุนสร้าง “รางคู่” ขนาด ๑ เมตรมูลค่า ๑๗๖,๕๐๗  ล้านบาท จะเป็นการลงทุนสูญเปล่า เมื่อไทยถูกบังคับให้รื้อรางขนาด ๑ เมตรทิ้ง เพื่อให้การคมนาคมระหว่างประเทศใช้เส้นทางรถไฟร่วมกันได้ การทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญโดยยังคงขนาดรางแคบไว้ จะทำให้ไทยตกเป็นแกะดำ และถูกลากเข้าสู่กระบวนการระงับข้อขัดแย้งกรณีไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งไม่อาจคาดได้ว่าจะสูญเสียอะไรบ้าง นอกเหนือจากการเสียเครดิตประเทศ  และในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการ “ขายโอกาส” ซึ่งมิอาจประเมินค่าเสียหายได้ ลูกหลานจะไม่ให้อภัยเลยกับผู้นำประเทศ ผู้นำ “โอกาส” ของประเทศไปสู่วิถีขาดทุนย่อยยับเช่นนั้น

         ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Thailand in Transition) เนื่องจากอารยธรรมกำลังจะหวนกลับจากตะวันตกสู่ตะวันออก ภูมิเศรษฐกิจทางตะวันออกกำลังเฟื่องฟู แต่ทางตะวันตกกำลังซบเซา ประเทศจีนกำลังพัฒนาเส้นทางการค้าบนเส้นทางสายไหมเดิม ซึ่งหากเราใช้โอกาสที่เรามีอยู่เกาะร่วมขบวนไปกับจีนด้วยก็จะสร้างมูลเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสินค้าไทย และในขณะเดียวกันถ้า “ปูยิ่ง” (ลักษณ์) จับมือกับ “ปูติน” ใช้โอกาสทั้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐกิจวางยุทธศาสตร์เส้นทางสินค้าให้สอดคล้องกับ Intergovernmental Agreement On the Trans-Asian Railway Network ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีสมาชิก ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดโลก เร่งพัฒนาทั้งระบบ Inventory ระบบ Distribution และระบบ Logistics เพื่อให้บริการโลกด้านการกระจายสินค้า เพื่อ   Re-Export บรรดาเศรษฐทรัพย์ที่จะไหลหลั่งมาจากรัสเซีย ยุโรปตะวันออก ผ่านจีนเข้าสู่ภาคเหนือของไทย ขนส่งโดยระบบรางลงสู่ภาคใต้ แยกขนส่งทางเรือไปได้ทั้งทางมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติกลองจินตนาการการดูซิครับว่า รายได้แค่ค่าหัวคิวการเก็บรักษาและกระจายสินค้าจะมากมายมหาศาลสักเท่าใด

