ยุคนี้เป็นยุคที่มองไปทางไหนมีแต่ร้านกาแฟ ในศูนย์การค้า ในตัวเมือง ในชุมชน ..ละแวกชานเมืองเชียงใหม่ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ก็ยังอุตส่าห์มีร้านกาแฟเปิดใหม่ไม่น้อยกว่า 5 ร้าน นี่จำกัดรัศมีแค่ 1 ก.ม.นะ เพราะหากขยายไปมากกว่านั้นก็จะมีเพิ่มอีกจนอดคิดไม่ได้ว่า นี่มันเป็นยุคบูม หรือยุคเฟ้อกันแน่
กาแฟเป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกา พวกอาหรับไปพบแล้วก็นำไปปลูกในคาบสมุทรอาหรับต่อมาก็ยกระดับเป็นเครื่องดื่มของชาวอิสลาม ตอนที่พวกอิสลามดื่มกาแฟเพื่อถกสนทนาเล่นดนตรีสันทนาการกันนั้นตรงกับยุคกลาง ยุโรปยังอยู่ในยุคมืดเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอยู่เลย กาแฟในสมัยนั้นยังเป็นเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่ม เฉพาะถิ่นของพวกอิสลามและแอฟริกัน
การที่กาแฟกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มระดับโลกขึ้นมาได้ก็เพราะพวกฝรั่งและยุคอาณานิคม โดยฝรั่งในยุโรปเพิ่งเริ่มจะได้ทดลองลิ้มกลิ่นรสของกาแฟในราวยุคต้นของสมัยแห่งการตื่นรู้หรือที่เรียกว่าเรอเนสซองส์ซึ่งตรงกับต้นอยุธยา แต่ช่วงแรกก็ได้แค่นำเข้าจากอาหรับอีกทอด ยิ่งเป็นที่นิยมพวกฝรั่งพยายามจะเอาเมล็ดพันธุ์กาแฟมาปลูกเองแล้วก็มาสำเร็จโดยพวกดัทช์ตรงกับสมัยกลางอยุธยา ในตอนนั้นพวกยุโรปเริ่มต้นสมัยอาณานิคมแล้ว ดัทช์เอากาแฟไปลองปลูกที่อินเดียแต่ไม่สำเร็จ มาได้ผลผลิตที่อาณานิคมเกาะชวาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน
ความตื่นกาแฟของพวกยุโรปตั้งต้นมาจากตอนนั้นทำเอากาแฟขยายพื้นที่ปลูกออกไปทั่วโลก โปรตุเกสก็เอาไปปลูกที่บราซิล สเปนนี่ปลูกทั่วไปทั้งลาตินและแคริบเบียน ส่วนแถวเอเชียบ้านเราปลูกมากที่ชวา ซึ่งก็เป็นพื้นฐานให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้ผลิตกาแฟใหญ่ของโลกจนถึงบัดนี้
ยุคสมัยแห่งการเห่อ เอ๊ย! บูมร้านกาแฟของไทยเราเพิ่งจะเริ่มขึ้นสัก 5 ปีมานี้ ก่อนหน้าโน้น ร้านกาแฟก็มี มีเยอะด้วยแต่เป็นร้านโต๊ะกลมในตลาดที่ซึ่งพ่อบ้านสมาชิกในชุมชนพร้อมหน้ากันไปนั่งคุยสนทนาอ่านหนังสือพิมพ์กินปาท่องโก๋ ไม่ใช่ร้านหรูที่ตกแต่งสวยงามมีระดับกาแฟแต่ละแก้วแพงระยับแบบทุกวันนี้
กาแฟน่ะเป็นเมล็ดพืชที่มีมูลค่าสูงมาตั้งแต่พวกฝรั่งเริ่มนิยมให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับวงสนทนาปราศัยของยุโรปที่เพิ่งฟื้นตื่นจากการหลับไหล ในยุคแรกที่ฝรั่งเพิ่งจะได้เมล็ดพันธุ์มา โอ้โห้! ประคบประหงมยิ่งกว่าไข่ในหิน ขนาดสั่งห้ามพวกทาสหรือแรงงานพื้นเมืองในเกาะชวาไม่ให้เด็ดกิน กาแฟทุกเม็ดหมายถึงกำไรเป็นเท่าตัวเมื่อถูกส่งไปถึงเมืองท่าในยุโรป มันถึงมีตำนานการก่อเกิดกาแฟขี้ชะมด หรือ Kopi Luwak ขึ้นมาเพราะคนพื้นเมืองก็คงอยากจะลิ้มชิมรสชาติของเจ้าต้น Kopi นี้เหมือนกันแต่ด้วยการถูกห้ามเด็ดขาดเขาเลยไปเก็บมูลของชะมด หรือบ้างก็อีเห็นลายข้างซึ่งไปกินเมล็ดกาแฟสุกแล้วก็ถ่ายเอาไว้มาล้างแล้วก็คั่วทำเป็นเครื่องดื่มกินกันตามแบบนายฝรั่ง กาแฟขี้ชะมดที่มีราคาแพงระยับที่แท้เกิดมาจากการต่อยอดแอบกินของต้องห้ามราคาแพง ที่ไป ๆ มา ๆ ยิ่งแพงขึ้นไปอีก
