บ้านหลุยส์ เป็นชื่อเรียกขานที่เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบนใช้เรียก เรือนไม้โบราณกึ่งปูนทรงปั้นหยาสองชั้น มีกลิ่นอายโคโลเนียล ด้านหน้ามีมุขแปดเหลี่ยม (ยื่นออกมาหกด้าน) ตีเกล็ดไม้ระบายอากาศโปร่งพร้อมบานหน้าต่างมองเห็นได้โดยรอบ ตัวเรือนด้านล่างก่อด้วยปูน ซุ้มประตูโค้งแบบฝรั่งพร้อมช่องระบายอากาศไม้แกะสลักที่ละเอียดสวยงาม
เห็นปราดแรกก็ทราบทันทีว่าเรือนไม้หลังนี้ไม่ใช่บ้านเรือนของราษฎรท้องถิ่นทั่วไป น่าจะมีอายุร่วม 100 ปี ที่แน่นอนที่สุดก็คือมันต้องมีอายุเกิน 76 ปีเพราะเมื่อพ.ศ.2482 ตอนที่กรมป่าไม้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัทบอร์เนียว จำกัด และบริษัทหลุยส์ ตี เลียว โนเวนส์ บริเวณชุมชนท่ามะโอ ริมแม่น้ำวังมาเป็นสมบัติของรัฐนั้น เรือนหลังนี้ก็มีอยู่เดิมแล้ว ประวัติการทำไม้ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ได้เดินทางมาไม้อยู่ลำปางราวๆ ปี 2445 หากว่าได้เริ่มก่อสร้างอาคารที่พักในช่วงหลังจากนั้นเล็กน้อย ไม่แน่ว่าเรือนหลังนี้อาจจะมีอายุเกิน 100 ปีด้วยซ้ำไป
หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นลูกของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ อดีตครูผู้สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก หลุยส์ ได้อาศัยความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับราชสำนักสยามที่ได้วิ่งเล่นและมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จนได้มีตำแหน่ง มีเครือข่ายสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจสยาม และต่อมาเขาก็อาศัย “เส้นใหญ่” ที่สามารถเจรจาเข้าถึงราชสำนักได้นี่เองจนได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนทำไม้ให้กับบริษัทบริติช บอร์เนียว อยู่ที่เมืองระแหง (ตาก) เมื่อพ.ศ.2427 ขณะมีอายุได้ 29 ปี และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ฝรั่งทำไม้ในตำนานการป่าไม้ไทยอีกคนหนึ่ง จากเมืองตาก ไปอยู่เชียงใหม่ ลำปางแล้วก็มีแปลงสัมปทานทำไม้ของตนเอง ต่อมาหลุยส์ประกอบธุรกิจ ทำกิจการหลายอย่าง โดยได้ก่อตั้งบริษัท หลุยส์ ตี เลียวโนเวนส์ จำกัด นำเข้าเครื่องอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ซึ่งถือเป็นสินค้าหายากที่ต้องนำมาจากต่างประเทศเป็นสำคัญ บริษัทดังกล่าวต่อมาเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้งแต่ก็ยังยืนยงคงกระพันข้ามยุคสมัย เป็นบริษัทฝรั่งไม่กี่บริษัทในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีอายุยืนยาวมาถึงปัจจุบัน
ประวัติของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ หาได้ไม่ยาก ถึงขนาดมีผู้รวบรวมเขียนเป็นหนังสือเล่ม ชีวิตของเขาสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเมื่อ 100 ปีก่อนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอาณานิคม หลุยส์ทำไม้ และทำการค้า ประวัติชีวิตของเขาจึงช่วยทำให้คนยุคหลังมองเห็นรายละเอียดของเศรษฐกิจยุคฝรั่งอาณานิคมอยู่พอสมควร ว่าที่แท้แล้วสัมปทานผูกขาดทำไม้น่ะ หากระบบการจัดการไม่พร้อมจริงๆ ก็เจ๊งได้ และที่สำคัญฝรั่งด้วยกันเองก็มั่วๆ โกงๆ กันเองไม่แพ้ชาติอื่น บริษัทฝรั่งที่เข้ามาทำสัมปทานบางบริษัทไม่ได้ลงทุนอะไรเอง จึงใช้ลูกช่วงหรือนายหน้าที่มีเครือข่ายเส้นสายในท้องถิ่นดำเนินการแทน หรือไม่ก็จ้างผู้จัดการที่มีความชำนาญในท้องถิ่น แล้วก็แบ่งกำไรกัน และนั่นก็เป็นโอกาสและช่องทางของฝรั่งมีเส้นแบบนายหลุยส์
