มีคนถามผมบ่อยๆ ว่า “ถ้ามีเงินก้อนนึงจะทำธุรกิจอะไรดี” ถามแบบง่ายๆ แต่ตอบยากเพราะผมไม่รู้พื้นเพของคนถาม ไม่รู้ว่าเค้าถนัดอะไร ไม่รู้ว่าเค้าชอบทำอะไรประเภทอยู่กับมันได้เป็นวันๆ ในเมื่อถามมาก็ต้องตอบไป…ตามนี้ครับ
1. ต้องเข้าใจ “ช่องว่างธุรกิจ” ที่แท้จริง
เวลาที่เราจะทำธุรกิจอะไรนอกจากต้องไปในที่ที่คนอื่นยังไม่ไปหรือยังมองไม่เห็นแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ มันมีช่องว่างธุรกิจอยู่หรือเปล่า
ถามว่า “ช่องว่างธุรกิจ” คืออะไร อธิบายแบบง่ายๆ นะครับ ช่องว่างธุรกิจคือ อะไรที่คนในตลาดยังไม่ทำ แต่ยังมีปัญหา ความต้องการหรือดีมานด์อยู่ ดูได้จากเสียงบ่น ถ้ามีคนบ่นมากยิ่งมีความต้องการมาก เมื่อมีดีมานด์ แต่ไม่มีซัพพลายหรือการตอบสนอง นั่นแหละครับคือ ช่องว่างธุรกิจ และคือสิ่งที่คุณควรทำอย่างมาก แต่ก็ต้องดูว่ามันมากพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือไม่ และอยู่ที่เป้าหมายของคุณด้วยว่า ต้องการมูลค่าธุรกิจขนาดไหน
2. เริ่มหา “ช่องว่างธุรกิจ”
เพื่อให้เราหาช่องว่างได้เร็วขึ้น วิธีการหาช่องว่างทางธุรกิจคือ ให้คุณนั่งสบายๆ แล้วเอาไม้บรรทัดมา 2 อันครับ
ฃไม้บรรทัดอันแรก ให้วางตรงๆ เข้าหาตัวเอง เป็นการหาช่องว่างในแนวลึก ดูว่าใน “ธุรกิจที่เราสนใจ” มีอะไรที่คนยังขาด บ่น ต่อว่าหรือมีปัญหาหรือเปล่า นั่นคือ ช่องว่างธุรกิจ ถ้ายังไม่มีช่องว่าง ให้มองย้อนกลับอีกว่าก่อนมาเป็นธุรกิจที่เราสนใจหรือที่เราเรียกมันว่า “ธุรกิจต้นน้ำ” มีอะไรที่มีปัญหาหรือเปล่า เช่น วัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบ ถ้ายังไม่มีอีก ให้มองต่อไปว่าหลังจากธุรกิจที่เราสนใจหรือที่เรีกว่า “ธุรกิจปลายน้ำ” มีอะไรที่มีปัญหาอีกหรือเปล่า เช่น การขนของไปส่งลูกค้า สินค้าสำเร็จรูป ช่องทางการขายถึงลูกค้า ผมเชื่อว่า มันต้องมีปัญหาซักแห่ง!!! ตรงนั้นแหละ “โอกาสของเรา”
“The Messenger” ธุรกิจรองเท้ากันลื่นสำหรับผู้สูงอายุ
เด็กหนุ่มสตูลที่เพิ่งปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหารเข้ามาขุดทองในกรุงเทพฯ โดยยึดอาชีพ Messenger และได้พาคุณแม่มาช่วยดูแลลูก วันหนึ่งคุณแม่ลื่นล้มในห้องน้ำ จึงเป็นที่มาให้เขาทำรองเท้ากันลื่นให้แม่ของเขาใส่ จนมาเป็นธุรกิจรองเท้ากันลื่นสำหรับผู้สูงอายุ “The Messenger” ยอดขายปีละหลายล้านบาท นั่นคือ ช่องว่างธุรกิจที่เกิดจากการมองที่ตัวเองลึกลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ
ไม้บรรทัดอันที่สอง ให้เอาไม้บรรทัดอีกอันวางขนานกับตัวเรา คราวนี้จะดูว่าในธุรกิจที่เราสนใจสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจข้างๆ หรือขนานกับเราได้อีกหรือเปล่า มันเหมือนจะขาดอะไรหรือเปล่า ถ้ามีแล้วมันจะสมบูรณ์ขึ้นมั้ย หรือคนจะเลิกบ่นมั้ย นั่นคือ ช่องว่างธุรกิจเช่นกัน
“UberCOPTER” แอพพลิเคชันเรียกเฮลิคอปเตอร์ (ไม่ใช่แค่แท็กซี่)
