ในการค้ามีตำนาน ตอนเกลือเถื่อน : บัณรส บัวคลี่


 

เกลือเป็นสินค้าสำคัญของแทบทุกอารยธรรม เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมากับสังคมมนุษย์ยาวนาน มีผู้เขียนเรื่องราวของเกลือกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่น่าสนใจมีให้อ่านมากมาย น่าสนใจว่าหลายๆ สังคมถือว่าเกลือเป็นของหายาก ราคาแพง

 

อย่างเช่นในประเทศจีนโบราณ เกลือเป็นอะไรที่หายากและราคาแพงแถมอยู่ในความควบคุมของราชสำนัก ดังนั้นมันจึงเกิดมีธุรกิจใต้ดินของบรรดาองค์กรนอกกฎหมายค้าเกลือเถื่อนร่ำรวยกัน นิยายกำลังภายในหลายเรื่องมีฉากว่าด้วยค่ายพรรคยุทธจักรที่ค้าเกลือเถื่อน เพราะมันเป็นกิจกรรมที่ทำเงินมหาศาลแต่จำเป็นต้องมีอำนาจบารมีมีไพร่พลและกำปั้นอยู่พอสมควรที่จะประกอบกิจการนี้ได้ ที่มาของเกลือเถื่อนในประวัติศาสตร์จีนเกิดจากราชสำนักผูกขาดการค้าเกลือไว้ทั้งหมด ผู้ที่จะทำการค้า มีฉางเกลือและเครือข่ายจำหน่ายของตนเองแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ และด้วยเหตุที่จีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล การขนส่งยากลำบาก และไม่ใช่ว่าที่ไหนก็ผลิตเกลือได้ดังนั้นความต้องการจึงมีมากเป็นธรรมดา

 

แต่สยามเมืองไทยของเรานั้นไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนเมืองจีน อีกทั้งมีพื้นที่ติดทะเลมากมาย แต่ไหนแต่ไรไม่เคยปรากฏว่าสยามเมืองไทยเราขาดแคลนเกลือ ถึงขนาดให้เกิดมีขบวนการลักลอบค้าเพื่อให้ได้กำไรแบบที่เกิดในสังคมอื่น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปต่อให้ขาดเกลือ คนไทยก็ยังมีสารปรุงรสเค็มทดแทนทั้งกะปิ น้ำปลาที่มาจากทะเลเหมือนกัน เราจึงไม่คุ้นเคยกับคำว่าเกลือเถื่อน

 

แม้ว่าเราไม่ขาดแคลนเกลือ แต่เกลือนั้นก็เป็นของสำคัญพอๆ  กับข้าว เมืองไทยเราไม่เคยขาดทั้งข้าวทั้งเกลือและเราก็รู้ว่าสองสิ่งนี้มันสำคัญ อย่างน้อยก็เวลาทำศึกสงครามต้องมีเจ้าสองสิ่งนี้ไว้เป็นเสบียง รัฐเองก็ต้องมีโกดังเก็บข้าวเปลือกและเกลือไว้ เรียกว่า ฉางข้าว และฉางเกลือ ตอนที่อังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงขอให้สยามเปิดประเทศค้าขายเสรี ขอไม่ให้ราชสำนักผูกขาดสินค้าเหมือนแต่ก่อน สยามก็รับปากตามนั้นแต่ก็เงื่อนไขเป็นข้อแม้เอาไว้ก็คือ ข้าวเปลือก กับ เกลือ (และปลา) ให้ส่งออกได้แต่หากว่าเกิดมีศึกสงครามหรือสาเหตุขาดแคลนใดๆ ก็ขอสงวนสิทธิ์ไม่เปิดให้ค้าขายส่งออก นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งๆ นี้

 

แม้ว่าเราไม่ขาดแคลน ซ้ำเหลือส่งออกก็ตาม แต่ที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์ของเราก็เคยมี “เกลือเถื่อน” กับเขาเหมือนกัน เกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างก่อนและหลังสงครามโลกนิดหน่อย ยุคนั้นเป็นยุคที่เกลือหายาก ราคาจึงแพงมาก สงครามในยุโรปทำให้ของอุปโภคบริโภคราคาถีบขึ้น รัฐบาลต้องการผูกขาด จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเกลือ 2481 ขึ้นมา ให้รัฐโดยกรมสรรพสามิตเป็นผู้ผูกขาดการค้าเกลือแต่ผู้เดียว ใครจะมาค้าขายโดยไม่ผ่านการอนุญาตของรัฐไม่ได้ นัยว่ารัฐจะได้กำไรจากการส่งออกเกลือไปต่างประเทศเป็นกอบเป็นกำด้วย ต่อมาเกิดสงครามเอเชียอาคเนย์ และต่อด้วยญี่ปุ่นบุกไทยเราเข้าร่วมสงครามโลก กลายเป็นว่าข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคยิ่งหายากขึ้นไปอีก เกลือยิ่งกลายเป็นของสำคัญต้องห้ามที่รัฐเข้มงวดผูกขาดมากขึ้นไปอีก

 

ถึงแม้ว่าคนไทยเรายังพอมีกะปิ น้ำปลาพอจะทดแทนเกลือได้บ้าง แต่ก็ต้องเป็นพื้นที่ไม่ห่างจากทะเลมากนักทำให้จังหวัดตอนในอย่างภาคเหนืออีสานเดือดร้อนกันยกใหญ่เพราะเกลือซึ่งเป็นของจำเป็นหายาก ต่อให้หมักปลาร้าทดแทนเองได้แต่ก็ต้องอาศัยเกลือในการผลิตอยู่ดี สภาพความเดือดร้อนของประชาชนในยุคนั้นปรากฏผ่านกะทู้ถามของส.ส.จังหวัดลำปาง ชื่อนายประยูร ขันธรักษ์ ถามรัฐมนตรีกระทรวงการคลังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา 26 ธันวาคม 2487 ความว่า..