บทความนี้จะไม่เน้นชีวประวัติของนายหลุยส์ อยากจะมุ่งไปที่ตัวบ้านเก่าแก่ที่ถูกทอดทิ้งอย่างน่าเสียดายโอกาส แล้วก็เรื่องราวของดีๆ เมืองลำปาง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพูดเรื่องบ้านนายหลุยส์โดยไม่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเจ้าของบ้านก็ไม่ได้ ชีวิตของนายหลุยส์เป็นอะไรที่มีสีสันและยังสะท้อนสภาพของบ้านเมืองสยามภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอาณานิคมระหว่างช่วงรัชกาลที่ 5-6 ฝรั่งทำไม้ที่ขึ้นไปอยู่หัวเมืองเหนือแบบนายหลุยส์ก็คือพระราชาน้อยๆ นั่นแล เพราะเวลานั้นฝรั่งได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นชนชั้นบนที่เชื่อมใกล้ชิดกับแวดวงอำนาจในพื้นที่ล้านนา และราชสำนักสยาม
น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังเหลือแค่บ้านพักของหลุยส์ที่ลำปาง ส่วนบ้านพัก(คฤหาสน์ไม้) ของฝรั่งทำไม้ที่เชียงใหม่ไม่เหลืออยู่แล้ว น่าเสียดายเพราะมันมีตำนานที่ลึกซึ้งมาก…บ้านพักของพ่อเลี้ยงฝรั่งทำไม้ชื่อว่าพ่อเลี้ยงชีค (มาเรียน เอ ชีค) สหายที่หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เข้าไปร่วมพำนักบริเวณหลังวัดมหาวัน กลางเวียงเชียงใหม่ในยุคสมัยของเขาเปรียบได้กับฮาเร็มดีๆ ที่เอง มีเด็กสาวพื้นเมืองจำนวนมากที่ถูกขายให้/ซื้อตัว/ หรือแม้แต่เสนอตัวเข้าไปบำเรอพ่อเลี้ยงป่าไม้ฝรั่งทั้งคู่ หัวหกก้นขวิดกันอยู่ที่นั่นจนเป็นที่เลื่องลือ ชาวเชียงใหม่หยิบมาขับเป็นจ๊อยซอเพลงพื้นเมือง(ขบกัดฝรั่งบ้างไรบ้าง)กันให้สนุก ก่อนอ่านขอให้เข้าใจว่า ลิ้นของคนพื้นเมืองเรียกหมอชีค ว่า หมอชิต ส่วนมิสเตอร์หลุยส์ คนล้านนาออกเสียงว่า มิสสะหลวย :-
ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสะหลวย เอาสาวนอนตวยสองคืนสิบห้า อีหลวยนอนเตียงอีออนนั่งท่า ขะใจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง…. ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสะหลวย เอาสาวนอนตวยสองคืนสิบห้า อี่คำขอเงิน อี่หวนขอผ้า อี่โนจาขอจ๊าง ขะใจ๋โวยๆ ป้อเลี้ยง….
(สำหรับคนภาคอื่นที่ไม่ใช่ชาวเหนือ นอนตวย คือ นอนด้วย/ นั่งท่า คือ นั่งเฝ้าคอย / ขะใจ๋ แปลว่า เร็วๆ หน่อยสิ)
หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ น่ะ เป็นฝรั่งที่แสบไม่น้อยเลยนะครับ ลองไปหาอ่านประวัติของแกโดยละเอียดดูหนังสือ ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา หรืออีกเล่ม นายห้างป่าไม้ สีสันชีวิตอดีตล้านนา ของ กิตติชัย วัฒนานิกร สองเล่มนี้ให้รายละเอียดได้ดีพอสมควรและน่าอ่านทีเดียว
ย้อนกลับมาถึงบ้านนายหลุยส์ที่ลำปางกันต่อ ….