         อนาคตประเทศต้องมาจากตัดใจจากความคิดที่ถูกต้องเป็นเป็นสากล รัฐบาล หรือผู้นำท่านใดมีความจริงใจพร้อมที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด  จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นผู้สามารถว่างกลยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยสามารถกุมบังเหียนระบบ Logistics ของภูมิภาค ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดโลก เป็นศูนย์กระจายสินค้าของเส้นทางการค้าสายใหม่ แต่ถ้าท่านไม่ทบทวนการพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคม ซึ่งประกาศไปแล้วจนได้รับคำชื่นชมจากคนส่วนใหญ่ โดยที่ยังไม่มีใครความจริงว่า แผนพัฒนานี้ยังแอบซุกแขนขาโครงสร้างที่อ่อนล้า ติดเชื้อโรคร้ายที่กำลังเพาะตัวทำลายล้างภูมิต้านทานความมั่นคงของประเทศเชื้อโรคหรือไวรัสนี้ถูกนำมาสู่แผนพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคม โดยการเลือกวิถีพัฒนาผิดพลาดซ้ำซากที่สุด ผมในฐานะอดีตประธานคณะอนุกรรมการศึกษาป้องกันผลกระทบที่เกี่ยวกับการสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในคณะกรรมการ คจร. เป็นที่ปรึกษาและประธานคณะทำงาน การศึกษาพัฒนารถไฟ ๑๐ เส้นทางในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๒๑ และ ๒๒ ได้เสนอแนะแนวทางพัฒนาตามระบบสากล โดยยึดแนวเส้นทางที่ล้นเกล้าฯ ร.๕ ทรงพระราชทานไว้ให้พสกนิกรของท่าน และได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทน แต่ในที่สุดผู้มีอำนาจกลับเลือกแนวทางที่เป็น Negative ทั้งเรื่องการฝืนหลักสากลสร้างรถไฟฟ้ายกระดับในพื้นที่เมืองชั้นในแทนที่จะสร้างรถไฟใต้ดิน และการวางระบบพัฒนาเป็นส่วนๆ มิใช่พัฒนาทั้งระบบ ทำให้เป็นการลงทุนแบบสูญเปล่า สร้างเพียงความมั่งคั่งให้นายทุนบริษัทก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายทางรถไฟฟ้า หนำซ้ำยังเป็นการกรุยทางการความมั่งคั่งในอนาคตให้เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าที่สามารถจับจองเส้นทางรถไฟบนศูนย์กลางกรุงเทพฯ นอนคอยรายได้มหาศาลที่รัฐบาลจะต้องสร้างรถไฟต่อเชื่อมเป็น Feeder ขนคนทั้งเข้าและออกอย่างมหาศาล

          ความผิดพลาดที่ผ่านมายังสามารถแก้ไขได้ครับ และคณะทำงานของผมได้ทุ่มเทหาแนวทางแก้ไขมาแล้ว ณ ช่วงเวลานี้ โลกกำลังรุมล้อมเราซึ่งมีทำเลที่ตั้งเป็น Gateway ของโลก เป็นภาคบังคับที่เราต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งระบบรางให้ใช้ร่วมกันได้กับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ท่านนายกฯ ควรจะทบทวนแผนการดำเนินงานทั้งหมดอย่างรอบคอบ พิจารณาแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อให้การพัฒนาเป็น Functional Development และตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา การตัดสินใจของท่านครั้งนี้จะต้องถือเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ มิใช่เป็นเพียงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเท่านั้น เป็นความจำเป็นครับ เพราะประเทศเราตั้งอยู่ในทำเลที่เป็น Gateway ของโลก จึงต้องเปิดประตู ให้ความเจริญของทั้งโลกไหลเข้าออกได้สะดวก อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ถ้ายังดำเนินการตามวิถี Negative หลงทิศหลงทางอย่างที่ผ่านมา ประตูแห่งความเจริญก็จะปิดสนิท แต่ถ้าตั้งสมาธิให้มั่น อย่าให้อิทธิพลหรือตัณหาใดๆ เข้ามารบกวน ทบทวนถึงข้อดีข้อเสียทุกด้าน ในทุกมิติ จะพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการก่อสร้างรางแคบเพื่อพัฒนาให้เป็นสากล ยกเลิกเส้นทางใหม่ที่ต้องเสียค่าเวนคืนและไม่เป็นที่ปรารถนาของเจ้าของที่ดินละแวกนั้น เพื่อกลับไปพิจารณาปรับปรุง (Rehab) บนเส้นทางรถไฟเดิม โอกาสเปิดให้เราก้าวไปสู่ความมั่งตั่ง เราต้องรีบวางยุทธศาสตร์ชาติ ผลได้ขอให้ท่านผู้มีประสบการณ์สูงช่วยกรุณาจุดตะเกียงส่องทางไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ (Signed Post to Strategy) และได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับรถไฟไทย รวมทั้งเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่ามีผลกระทบหรือมีส่วนในการพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งหมดนี้ ผลกระทำด้วยความปรารถนาดีเพื่อเป็นความรู้ของประชาชนทั่วไป ด้วยความหวังว่านับต่อจากนี้ ประเทศของเราจะก้าวพ้นความล้าหลังไปสู่ความสดใสรุ่งเรืองที่รอเราอยู่