UBER ออก UberCOPTER แก้ปัญหารถติด น้ำท่วม เปิดตัวบริการเฮลิคอปเตอร์ในกรุงเทพฯ และประเทศไทย ต่อยอดแอพพลิเคชัน UBER จากบนถนนไปสู่บนท้องฟ้า นี่คือการปิดช่องว่างธุรกิจแนวขนานหรือแนวกว้าง โดยการมองหาช่องว่างความสะดวกที่คนมีเงินเริ่มเบื่อการเสียเวลา เบื่อรถติด เบื่อน้ำท่วม
“Victor” แอพพลิเคชันสำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำ
Victor บริการแบบ Uber แต่ใช้สำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำ เป็นธุรกิจที่มีบริการคล้ายๆ Uber แต่แทนที่จะเป็นการเรียกรถ กลายเป็นบริการหาเครื่องบินเช่าเหมาลำ ซึ่งบางคนคิดว่าตลาดน่าจะเล็ก แต่จริงๆ ไม่เล็กเนื่องจาก เครื่องบินเช่าเหมาลำมีตลาดอยู่แล้ว แต่คนเบื่อ เนื่องจาก การเช่าเหมาลำต้องทำผ่านตัวแทนหรือ Agency ซึ่งไม่มีราคามาตรฐานและไม่สะดวก พอมีแอพพลิเคชันเท่านั้น ถูกใจคนมีเงินทั้งหลาย แค่บอกวันที่จะเดินทาง จุดเริ่มต้นกับจุดหมายปลายทาง และจำนวนคนที่ต้องการไป จากนั้นก็เลือกรุ่นของเครื่องบินที่ต้องการเดินทาง จบ! พร้อมเดินทางได้ทันที ความสะดวกที่ปลายนิ้วสัมผัส
ธุรกิจนี้ปิดช่องว่างธุรกิจ เจ้าของเครื่องบินเช่าเหมาลำก็แฮปปี้ เพราะเครื่องบินเพวกนี้มักถูกจ้างขาเดียว ไม่ค่อยจ้างไปกลับ ดังนั้นจึงจอดรถว่างๆ อยู่ที่สนามบินมากมาย บินกลับเปล่าๆ ก็ไม่คุ้ม บินไปรับที่อื่นใกล้ๆ ก็ไม่มีระบบให้ตัวแทนทราบว่ามีเครื่องบินว่างอยู่ที่ไหนบ้าง Victor จึงอุดช่องว่างหรือปัญหานี้ได้อย่างลงตัว
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การนำสัตว์เลี้ยงขึ้นเครื่อง Victor ก็มีบริการสำหรับลูกๆ หรือน้องหมาของเรา เรียกว่าบริการ Victor Pet ในอนาคตถ้าเชื่อมโยงกับ Uber ได้ เรียกว่า มีคนมารับตั้งแต่ออกจากบ้าน ไปขึ้นเครื่อง ลงจากเครื่องก็มี Uber มารับที่บันได้เครื่อง ไปส่งให้ถึงจุดหมาย…มันใช่เลย นั่นคือ ช่องว่างธุรกิจที่เกิดจากการมองที่ธุรกิจข้างๆ หรือกว้างขึ้น ขนานกับเราแล้วเอามันเชื่อมกัน มองไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ … ธุรกิจใหม่ที่ทำกำไรจะตามมา
3. ปิด “ช่องว่างธุรกิจ” นั้น
มาถึงตอนนี้ ได้เวลาปิดช่องว่างธุรกิจแล้วครับ ตัวอย่างการปิดช่องว่างธุรกิจอีกมากมายใกล้ๆ ตัวครับ
ธุรกิจร้านอาหาร – ปัญหา? ทำไมไม่มีร้านอาหารที่มีอะไรแปลกๆ ไม่น่าเบื่อบ้างเลยนะ
จึงเกิดร้านอาหารที่เข้าไปแล้วมีแมวให้เล่นด้วย ปิดช่องว่างคนรักแมว อยากกินไปด้วยเล่นไปด้วย ชิวชิว
ธุรกิจโรงแรมหรือคอมมูนิตี้มอลล์ – ปัญหา? ทำไมมีแต่โรงแรมที่ห้ามพาสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้นะ ทำไมมีแต่โรงแรมใหญ่ๆ คนพลุกพล่านนะ
จึงเกิดโรงแรมหรือคอมมูนิตี้มอลล์ที่พาสุนัขและสัตว์เลี้ยงเข้าไปนอนได้ ปิดช่องว่างคนรักสัตว์ อยากพาลูก (สัตว์เลี้ยง) ไปทุกที่ ไม่อยากห่างกัน และเกิดโฮมสเตย์ โรงแรมเล็กๆ บูติคโฮเต็ล ปิดช่องว่างคนอยากอยู่เงียบๆ ชิวๆ แปลกๆ หลีกหนีความจำเจ