หลุยส์กับหมอชีคเป็นฝรั่งทำไม้เมืองลำปางยุคแรกๆ เป็นทั้งตัวแทนให้กับบริษัทใหญ่อย่างบริติช บอร์เนียวและ บอมเบย์ เบอร์ม่า และทั้งขอสัมปทานในนามตัวเอง มันจึงมีชื่อของบริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นผู้รับสัมปทานไม้ในยุคหลัง และกิจการของบริษัททำไม้ดังกล่าวได้ถูกขายต่อ/โอนทรัพย์สินให้กับทางราชการสยาม เมื่อพ.ศ.2482 บ้านพักของนายหลุยส์ กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อยู่ยาวนาน อ.อ.ป.เองก็พยายามดูแลรักษาเท่าที่พอทำได้ มีป้ายนิทรรศการเล็กๆ ให้ที่มาที่ไป แต่ก็นั่นแหละ มาถึงพ.ศ.นี้ก็เกือบ 80 ปีแล้ว มันก็ทรุดโทรม ผุพังกันไปอย่างภาพที่เห็น
ซึ่งมันน่าเสียดายมาก !
ที่จริงแล้วอาคารเก่าแก่หรือสถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลักษณะนี้ที่ถูกละทิ้งไปแล้วค่อยทุ่มเทงบประมาณให้ความสนใจปรับปรุงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชื่อก็มีนะครับ อย่างเช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่แม่ริม เชียงใหม่ เมื่อก่อนตอนที่ตชด.เข้าไปใช้สถานที่เป็นที่ทำงานมันทรุดโทรมมาก แต่เมื่อมีการทุ่มเทงบประมาณและเป้าหมายเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยว สถานที่นั้นก็พลิกโฉมขึ้นมาทันที บ้านหลุยส์ – เฮือนป้อเลี้ยงป่าไม้ เมืองหละปาง ก็ควรเป็นเช่นนั้นเช่นกัน
เมื่อปี 2445 เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เมื่อเงี้ยวได้เมืองแพร่แล้วก็มีข่าวจะยกมาลำปาง ชาวฝรั่งในลำปางมีอยู่ไม่น้อยร่วมกับกรมการเมืองเจ้านายเมืองลำปางทั้งหลายเตรียมสู้นะครับ มันมีบันทึกไว้ แต่ที่สุดก็ตัดสินใจอพยพออกไปแล้วกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ยกมาจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งกองทหารกรุงเทพฯ เป็นค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน ส่วนที่ทำการป่าไม้และอ.อ.ป.บริเวณที่เป็นบ้านนายหลุยส์ มันอยู่ริมแม่น้ำวัง เพราะสะดวกต่อการทำไม้ ชักลาก นับท่อน ไปจนถึงการคมนาคมคุมพื้นที่ต้นน้ำวังทั้งหมด แถมสามารถเชื่อมไปยังเมืองตากซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคมสำคัญอีกต่างหาก
นครลำปางน่ะ มี่ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เหนือกว่าเชียงใหม่ด้วยซ้ำไปในแง่ของการคมนาคม เมื่อก่อนลำปางเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำคัญหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นระดับเขตและภาคอยู่ที่ลำปางทั้งนั้น เช่นกองทหาร กองบัญชาการตำรวจภาค ธนาคารชาติ สถานีโทรทัศน์(ช่อง8ลำปาง) ฯลฯ แต่หลังจากนั้นเมื่อรัฐมีนโยบายกำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเดี่ยวของภาคเหนือตอนบน หน่วยงานที่ว่าก็ทยอยย้ายออกจากลำปางจนหมด คนรุ่นหลังแทบไม่รู้แล้วว่าลำปางน่ะเคยเป็นอะไรที่คึกคักและยิ่งใหญ่มาก่อน
อยากเห็นหน่วยงานรับผิดชอบคิดปรับปรุงบ้านโบราณ เฮือนป้อเลี้ยงหลุยส์ ทำไม้ขึ้นมาให้เกิดมีชีวิตชีวาเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกหลายแห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของท้องถิ่นเชื่อมโยงกับของดีๆ เมืองลำปางอีกหลายแห่ง ทั้งอาคารธนาคารไทยพาณิชย์เก่าแก่ที่เคยเป็นบ้านพักของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทั้งอาคารสถานีรถไฟที่วิจิตรบรรจง รวมไปถึงตลาดเก่าหมู่ห้องแถวทรงโบราณที่สะท้อนถึงชุมชนการค้ายุครุ่งเรืองของเมืองศูนย์กลางแห่งนี้
ตำนานที่มีชีวิตนี่นอกจากจะจะฟื้นความทรงจำแล้ว…ยังขายได้ด้วยนะครับ!
ป.ล.ขอบคุณภาพถ่ายจากคุณ Schwid Vilepananonda