|
การปลูกกาแฟในอาณานิคมเกาะชวาโดยชาวดัทช์ กาแฟในยุคนั้นมีราคาสูง ขนาดห้ามคนพื้นเมืองเด็ดกิน การค้าทั้งหมดบริษัทดัทช์ผูกขาดผู้เดียว ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการปลูกกาแฟของรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้าในยุคนั้นเช่นกัน
|
แต่สำหรับประเทศไทยเรา กาแฟนี่เพิ่งมาแพงยุคนี้แหละครับ เพราะไทยเราไม่ได้นิยมกาแฟเป็นเครื่องดื่มสำคัญชนิดขาดไม่ได้เหมือนกับพวกฝรั่งเขา ความนิยมกาแฟเป็นเครื่องดื่มตอนเช้าที่ระบาดไปทั่วหัวระแหงอย่างเต็มที่เกิดขึ้นยุคสงครามโลก แต่ส่วนใหญ่ก็แค่กาแฟชงแบบถุงผสมนมข้นที่คนยุคนี้เรียกว่ากาแฟโบราณนั่นแหละ ชาวจีนเห็นว่าเป็นช่องทางขายได้ก็สั่งเมล็ดกาแฟมาคั่วเองบดเองชงเองขายตามตลาดในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ชุมชนชาวจีนในเอเชียอาคเนย์นี่มีสภากาแฟโต๊ะกลมๆ มีน้ำชาเสิร์ฟแบบเดียวกันหมดจนเป็นเอกลักษณ์
ได้เห็นข้อมูลประวัติกาแฟไทยที่เผยแพร่ตามอินเตอร์เน็ตบางเรื่องที่ยังอธิบายไม่สะเด็ด บางประเด็นก็ชวนให้เขว บางเพจระบุแบบทื่อๆ ว่าไทยเรามีกาแฟมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะอ้างอิงจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่เขียนว่าชาวแขกมัวร์ซึ่งไปรับราชการอยู่กับราชสำนักดื่มกาแฟกัน ที่จริงแล้วจดหมายเหตุดังกล่าวเป็นหลักฐานชั้นต้นยืนยันครับว่า ไทยเรารู้จักกาแฟและมีไว้ดื่มกันในอยุธยา “อย่างช้าที่สุด” ก็ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ซึ่งที่จริงกาแฟน่าจะเข้ามาก่อนสมัยพระนารายณ์นานทีเดียว เผลอ ๆ ก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯด้วยซ้ำไป
ก็เพราะว่ากาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มของชาวอาหรับและเปอร์เชียมาก่อนฝรั่งนานเลย..หลายร้อยปี พวกอาหรับและเปอร์เชียนี่เจริญมาก่อนยุโรปอีก หมดยุคกรีก โรมัน ก็มีอิสลามนี่แหละที่รับไม้สืบอารยธรรมต่อแล้วก็พัฒนาความรู้ให้กับโลกหลายเรื่องรวมถึงการเดินเรือ โปรตุเกส สเปนที่ค้นพบเอเชีย พบอเมริกาก่อนฝรั่งประเทศอื่นเพราะสองชาตินี้ถูกอิสลามยึดไว้นานได้รับความรู้จากพวกอิสลามหลายเรื่องรวมทั้งการเดินเรือด้วย
หลักฐานประวัติศาสตร์บอกว่าพวกอาหรับ/เปอร์เชียนี่เดินเรือไปถึงจีน ยุคราชวงศ์ถังก็มีชุมชนพ่อค้าอาหรับตั้งอยู่เมืองท่าตะวันออกของจีนแล้ว ก็แสดงว่าธรรมเนียมวัฒนธรรมอาหารการกินเสื้อผ้าของโลกอิสลามผ่านเอเชียอาคเนย์มานานแล้วก่อนสุโขทัยด้วยซ้ำ