ธุรกิจออนไลน์ – ปัญหา? อยากได้ของอ่ะ แต่ไม่อยากออกไปซื้อเลย ร้อน ขี้เกียจ
จึงเกิดการซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือออนไลน์ ปิดช่องว่างการเดินทางและได้ความสะดวก รวดเร็ว
ธุรกิจสุขภาพ – ปัญหา? อยากลดความอ้วน ห่วงสุขภาพ แต่ไม่รู้ต้องกินอะไรบ้าง ไม่อยากหาข้อมูล
จึงเกิดบริการอาหารสุขภาพ คำนวณแคลอรี่ต่อวัน พร้อมเตรียมเมนูอาหารให้เลือก ปิดช่องว่างความสะดวก สุขภาพแข็งแรง
ธุรกิจบริการครบวงจร – ปัญหา? อยากไปกินข้าวแบบโรแมนติคในเกาะที่ไม่มีคนอยู่ ทำยังงัยดี
จึงเกิดบริการผู้ช่วยส่วนตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ อยากได้อะไรขอให้บอก ใครทำไม่ได้ ชั้นทำได้ ปิดช่องว่างความต้องการของคนไม่มีขีดจำกัด ยอมจ่ายเพื่อความพิเศษ
ธุรกิจที่พักอาศัย – ปัญหา? ไม่อยากจอดรถในที่จอดรถคอนโดเลย กลัวรถหาย โดนขูด
จึงเกิดคอนโดที่เอารถไปจอดหน้าห้อง ปิดช่องว่างคนรักรถและต้องการความพิเศษเฉพาะตัว
ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดมีอยู่จริง!!! กำลังเติบโต และทำกำไรให้เจ้าของอย่างมาก และนี่คือช่องว่างธุรกิจที่เริ่มจากปัญหาเล็กๆ ช่องว่างเล็กๆ คำบ่นเล็กๆ ของคนใกล้ตัวที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
ช่องว่างธุรกิจยังมีอีกเยอะ ลองดูครับว่า เราบ่นอะไรเยอะๆ คนใกล้ตัวบ่นอะไรเยอะๆ นั่นแหละโอกาสทางธุรกิจ ปัญหารถติด น้ำท่วม ไม่มีเวลา อยากสุขภาพดี ขี้เกียจออกจากบ้าน
ธุรกิจที่จะเติบโตได้คือ ธุรกิจที่แก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้อย่างละเมียดละไม ถ้าคุณอยากเป็น Startup หรือผู้ประกอบการใหม่ที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับแรกคือการตอบว่า “เราจะทำธุรกิจอะไรดี หรือ เป็นการหาช่องว่างธุรกิจนั่นเอง” มองหาปัญหาที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้าคุณทำได้ดีมันก็จะตรงกับคำคมที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หลังจากนั้นค่อยๆ ประเมินไปว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ชอบหรือเปล่านะครับ
ถ้าอ้างอิงคำพูดของ Travis Kalanick ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร่วมและเบอร์ 1 ของ UBER ก้อต้องบอกว่า “เราไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เราเริ่มต้นธุรกิจนี้เพื่อตอบสนองปัญหาที่เพื่อนเราพบเจอเท่านั้น” นั่นคือ ช่องว่างธุรกิจที่ทำกำไรให้คุณ
“บางคนเปลี่ยนปัญหาเป็นความเครียด บางคนเปลี่ยนเสียงบ่นเป็นเงิน” แล้วคุณล่ะ “อยากเปลี่ยนปัญหาเป็นอะไร???”
บางทีปัญหาของการมีธุรกิจ อาจไม่ใช่คุณหาช่องว่างไม่เจอ แต่อยู่ที่คุณเจอช่องว่างแล้วก็ได้แต่บ่นๆ ไปโดยไม่ทำอะไรมัน ผมคิดว่าหลายคนไม่ใช่ไม่รู้ แต่ไม่กล้าลงมือทำมากกว่าครับ…สวัสดี