มูลค่าธุรกิจ คิดมาจากไหน: เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์


ด้วยประสบการณ์ของการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินธุรกิจ รับผิดชอบประเมินมูลค่ากิจการ มูลค่าธุรกิจ และมูลค่าหุ้น ให้กับธุรกิจมาหลากหลายประเภท จุดประสงค์คือประเมินหามูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการซื้อขายกิจการกันมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องการให้ประเมินกิจการเพื่อหานักลงทุนมาเพิ่มทุน เพื่อขายหุ้นบางส่วนสำหรับผู้ถือหุ้นบางคนที่ต้องการถอนหุ้น หรือเพื่อหามูลค่าของหุ้นเพื่อปิดกิจการ

 

ถึงแม้จะไม่มีการซื้อขายกิจการ การประเมินมูลค่าธุรกิจ จะใช้วัดผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกิจการ เช่นเปรียบเทียบมูลค่าปีต่อปี เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารงานให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างไรต่อไป ทั้งนี้พื้นฐานในการประเมินมูลค่าของธุรกิจ จะคำนึงถึงความคงอยู่ของธุรกิจและการดำเนินต่อไป (Going-Concern) ยกเว้นกรณีตีมูลค่าเพื่อปิดกิจการ (Liquidation)

 

การพิจารณามูลค่าธุรกิจ จะต้องเข้าใจสถานะของธุรกิจว่าอยู่ในช่วงไหน ได้แก่ ช่วงเริ่มต้นกิจการ (Start-Up) ช่วงการเติบโต (Growth) ช่วงอ่ิมตัว (Mature) และช่วงถดถอย (Decline) เพราะแต่ละช่วงของธุรกิจจะมีปัจจัย และข้อมูลในการวิเคราะห์แตกต่างกัน ความเสี่ยงไม่เท่ากัน
วิธีการประเมินมูลค่าของธุรกิจ ได้แก่

1)  วิธีทางบัญชี Accounting Approach คือประเมินตามมูลค่าทางบัญชี สร้างมาด้วยทุนค่าใช้จ่ายเท่าไร ก็นำมาประเมินตามสภาพแบบนั้น

2)  วิธีทางรายได้ Income Approach หรือ Discounted Cash Flow คือประเมินว่าธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้ หรือกระแสเงินสดสุทธิในอนาคตอย่างไร แล้วมาประเมินหามูลค่าปัจจุบัน

3)  วิธีเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาด Market Approach คือเปรียบเทียบมูลค่ากิจการกับธุรกิจที่เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน ทั้งนี้มูลค่าตลาดจะหาได้จากธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันง่าย และมีข้อมูลเปิดเผยให้วิเคราะห์ เช่น P/E Multiplier

 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจในช่วงเริ่มต้น (Start-Up) ตลาดยังไม่รู้จักมากนัก และหากเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่เหมือนใครด้วยแล้ว การหาข้อมูลอ้างอิงมาเปรียบเทียบยิ่งทำได้ยากขึ้น ต้องอาศัยสมมติฐานข้างเคียง หรือต้องวิจัยสำรวจโอกาสทางธุรกิจว่า กิจการนี้จะสามารถสร้างผลกำไรในอนาคตได้หรือไม่ และจะต้องทำอย่างไรให้แผนธุรกิจน่าเชื่อถือว่าทำได้จริง ดังนั้นวิธีการประเมินมูลค่าของธุรกิจ จะใช้วิธีทางรายได้โดยรวบรวมสมมติฐานต่างๆ มาคิดว่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดในอนาคตอย่างไร โอกาสในการครองตลาด ความสามารถในการขยายหรือเพิ่มรายได้อีก (Scalability) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้นักลงทุนเห็นภาพอนาคตให้ชัดว่าเราจะเติบโตเป็นธุรกิจอย่างไร ด้วยวิธีอะไร มูลค่าของวันนี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาเท่าไร จากการลงทุนในวันนี้

 