กาแฟคงจะเข้ามาพร้อมกับพวกอาหรับ และเปอร์เชียที่ราชสำนักอยุธยาเรียกว่าแขกมะหง่ลแหละครับ คือเข้ามายุคต้นๆ ต่อจากนั้นก็มีพวกแขกมัวร์ที่ตามมาทีหลัง ในยุคพระนเรศวรฯ ก็มีแขกอาสาแล้ว ส่วนที่ลาลูแบร์มาเขียนถึงสมัยพระนารายณ์ว่า พวกแขกมัวร์นิยมดื่มกาแฟกันนั้นก็เป็นหลักฐานยืนยันอีกชั้นหนึ่ง
ไปอ่านเจอบางแห่ง “ฟันธง” บอกว่าประเทศไทยเรานิยมดื่มกาแฟตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เพราะมีหลักฐานว่ารัชกาลที่ 3 ท่านทรงปลูกต้นกาแฟด้วย คือตัวผมนี่ขออนุญาตยังไม่เชื่อตามข้อมูลชุดนี้ เพราะว่าการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ทรงให้ปลูกกาแฟในกรุงเทพฯและเมืองจันทบูรนั้นคงไม่ได้เป็นเพราะความนิยมดื่มในกรุงเทพรัตนโกสินทร์หรอก ที่ปลูกก็เพื่อการศึกษาและเพื่อช่องทางการค้าเป็นสำคัญ
ต่างกันนะครับ ความนิยมดื่ม กับการทดลองปลูก !
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯท่านเป็นนักการค้า ตอนยังไม่ครองราชย์เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านก็ได้รับผิดชอบคุมกรมท่า การพระคลัง แปลว่าเป็นทั้งรมว.ต่างประเทศ รมว.คลัง และผูกขาดการค้าพาณิชย์ไปพร้อมกัน ใหญ่มากตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 ในยุคนั้นฝรั่งอังกฤษเริ่มเข้ามาแล้ว ได้อินเดีย ได้ปีนัง มาตั้งสถานีการค้าที่สิงคโปร์ และกำลังจ้องเขม็งดินแดนพม่า รัชกาลที่ 3 ท่านทรงทำการค้ามีเรือสำเภาจึงรู้เท่าทันเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเป็นอย่างดี
ในยุคนั้นตรงกับยุคที่ยุโรปกำลังคลั่งกาแฟกัน ตลาดกาแฟขยายตัวลงมาถึงชนชั้นกลางประชาชนธรรมดาดื่มกินสังสรรค์สนทนา พวกดัทช์ฮอลแลนด์ได้ชวาเป็นอาณานิคมระดมขยายพื้นที่ปลูกและใช้มาตรการเข้มงวดกับคนพื้นเมือง จนเกิดการแอบเอาขี้ชะมดมาล้างกินดังที่ได้เล่ามาแล้ว ราคากาแฟสูงมากล่อตาล่อใจ รัชกาลที่ 3 เมื่อขึ้นครองราชย์ท่านจึงโปรดให้ปลูกกาแฟขึ้นในกรุงเทพฯ และต่อมาก็ขยายไปที่จันทบูร รัชกาลที่ 3 ท่านเป็นพ่อค้า อะไรที่เป็นสินค้าสำคัญท่านก็ควรจะทรงรู้ไว้ ศึกษามัน หรือให้ดีก็ปลูกขายทำเงินเสียเอง
หลักฐานมีอยู่ชัดเจนในประชุมหมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2385 ให้เกณฑ์เลกทำกระโปรงลูกตุ้มมะพร้าวไว้ใส่ต้นกาแฟแล้วโปรดให้ขุนนางข้าราชการเพาะต้นกาแฟถวาย ด้วยเพราะทรงต้องการต้นกล้าจำนวนมาก หลักฐานระบุว่าแปลงปลูกกาแฟสมัยนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของพระมหาราชวัง ปัจจุบันคือบริเวณวัดราชประดิษฐ์
