ในการค้ามีตำนาน ตอนกัมประโด : บัณรส บัวคลี่


คำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าคำนี้หมายถึง นายหน้า/ตัวแทน ที่เป็นคนท้องถิ่น ประกอบกิจการแทนธุรกิจองค์กรใหญ่ที่ไม่ใช่กิจการของท้องถิ่น แล้วศัพท์ๆ นี้ก็เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยค่อนข้างดี พอเอ่ยขึ้นก็เข้าใจได้ไม่ต้องมีการแปลให้เป็นไทยอีกครั้ง

 

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่โดยเฉพาะตระกูลธุรกิจใหญ่ๆ ไม่น้อยที่เคยเกี่ยวข้องกับกัมประโด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของกิจการธนาคาร ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ชิน โสภณพนิช ร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ จากนั้นเขาก็มาเป็นกัมประโดของธนาคาร, สหัท มหาคุณ มหาเศรษฐีอีกคนหนึ่งก่อตั้งสหธนาคารดึงหุ้นส่วนจากหลายๆ แหล่งโดยเฉพาะจากทุนใหญ่ฮ่องกง แล้วก็มาทำหน้าที่เป็นกัมประโดใหญ่ของธนาคารที่ตัวเองมีหุ้น

 

ในยุคเดียวกันนั้นเมื่อธนาคารพาณิชย์ขยายกิจการออกไปต่างจังหวัด บรรดาคหบดี พ่อค้าที่มีเครือข่ายในพื้นที่ก็รับบท กัมประโด ของธนาคารนั้นๆ ในพื้นที่อีกทอด อย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อรู้จักกันดีเช่น ไกรสีห์ นิมมานเหมินท์ เป็นกัมประโดให้ธนาคารนคหลวงไทยต่อมาย้ายมาเป็นให้กับธนาคารกรุงเทพพณิชย์การ หรือกระทั่ง เลิศ ชินวัตร ที่รับเป็นกัมประโดให้กับธนาคารนครหลวงไทย ฯลฯ กัมประโดของธนาคารไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นนายหน้าหาลูกค้ามาฝาก และปล่อยกู้เพื่อกินส่วนต่างเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังต้องมีความน่าเชื่อถือ มีทุนค้ำประกันมากเพียงพอต่อการค้ำประกันความเสี่ยงในการทำธุรกรรมด้วย ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยใช้ระบบตัวแทนกัมประโดมายาวนานจนหลังพ.ศ. 2500 ค่อยปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบผู้จัดการและสาขาในภายหลัง ทำให้คำๆ นี้ค่อยๆ ลบเลือนไป

 

ผู้ประกอบการกัมประโดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเราไม่ใช่มีแค่กัมประโดของธนาคารเท่านั้น ย้อนไปถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่มีขนาดและจำนวนกิจกรรมลำดับต้นก็คือกิจการของพวกฝรั่งทำไม้ ค้าขายสินค้าส่งออกนำเข้า และกิจการขนส่งโดยสาร อย่างเช่น บริษัทอีสต์เอเชียติก ที่มีทั้งสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือ กิจการเหมืองแร่และป่าไม้ในภาคใต้ โรงสี นำเข้าส่งออกและกิจการเดินเรือกลไฟโดยสาร เขาก็ใช้ระบบนายหน้าตัวแทนแต่งตั้งกัมประโดในพื้นที่จังหวัดสำคัญที่เขามีธุรกิจอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นธุรกิจย่อยในแต่ละสาขา เช่นการค้าการเดินเรือกลไฟตามเส้นทางต่างๆ ก็มีกัมประโดคนในท้องถิ่นเป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าของท้องถิ่นและกระจายสินค้าออกไป แล้วคนผู้นั้นมักจะกว้างขวางติดต่อประสานงานคล่องแคล่วเป็นพิเศษ ครั้งที่กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เสด็จภาคใต้โดยอาศัยเรือกลไฟของบริษัทอีสต์เอเชียติก ก็มีคนท้องถิ่นที่เป็นกัมประโดของบริษัทดังกล่าวคอยต้อนรับ จัดการเรื่องราวต่างๆ ให้

 

หลายท่านอาจคิดว่า กัมประโด เป็นคำที่คนไทยเรียกทับศัพท์ภาษาต่างประเทศจนติดปากและใช้กันเฉพาะแต่ในแวดวงไทยเราแต่ที่จริงแล้วคำๆ นี้ยิ่งใหญ่ มีผู้ใช้ศัพท์นี้กินพื้นที่กว้างขวางไปทั้งเอเชียอาคเนย์จรดเมืองจีนสุดเอเชียตะวันออก ทั้งมีความเป็นมาลึกซึ้งกว่าที่หลายคนคิดไว้มากนัก แค่คำๆ นี้คำเดียวอาจจะฉายภาพของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียยุคใหม่นับจากสมัยอาณานิคมเป็นต้นมายังได้ด้วยซ้ำไป

 

กัมประโด Comprador เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่าผู้ซื้อ โดยนัยคือผู้จัดหา (สินค้า) โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาถึงเอเชีย แล้วก็นำความรู้ ศัพท์แสง วิทยาการใหม่ๆ มาสู่ดินแดนละแวกนี้ โปรตุเกสเรียกชาวจีนที่ทำงานให้กิจการของเขาในมาเก๊าว่ากัมประโด แล้วเมืองท่าแต่ละเมืองที่เขาค้าขายด้วยก็มีตัวแทนหรือกัมประโดอยู่ ศัพท์ๆ นี้เป็นที่รู้จักมาแต่ครั้งกระโน้น และก็ไม่ได้มีคำๆ นี้คำเดียว อย่างคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยเราใช้กัน ก็ได้มาจากการเรียกขาน “เงินเรียล” ของโปรตุเกส ในระหว่างการค้าขายหูคนไทยเราได้ยินเขาเรียก เหรียนๆ ก็คงเข้าใจว่า เงินตราโลหะทรงกลมที่ปั๊มนูนไว้แลกเปลี่ยนสินค้าเรียกว่า “เหรียน” และกลายเป็น “เหรียญ” ที่หมายถึงโลหะทรงกลมเงินกษาปณ์ที่ใช้อยู่จนทุกวันนี้

