ในการค้ามีตำนาน ตอนลึกลงไปกว่าเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ : บัณรส บัวคลี่


คนต่างจังหวัดก็แบบนี้แหละ ช้ากว่าเขา…! เพราะเพิ่งได้ไปได้สัมผัสบรรยากาศกรุงเทพฯ ย้อนยุคที่เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ซึ่งได้ดัดแปลงโกดังและท่าเรือขนส่งสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ให้มาเป็นศูนย์การค้าการพักผ่อนหย่อนใจยุคใหม่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 

สำหรับคนชอบประวัติศาสตร์อย่างผม เห็นโกดัง ท่าเรือริมน้ำ และตึกอาคารเก่าของ บริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก ตรงบริเวณนั้นแล้ว แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนมือมาเป็นของมหาเศรษฐีไทยไม่เกี่ยวอะไรกับผู้เป็นเจ้าของในอดีต แต่การตั้งชื่อให้ละม้ายและกำหนดธีมย้อนยุคขึ้นมามันทำให้นึกย้อนกลับไปในอดีตได้เป็นตุเป็นตะ จินตนาการเตลิดเปิดเปิงดีแท้           

 

อีสต์เอเชียติ๊กนั้นเป็นธุรกิจการค้าในรูปบริษัทที่เก่าแก่และมีอายุยืนยาวที่สุดแห่งหนึ่งของสยาม (ดีไม่ดีหากนับอายุของกิจการที่สืบเนื่องมา อาจจะเป็นลำดับหนึ่งด้วยซ้ำ) ยืนยงข้ามยุคสมัย ขนาดจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็เพิ่งจะมาเปลี่ยนมือเปลี่ยนชื่อกันเมื่อไม่นานนี้เอง

 

ตำนานของอีสต์เอเชียติ๊กที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงไม่ใช่แค่ที่ตึกเก่าริมน้ำและบริเวณโกดังที่กลายมาเป็นเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์แค่นี้หรอกครับ

 

เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ แม้จะมากสีสันและยิ่งใหญ่อลังการแต่เมื่อเทียบกับตำนานความยิ่งใหญ่ของอีสต์ เอเชียติ๊ก ที่เป็นบรรพบุรุษแล้ว เอเชียที้คก็แค่ส่วนเสี้ยวยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น!

 

อีสต์เอเชียติ๊กเป็นบริษัทฝรั่งเดนมาร์ค ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2427 โดย ฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์ก ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับการประจำเรือหลวงในรัชกาลที่ 5 มีช่องทางในการค้าไม้สักจากภาคเหนือจึงก่อตั้งบริษัทขึ้นมา แล้วก็ขยายกิจการต่อทั้งโกดังท่าเรือ โรงเลื่อยและต่อจากนั้นก็มีเรือไฟขนส่ง ที่เรียกกันว่า เรือเมล์ แล่นระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ จุดที่ตั้งของบริษัท และเป็นท่าเรือเมล์ที่แล่นไปมา ผ่านอ่าวไทยลงไปถึงสิงคโปร์ ก็คือบริเวณที่เป็นเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั่นล่ะ

 

ตรงนี้น่าสนใจมาก อิสต์เอเชียติ๊กนี่ไม่มีอำนาจรัฐ หรือเจ้าอาณานิคมหนุนหลังเหมือนพวกบอมเบย์เบอร์ม่า แต่ก็สามารถขยายกิจการครอบคลุมไปทั้งเอเชียอาคเนย์ คือทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ล้วนแต่มีเอเยนต์และสถานีการค้าของบริษัทนี้ แล้วยังไม่หยุดแค่เอเชีย เพราะสามารถขยายกิจการขนส่งทางเรือ มีเรือเดินสมุทรเชื่อมไปยังยุโรป-อเมริกาอีกต่างหาก สายเดินเรือข้ามทวีปของอีสต์เอเชียติกก็คงยิ่งใหญ่ในระดับท็อปเท็นของโลกก็แล้วกัน

 

ความยิ่งใหญ่(ระดับโลก)ดังกล่าวมาจากรากฐานการค้าในสยามนี่เองครับ!