 

– ข้าพเจ้าขอตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังต่อไปนี้

ด้วยเกลือเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องกิน ตั้งแต่รัฐบาลเก่าเข้าจัดการเรื่องเกลือมาแล้ว ราษฎรเดือดร้อนต้องซื้อเกลือแพงเหลือทน เวลานี้ที่ภาคเหนือที่ใกล้ทางรถไฟต้องซื้อเกลือกินกันถังละ 4-5 บาท แต่ชาวนาเกลือขายได้ถังละ 10 กว่าสตางค์เท่านั้นและทราบว่าชาวนาเกลือได้ราคาเกลือเกือบท่วมค่าขนส่งอยู่แล้ว

จึงขอทราบว่ารัฐบาลใหม่นี้จะเลิกการตั้งบริษัทเกลือที่บังคับซื้อเกลือจากชาวนาเกลือ และปล่อยให้ราษฎรซื้อขายเกลือกันได้หรือไม่

 

 -คำตอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในครั้งนั้น ตอบกะทู้ว่า

กระทรวงการคลังขอตอบว่า บริษัทเกลือหรือบริษัทใดๆ จะซื้อเกลือจากชาวนาเกลือไม่ได้ การซื้อเกลือจากชาวนาเกลือโดยตรงนั้น ตามพระราชบัญญัติเกลือพ.ศ.2481 เป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมสรรพสามิตโดยเฉพาะ เมื่อกรมสรรพสามิตซื้อเกลือมาแล้วก็ขายให้เอกชนรับไปใช้หรือจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง การจะปล่อยให้ราษฎรซื้อขายเกลือกันเองซึ่งเป็นความประสงค์ของผู้ตั้งกะทู้ถามนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ต้องด้วยนัยแห่งพระราชบัญญัติเกลือดังกล่าว

ส่วนที่ว่าราคาเกลือที่จังหวัดภาคเหนือมีราคาแพงนั้นเป็นเพราะค่าขนส่งสูงและการขนส่งทางรถไฟก็มีปริมาณจำกัด การขายเกลือทางจังหวัดภาคเหนือมิได้ตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้รับเหมาจำหน่าย ใครจะซื้อเกลือไปจำหน่ายก็ได้ทั้งสิ้น และจะขอซื้อเกลือได้ที่ฉางหลวง จังหวัดธนบุรีหรือที่ฉางหลวงจังหวัดที่กำเนิดเกลือทุกแห่ง

……

 

ก็เป็นอันชัดเจนอยู่ในกะทู้ถามตอบนี่เลยครับว่าเกลือขาดแคลนและแพงมากเพราะระบบผูกขาดของรัฐ ชาวนาเกลือผลิตมาได้ราคาต่ำแต่คนกลางคือกรมสรรพสามิตขายให้บริษัทเกลือไทยผูกขาดจำหน่ายขายต่อในราคาแพงมาก แต่ก็นั่นล่ะ ภาวการณ์ครั้งนั้นเกิดในระหว่างสงครามโลกที่ของทุกอย่างย่อมแพงขึ้น ขนาดพื้นที่ภาคใต้ติดทะเลเองก็ราคาแพงเมื่อปี 2488 ราคาเกลือตกเกวียนละ 1,000 บาท ด้วยเหตุที่ว่าฉางเกลือของรัฐทั้งหมดไม่ได้มีอยู่ในภาคใต้ ต้องขนส่งลงมาจากภาคกลางทั้งสิ้น มันจึงเกิดมีการลักลอบขายสินค้าอุปโภคบริโภคกัน อย่างทางภาคเหนือชาวบ้านปลูกข้าวได้ รัฐบาลบังคับให้ขายให้รัฐเท่านั้น แต่ก็เกิดมีชาวบ้านแอบส่งออกข้าวผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านออกไปเพราะได้ราคากว่า การแอบขายเกลือนอกฉางหลวงของรัฐบาลก็เกิดมีเช่นกัน คำว่าเกลือเถื่อนที่แท้คือเกลือที่ชาวบ้านลักลอบซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ผ่านผู้ผูกขาดคือรัฐบาล ไม่ได้มีขบวนการลักลอบใหญ่โตเหมือนประวัติศาสตร์ของสังคมอื่น มีคนแอบเข้าไปตักเกลือที่กองตากอยู่ที่นาเกลือสักแห่ง เกลือจำนวนนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นเกลือเถื่อนแล้ว เพราะเกลือทุกเม็ดต้องซื้อผ่านกรมสรรพสามิตเท่านั้น

 

ภาวะขาดแคลน และการลักลอบขายข้าว ขายเกลือของคนไทยเริ่มบรรเทาเบาบางลงในหลังจากนั้น โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประกาศใช้พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติเกลือ 2481 เก็บแค่ภาษีจากนาเกลือแหล่งกำเนิดต้นทางเหมือนสมัยโบราณ แล้วก็ให้ประชาชนค้าขายกันเองโดยอิสระ ภาวะขาดแคลนและราคาแพงระยับจึงค่อยบรรเทาลงมา

 

ยิ่งในยุคหลังราวๆ 3 ทศวรรษมานี้รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนผลิตเกลืออุตสาหกรรมจากแหล่งแร่เกลือ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ผลผลิตอย่างหนึ่งคือเกลือสินเธาว์ผสมไอโอดีน หลังๆ มานี้เกลือชนิดนี้ตีตลาดเกลือสมุทรจากนาเกลือชนิดทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนเกลือ ในทางกลับกันชาวนาเกลือต่างหากที่ขาดแคลนเงิน เพราะขายไม่ออก.