 

ระบบกัมประโดเกิดขึ้นเพราะการค้าทางเรือ และเริ่มขยายตัวมากขึ้นในยุคอาณานิคม โดยเฉพาะหลังจากอังกฤษยึดฮ่องกงเปิดเป็นเมืองท่าเสรี เครือข่ายการค้ามหาศาลของเอเชียได้เริ่มขึ้นที่นั่น ทุนต่างชาติที่มาค้าขายต้องอาศัยกัมประโด หรือ นายหน้า/ตัวแทน แทบทั้งสิ้น ธุรกิจการค้าใหญ่ของฝรั่งกระทำผ่านเครือข่ายการค้าของชาวจีนที่มีโยงใยไปทุกหัวระแหง ประสิทธิภาพของการติดต่อค้าขายเองสู้ระบบตัวแทนท้องถิ่นไม่ได้ มันจึงเกิดมีกัมประโดระดับต่างๆ เกิดขึ้นมาในยุคนั้น และทวีความเข้มข้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองหล่อหลอมเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าโลก ผ่านศูนย์กลางเมืองฮ่องกง จนกลายเป็นเสาหลักการค้าโลกเสาหนึ่งในศตวรรษที่ 20

 

กัมประโดท้องถิ่น ตัวแทนการค้าให้กับทุนตะวันตกที่ได้รับการยกให้เป็นกัมประโดที่รวยที่สุดของฮ่องกง ชื่อว่า Robert Hotung (1862-1956) มีบทบาททางธุรกิจในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นท่านเซอร์ เพราะเป็นนักธุรกิจเรี่ยวแรงสำคัญในการบุกเบิกฮ่องกงให้กับอังกฤษ ขนาดว่าเป็นคนท้องถิ่นคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้มีบ้านพักในเขต Victoria Peak ซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยและตากอากาศสงวนไว้สำหรับผู้ปกครองเท่านั้น นั่นเพราะกัมประโดในยุคแรกนั้นเป็นตัวกลางที่จำเป็นจริงๆ ระหว่างทุนยุคใหม่จากตะวันตก กับ ตลาดการค้าท้องถิ่นที่มีขนบภาษารูปแบบตามธรรมเนียมท้องถิ่นและเครือข่ายการค้าของชาวจีน จึงสามารถสะสมทุนและสร้างธุรกิจใหม่ได้ง่าย

 

ธนาคารของสยามในยุคแรกๆ สมัยรัชกาลที่ 5-6 ร่วมสมัยกับ Robert Hotung เป็นกิจการสาขาของต่างชาติทั้งสิ้น ยุคนั้นยังไม่มีแบงก์สยามกัมมาจลของไทยเราเลย มีแต่ธนาคารของเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาในภูมิภาคที่เป็นกลไกสร้างระบบการค้าใหม่ของโลกยุคอาณานิคม เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของตะวันตกเป็นสำคัญ ที่เข้ามาประกอบกิจการในสยามก็เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ลอนดอน และจีน ธนาคารชาร์เตอร์เมอร์แคนไทล์แห่งอินเดียของอังกฤษ และธนาคารอินโดจีน ของฝรั่งเศส  ซึ่งกิจการเหล่านี้ได้แต่งตั้งตัวแทนนายหน้าในท้องถิ่นเป็นกัมประโด ดำเนินการแทน ตัวแทนเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นพ่อค้าชาวจีนที่มีเครือข่ายการค้าอยู่แล้ว

 

การที่ธนาคารฝรั่งมาตั้งในประเทศ ก็เพราะเวลานั้นโลกการค้าของเอเชียไปไกลแล้ว เช่น พ่อค้าชาวของไทย ที่มีการส่งออกข้าวมากมายในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ส่งออกผ่านเครือข่ายการค้าชาวจีนไปยังสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่สุดแล้วสินค้าส่งออกเหล่านั้นล้วนผ่านมือกัมประโดใหญ่ เชื่อมต่อกับ บริษัทนำเข้าส่งออกตะวันตกอีกคำรบ

 

กัมประโด หรือตัวแทนในท้องถิ่นจึงมีทั้งท้องถิ่นเล็กไปจนถึงท้องถิ่นใหญ่หรือตัวแทนระดับประเทศ นี่เป็นกลไกสำคัญของการสถาปนาระบบทุนนิยมแบบใหม่ที่มากับเจ้าอาณานิคมในศตวรรษที่ 20 หลอมรวมระบบการค้าแบบใหม่เข้ากับเครือข่ายการค้าของชาวจีนแบบเดิม ในระดับพื้นที่ย่อยๆ อย่างพื้นที่ต่างจังหวัดในครั้งกระโน้น กัมประโดก็คือนายหน้าที่นำระบบธุรกิจการค้าและบริการแบบใหม่ลงสู่พื้นที่ และก็เป็นคนกลางที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์รูปแบบใหม่ๆ สะสมทุนและความมั่งคั่งให้กับตนเอง

 

ตำนานเจ้าสัวเมืองไทยส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับกัมประโดแทบทั้งนั้น.