ช่วงการเติบโต (Growth) ธุรกิจมีรายได้โตอย่างก้าวกระโดด ช่วงนี้เจ้าของกิจการมีความสุขกับยอดขาย และกำไรที่เพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีคู่แข่งขันน้อย น่าจะเป็นช่วงที่ประเมินมูลค่าของธุรกิจได้สูงมาก อย่างไรก็ดี เจ้าของธุรกิจไม่ค่อยคิดจะขายในช่วงเวลานี้หรอก หากประเมินมูลค่าของหุ้นจะเพื่อหานักลงทุนร่วมทุน ผมเชื่อว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีด้วย เงินทุนจะนำมาเพื่อขยายกิจการ ขยายตลาดมากขึ้น ยิ่งได้นักลงทุนที่มีเครือข่ายหรือพันธมิตรธุรกิจที่ตรงกับเราด้วยแล้วจะทำให้เติบโตมากขึ้น และนักลงทุนเหล่านั้นจะมองเห็นมูลค่าของธุรกิจว่าจะสามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมของเขาอย่างไร ดังนั้นวิธีการประเมินมูลค่าของธุรกิจ จะใช้วิธีทางรายได้ และวิธีเปรียบเทียบกับตลาด

 

ช่วงอิ่มตัว (Mature) ช่วงที่ธุรกิจเริ่มโตในอัตราคงที่ มีคู่่แข่งขันจำนวนมากเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด รายได้และกำไรไม่สามารถเติบโตได้มากเหมือนเดิม  มีธุรกิจใกล้เคียงกันเยอะ ซึ่่งในแง่ดีคือมีข้อมูลในการวิเคราะห์จำนวนมาก  กลยุทธ์ในการปรับตัวก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยคือปัจจัยในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีแผนธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมว่าจะสามารถรักษาตลาดเดิม และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มใหม่อย่างไร เจ้าของธุรกิจจะประเมินมูลค่าธุรกิจช่วงนี้ เพื่อหาพันธมิตรธุรกิจในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ดังนั้นวิธีการประเมินจะใช้ทั้ง 3 วิธีมาถัวเฉลี่ยกันตามน้ำหนักความสำคัญ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพราะนักลงทุนจะคิดว่าธุรกิจแบบนี้จะ สร้างเอง (Build) หรือ ซื้อ (Buy) อย่างไหนจะเหมาะสมกว่ากัน เนื่องจากมีตัวเลือกและมีธุรกิจต้นแบบแล้ว

 

ช่วงถดถอย (Decline) ธุรกิจเข้าสู่ยุคมืด สินค้าและบริการไม่เป็นที่ต้องการมากๆ เหมือนก่อน หรือไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ต่างๆ เช่นไม่สามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถูกกว่าคู่แข่งขัน ธุรกิจไม่มีความโดดเด่นแตกต่าง ส่วนแบ่งในตลาดลดลงมาก ช่วงเวลานี้การประเมินมูลค่าของธุรกิจจะวิเคราะห์ โอกาสในการดำเนินธุรกิจต่อไป วิธีการประเมินธุรกิจจะใช้ทั้ง 3 วิธีมาถัวเฉลี่ยกัน ถ้าปิดกิจการเพื่อแบ่งหุ้นกัน จะใช้การตีมูลค่าทางบัญชี และตีมูลค่าสินทรัพย์ว่าขายทอดตลาดจะได้ราคาเท่าไร

 

นอกเหนือจากสถานะของธุรกิจข้างต้นแล้ว กล่าวคือนักลงทุนที่จะมาซื้อหุ้น หรือซื้อกิจการ จะพิจารณาว่าซื้อมาแล้วสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไหม มีระบบการทำงานรองรับอะไรบ้าง ถ้ามีการเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของ ลูกจ้างเดิมยังทำงานต่อไปหรือเปล่า และลูกค้าจะตามธุรกิจ หรือจะตามเจ้าของเดิม ฐานลูกค้าเดิมมีจำนวนเท่าไร

 

โดยสรุปแล้วมูลค่าของธุรกิจ ที่ใช้ประเมินจะพิจารณาจากโอกาสทางธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ความสามารถในการรักษาข้อได้เปรียบในการแข่งขัน การรักษาและเพิ่มฐานลูกค้า การบริหารการจัดการทีมงาน ความสามารถในการเอาตัวรอด และที่สำคัญคือความสามารถในการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายว่ามองเห็นธุรกิจในสภาพแบบไหน มูลค่าที่ยุติธรรมคือมูลค่าที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพึงพอใจร่วมกัน