ปลูกก็เรื่องของปลูก.. แต่คงไม่ทรงโปรดเสวยพระสุธารสกาแฟเป็นแน่แท้ ด้วยเพราะเราก็รู้กันดีว่าธรรมเนียมค่านิยมของสังคมไทยยุคก่อนเป็นกระแสแฟชั่น เจ้าว่างาม-ข้าก็งามไปตามเจ้า อะไรที่ในวังเริ่มสนใจนิยมขึ้นมาประเดี๋ยวก็ลามต่อมายังขุนนางข้าราชการนอกวังจนได้ อ่านสี่แผ่นดินจะเห็นได้ชัด แล้วก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชนชั้นสูงของสยามนิยมกาแฟเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าจะชอบคงเป็นเรื่องเฉพาะคนมากกว่า ในสมัยนั้นบุคคลที่นิยมฝรั่งก็มีอยู่เช่น เจ้าฟ้าจุฑามณี ที่ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ หรือก็เช่น หมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ที่ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นี่ก็เท่าทันฝรั่งรู้ธรรมเนียมเป็นอย่างดี พวกบุนนาคเป็นขุนนางใหญ่ดูแลกรมท่า เกี่ยวข้องกับฝรั่งและการค้าก็ปลูกกาแฟไว้เหมือนกัน บุคคลเหล่านี้น่าจะได้ทดลองดื่มมาแล้ว แต่จะโปรดนิยมหรือไม่ ไม่มีหลักฐานปรากฏ การปลูกกาแฟของขุนนางตระกูลบุนนาคก็คงเหมือนกับรัชกาลที่ 3 คือเพื่อรู้เขารู้เราและเพื่อการค้ามากกว่ากินเอง
ชื่อกาแฟสมัยโน้น เขาเรียกกันว่า “ข้าวแฝ่” ในยุคโน้น คือราวรัชกาลที่ 3 – ที่ 4 คนสยามเรียกชื่อฝรั่งผิดเพี้ยนไปตามประสาเคยปาก ยังเรียกชื่อคนเป็นนายหันแตร นายเมฆฟ้าลั่น นายการะฝัด…การที่กาแฟถูกเรียกว่าข้าวแฝ่มีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือสัพพะวัจนะภาษาไทย ของสังฆราชปาเลกัวซ์ สังฆราชท่านนี้อุตสาหะมากขนาดต่อมารวบรวมเป็นพจนานุกรมได้ เข้าใจว่าสยามเราไม่ได้เรียกตาม Coffee แบบฝรั่งหรอก น่าจะเรียกตามชื่อเดิมที่คนอยุธยาเห็นพวกแขกอาหรับ แขกมัวร์ดื่มกิน กะ(ฮ)หวะ -Kahwah ซึ่งเป็นชื่อที่พวกอาหรับเรียกกาแฟกันมาก่อนพวกฝรั่ง นามของข้าวแฝ่เลยเป็นชื่อเรียกขานเครื่องดื่มสีดำของพวกแขกที่อยู่ในโลกทัศน์คนสยามมาก่อนแล้ว
ความนิยมกาแฟตามแบบฝรั่งค่อยมาชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราวในยุคหลัง คือหลังจากสยามได้เปิดสัมพันธ์กับพวกฝรั่งเป็นเรื่องเป็นราว ผู้คนได้รู้จักชาวฝรั่งมากขึ้นกว่า ธรรมเนียม รสนิยม อาหารการกินเครื่องดื่มแบบฝรั่งจึงค่อยเข้ามาถึงระดับผู้คนตามท้องถนน มีหลักฐานว่าร้านกาแฟแห่งแรกที่เปิดขายโดยชาวต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยุคนั้นสยามคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมของต่างประเทศมากแล้ว มีห้างร้านของฝรั่งเปิดขายของทั้งอุปโภค บริโภค รสนิยมของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป
มาถึงยุคนี้ กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันสังคมไทยไปแล้ว และไม่ใช่แค่นั้นร้านกาแฟก็เป็นช่องทางทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยที่แข่งกันเปิดจนน่ากลัว แถมราคาจำหน่ายแต่ละแก้วก็ไม่เบา … ราคาของข้าวแฝ่แพงกว่าข้าวแกงเสียอีก!