กระตุ้นการใช้จ่ายลดหย่อนภาษีปี 2558 : รัญชนา รัชตะนาวิน


ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25 – 31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 หมื่น 5 พันบาทนั้น เป็นการกระตุ้นที่ทำให้เห็นผลของการนำเงินออกมาใช้จ่ายกันอย่างชัดเจน แต่มีทั้งข้อดีและข้อเสียไม่แพ้กัน ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นว่าผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือผู้ที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี ควรจะระมัดระวังอย่างไรบ้าง

               

 

สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

1.  ผู้มีเงินได้ ได้ประโยชน์แน่นอนจากการนำใบเสร็จรับเงินจากการใช้จ่ายนี้ไปหักลดหย่อนเพื่อเสียภาษีในปี 2558 น้อยลง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานภาษีร้อยละ 5 เสียภาษีลดลง 750 บาท และฐานภาษีสูงขึ้นตามลำดับ

 

2. ผู้ที่มีเงินได้ หากได้ซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร เครื่องปรุงต่างๆ ของใช้ในบ้าน และของใช้ส่วนตัว เป็นต้น การกระตุ้นใช้จ่ายนี้ก็จะส่งผลโดยตรงกับผู้มีเงินได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อการดำรงชีพอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ซื้อเครื่องดื่มแอลกฮอล์ สุรา เบียร์ ไวน์ และยาสูบ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ หากได้ใช้จ่ายในเรื่องนี้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางภาษีเลย  

 

3. ผู้ที่มีเงินได้ ต้องการซื้อสินค้าเพื่อสวัสดีปีใหม่ หรือใช้บริการการเลี้ยงฉลองปีใหม่ แก่ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ญาติ หรือบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่ทำกันอยู่ทุกปี ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้า หรือสังสรรค์ทานอาหารกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงคริสมาสต์จนถึงช่วงปลายปี ควรทำให้เหมาะสมกับรายได้ที่ตนเองได้รับด้วย ไม่ควรซื้อสินค้าหรือบริการที่เกินตัวเกินไป ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายให้ครบ 15,000 บาท เพื่อนำไปลดหย่อน หากเรามีรายได้ไม่สูงนัก

 

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี

 

1. หลายท่านที่เป็นบุคคลธรรมดาแต่ไม่ได้เสียภาษีบุคคลธรรมดา ดูเหมือนจะไม่ก่อประโยชน์ทางภาษีใดๆ เลย เพราะท่านไม่สามารถนำใบเสร็จนี้ไปลดหย่อนใดๆ ได้เลย

 

2.  มีบุคคลธรรมดาหลายท่าน ที่ผู้เขียนรู้จัก พอได้รับทราบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการที่ตนเองยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ต้องการอยากเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือเดิมนั้นตกรุ่น หรือมีคุณสมบัติที่รุ่นใหม่นั้น ก้าวล้ำนำหน้าไปไกลกว่าเครื่องของตน ผนวกกับตนเองนั้นมีรายได้ที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดกระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าโดยวิธีการผ่อนชำระ 3 เดือน – 10 เดือน หากมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินล่วงหน้าแล้ว เมื่อตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ แต่จะเป็นหนี้ในอนาคต และยังไม่แน่นอนว่าจะมีรายได้เข้ามาตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ผู้เขียนต้องโน้มน้าวอยู่หลายวัน ว่าไม่มีประโยชน์เลยที่ท่านนั้นจะต้องเปลี่ยนมือถือ ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นในช่วงนี้

 

3. หลายท่านที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี ดูเหมือนจะมีความต้องการในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ จนอาจจะขอรบกวนผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ซื้อสินค้าหรือบริการ และตนเองนั้นจะได้หักส่วนลดจากการที่ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาจะนำไปหักลดหย่อน ทำให้ซื้อสินค้าหรือบริการนั้นถูกลง ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะเป็นช่วงที่มีการไต่ตรองน้อยเกินไป อาจจะทำให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดคำนวณไม่รอบคอบ และเสียเปรียบได้

 

แต่ช่วงเวลาการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้หลายท่านมีความสุขจากสิ่งที่ได้รับ และผ่านไปอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้หลายๆ ท่านไม่ทันได้ไตร่ตรองคิดอย่างรอบคอบตามที่ผู้เขียนได้ให้ข้อควรระมัดระวังไว้ หากปลายปี 2559 นี้ มีมาตรการกระตุ้นออกมาอีกครั้ง ก็ขอให้ทุกท่านจงใช้ดุลยพินิจไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจับจ่ายใช้เงินค่ะ สวัสดีปีใหม่ขอให้ทุกท่านสุขกาย สุขใจค่ะ