 

ผู้บริหารของอีสต์เอเชียติ๊กใกล้ชิดกับราชวงศ์สยามอย่างแนบแน่น แม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ยังคงความสม่ำเสมอในการติดต่อแสดงความสัมพันธ์คงเดิมแม้จะมีรัฐบาลคณะราษฎรมาปกครองแล้วก็ตาม ในตอนนั้นใครก็ไม่กล้าไม่ยุ่งเกี่ยวข้องแวะกับ “เจ้า” กันสักเท่าไร แต่ผู้บริหารของอีสต์เอเชียติ๊กนี่ไม่สนรัฐบาลคณะราษฎรเลย ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จไปยุโรป (แล้วไม่ทรงกลับมาอีกนั้น) ก็ทรงโดยสารเรือกลไฟชื่อว่า เรือวลัย ของอีสต์เอเชียติ๊กไปก่อน แล้วจึงค่อยไปขึ้นเรือใหญ่อีกลำของอีสต์เอเชียติ๊กอีกนั่นแหละ ชื่อเรือ มีโอเนีย ที่สุมาตรา  และหากย้อนไปกลับดูประวัติเรื่องราว จะพบว่าเรือของอี๊สเอเชียติ๊กนี่มีบทบาทในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้งหลายตอน ตอนที่เกิดปฏิวัติ 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงเรือพระที่นั่งลำเล็กออกจากพระตำหนักไกลกังวล ที่หัวหินล่องลงใต้มาแล้วก็เจอเรือของอี๊สเอเชียติ๊กก็ทรงเปลี่ยนลำประทับ ลากจูงเรือที่นั่งลงไปถึงสงขลา

 

สีสันของอีสต์เอเชียติ๊กไม่ได้มีแค่การเมืองระดับบน หรือการค้าใหญ่ๆ ขนาดมหภาคเท่านั้น ระดับท้องถิ่นก็ยังลงไปถึงอีกต่างหาก กิจกรรมของบริษัทดังกล่าวยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจสยามในระดับจุลภาคด้วย

 

เรือเมล์ที่แล่นระหว่างกรุงเทพฯ กับ สิงคโปร์ ไม่ใช่แค่รับส่งสินค้าหรือมีผู้โดยสารวีไอพีแบบที่จะเดินทางเพื่อต่อเรือใหญ่ไปยุโรปเท่านั้น เรือเมล์ของอีสเอเชียติ๊กนี่เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งของชาวบ้านพ่อค้าธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของชีพจรเศรษฐกิจของประเทศสยามส่วนที่อยู่นอกเมืองหลวงกรุงเทพฯ

 

เมื่อพ.ศ.2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จกับเรือของอีสต์เอเชียติ๊กประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยเรือของอีสต์เอเชียติ๊กชื่อว่า เรือมาลินี (ขาไป) และ เรือวลัย (ขากลับ) กรมพระนริศฯ (พระยศในขณะนั้น) เขียนจดหมายบันทึกการเดินทางไปถึง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ต่อมารู้จักกันในนาม สาส์นสมเด็จ ให้รายละเอียดสภาพการขนส่งและการค้าผ่านเรือเมล์ในยุคนั้น จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย เช่น เรือกลไฟลำใหญ่ที่ท่าเรือสาทรนั้นต้องใช้เรือเล็กลากจูงให้กลับลำเสียก่อน จะเดินเครื่องออกปากน้ำ จากนั้นก็แวะรับส่งสินค้าตามท่าเรือรายทาง ทั้งที่ ชุมพร หลังสวน บ้านดอน นครศรีธรรมราช ฯลฯ ขอตัดตอนเนื้อความส่วนหนึ่งมาเพื่อให้เห็นภาพ ดังนี้ :-    

 

วันเสาร์ ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2476

 

เวลา 13.30 น. ขึ้นรถ [จากบ้านคลองเตย] พร้อมด้วยลูกชายเจริญใจ หญิงอี๋ หญิงอาม ตางั่ว หญิงไอ แม่โต ทวี ไปท่าห้างอิสต์เอเชียติ๊ก พระพิชิต เจ้ากรม ปลัดกรม นายภี อ้ายบุ๊น อ้ายประเสริฐ ไปคอยส่ง 

เวลา 14.00 น. กำหนดเวลาเรือ[มาลินี]ออกแต่ยังบรรทุกของไม่แล้ว[เสร็จ] 

เวลา 14.30  น. จึง[ขนของลงเรือมาลินีออก] เสร็จ เรือไฟเล็ก ลากให้เรือมาลินีกลับลำ ล่องไปตามน้ำถึงท่าปลายถนนหลวงสุนทร[โกษา] พวกบ่าวๆที่คลองเตยลงเรืออ้ายวันที่ซื้อให้มันออกมาลอยลำส่งถึงกลางน้ำ  

 

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476
 

เวลา 13.30  น. ถึงหมู่บ้านชาวประมง ที่ สับพลี ใต้บางเบิด เหนือชุมพร ขนปลา 10  หีบ เอาไปขายสิงคโปร์ 

เวลา 17.30  น. ถึงชุมพร เรือจอดรับปลาเค็ม 300 หีบ ส่งออกไปขายสิงคโปร์ 
                เวลา 22.30  น. บรรทุกเสร็จ เรือออกเดินต่อไป  

 

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 (วันวิสาขบูชา) 

เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึงหลังสวน หยุดรับของขึ้นเรืออีก

เวลา 17.45 น. ถึงอ่าวบ้านดอน หยุดจอดทอดสมอคอยเรือสินค้า เห็นเรือขนหมูใส่กระชุมาลำหนึ่ง มีเรือไฟจูงมาลำหนึ่งมีคนโดยสารมาด้วย บรรทุกแล้วเรือยังไม่ออกไป กัปตันบอกว่าเรือออก 01.00 น. เพราะ ว่ามาเร็วไป ถ้าไปเดี๋ยวนี้จะถึงสงขลา 02.00 น. [ของวันที่ 10 พฤษภาคม] ผิดกำหนด ผู้คอยจะหัวหกก้นขวิด 

 

วันอังคารที่ 9  พฤษภาคม พ.ศ. 2476

เวลา 01.30  น.เรือออกเดินต่อไป[จากอ่าวบ้านดอน] 

เวลา 06.30  น. ถึงสิชล เรือจอดทอดสมอรับบรรทุกปลาเค็ม 

เวลา 11.00 น.ถึงปากน้ำนครศรีธรรมราช หยุดจอดทอดสมอ รับข้าวสาร  3,000  กระสอบ เวลากินข้าวคุยกับกัปตัน ได้ความว่า เรือเข้าออกเที่ยวหนึ่้งได้เงิน 15,000 บาท ค่าโสหุ้ยเที่ยวหนึ่ง 10,000 บาท ก็แปลว่ามีกำไร 5,000 บาท งามพอใช้ แต่คงจะต้องไปเสียเปล่ามากเวลาเรือเข้าอู่ 

เวลา 21.00 น.เรือ[มาลินี] ออกเดินต่อไป[จากอ่าวนคร] เวลาเดินทาง 11 ชั่วโมง ถึงสงขลา เวลา 07.00  น. วันที่ 10 พฤษภาคม

 

เรือเมล์เที่ยวหนึ่งทำกำไรให้กับอีสต์เอเชียติ๊กประมาณ 5,000 บาท ในยุคนั้นเงินเดือนข้าราชการไม่ถึงร้อย ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯถึงสงขลา 5 วัน ระหว่างทางมีการขนส่งสินค้าขึ้น – ลง บันทึกอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตัดตอนมาให้ดูระบุว่า สินค้าที่ชาวต่างจังหวัดริมทะเลปักษ์ใต้นิยมคือซีเมนต์ แถมเป็นซีเมนต์นำเข้าจากยุโรปด้วย ขณะที่สินค้าท้องถิ่นที่ขนไปยังสิงคโปร์คือปลาเค็ม ข้าวสาร และหมู อาหารการกินล้วนๆ ส่วนขากลับเรือเมล์ดังกล่าวก็บรรทุกสินค้าเพียบแปล้มาขึ้นโกดังที่ท่าเรือติดกับโรงแรมโอเรียลเต็ลตรงนั้น ผู้คนที่เดินทางจากต่างประเทศที่โดยสารมาก็ขึ้นที่ท่าเรือตรงนั้นเช่นกัน จะไว้ไปบริเวณดังกล่าวคือแลนด์มาร์คหนึ่งของบางกอกก็ว่าได้

มองเห็นการฟื้นอดีตที่รุ่งเรืองของบางกอกให้เป็นสีสันสมัยใหม่อย่างน่าตื่นตาที่ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ แล้ว ไหงอดไม่ได้ที่ต้องชำเลืองมองไปยังท่าน้ำ หลับตาเห็นภาพผู้คนโบกมือล่ำลาส่งคนเดินทาง เห็นกุลีขนสินค้าขึ้นลงในท่ามกลางบรรยากาศบางกอกเมื่อ 100 ปีก่อน

 

อดคิดกับตัวเองไม่ได้…นี่ถ้าหากมีเรือกลไฟจำลอง ที่ใช้เป็นเรือเมล์วิ่งรับส่งระหว่างบางกอก-สิงคโปร์ แบบเดียวกับครั้งที่รัชกาลที่ 7 เคยประทับและใช้เดินทางจากสยามเป็นครั้งสุดท้าย หรือเป็นเรือที่ผู้คนเมื่อ70-80 ปีก่อนใช้ขนส่งสินค้าระหว่างเมืองในอ่าวไทย หรือเป็นพาหนะสำคัญของผู้คนที่เดินทางจากสงขลา นครศรีธรรมราช บ้านดอนมายังบางกอกว่ามีขนาด รูปร่าง หน้าตาอย่างไร มาจอดอยู่ที่ท่าเรือดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตตั้งอยู่ที่นั่น… มันคงเป็นการเติมเต็มจินตนาการที่น่าบรรเจิดโดยแท้