นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวคู่ขนานไปกับเรื่องการเกษตรผสมผสานกับการพยายามพัฒนาท้องถิ่นและ SME : สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการดำเนินนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวคู่ขนานไปกับเรื่องการเกษตรผสมผสานกับการพยายามพัฒนาท้องถิ่นและ SME แนวทางในการพัฒนาดังกล่าวมีลักษณะที่จะดึงความเชื่อมโยงออกมาเป็นระบบและอีกส่วนหนึ่งก็พยายามดึงเอาธุรกิจใหญ่ ๆ มาช่วย SME โดยใช้แนวทางที่เรียกว่า “พี่ช่วยน้อง” แนวทางส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าวคือ การให้ประโยชน์ทางด้านภาษีสำหรับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในรายการ อีกทั้งการลดแลกแจกแถมเพื่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใน โดยหวังว่า แนวทางดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยรายได้จากการส่งออกซึ่งยังไม่สดใสจากปัญหาเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการขาดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ส่วนหนึ่งต้องการที่จะเป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกเชิงโครงสร้าง แนวทางการดำเนินการของรัฐบาลที่ได้กล่าวถึงนี้จะมีทั้งข้อดีและข้อที่พึงระวังดังต่อไปนี้

 

ข้อดีประการแรกคือ เป็นการกำหนดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย (Target Industry and Service) ที่ตรงกับจุดอ่อนจุดแข็งของไทยและสอดคล้องกับทิศทางโลกที่ขยายตัวด้านท่องเที่ยวและด้านอาหาร ศักยภาพของการแข่งขันซึ่งตามทฤษฎี Diamond ของ Michael E. Potter ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและเกษตรของไทยคือ ประเทศไทยมีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวและอาหารอย่างมหาศาล (Input) และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Related Industry) ที่เชื่อมโยงกับด้านอาหารและเกษตร ที่สำคัญถ้ามองจากอุปสงค์ (Demand side) จะเห็นว่า ผู้บริโภคไทยมีความจู้จี้เรียกร้องคุณภาพมากในการท่องเที่ยวและอาหาร สำหรับด้านอาหารแล้วจะสังเกตว่า ทุกซอยทุกริมถนนเต็มไปด้วยร้านอาหารซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีวัฒนธรรมชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ อาหารไทยและอาหารอื่น ๆ ก็มีความหลากหลาย และมีรสชาติเป็นที่ยอมรับ องค์ประกอบนี้แสดงถึงจุดแข็งของธุรกิจอาหารที่ประเทศไทยมีและสามารถพัฒนาไปไกลทั้งในและต่างประเทศ ในด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน เรามีองค์ประกอบที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งในด้านสถานที่ตั้ง ภูมิประเทศ วัฒนธรรม สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโรงแรม มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ช่วยส่งเสริมเช่น ธุรกิจค้าปลีกตั้งแต่ convenience store ไปจนถึง plaza ขนาดใหญ่และทันสมัยเป็นต้น ๆ ของโลก มีโรงแรมตั้งแต่ระดับ 1 ดาวถึง 8 ดาว ทั่วประเทศ อีกทั้งด้านอุปสงค์ (Demand) คนไทยชอบเที่ยวแบบหลากหลายไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงการทำบุญ วิปัสสนา หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวด้านการกินก็มี ปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็นจุดแข็งและเป็นบริการเป้าหมายที่สามารถพัฒนาไปได้อีกไกลทั้งในและต่างประเทศ

 

ข้อดีประการที่สองคือ การนโยบายที่มีการมองเชิงองค์รวมเชื่อมการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น โปรโมทการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับการเน้นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัด มีการเล่า Story ของสินค้า เช่น มีดอรัญญิกของจังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการรวมกลุ่ม OTOP เกษตรกร มีการพัฒนาเรื่องคมนาคมเชื่อมโยงกับการพัฒนามูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ CLMV อีกทั้งการเชื่อมโยงทางด้านการเงิน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมร่วมกับไทย

 

ข้อดีประการที่สาม คือ เป็นนโยบายที่ให้การช่วยด้านการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการเงินกับ SME และเกษตรกร อีกทั้งพยายามปรับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในการกระบวนการทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลได้ใช้ธุรกิจใหญ่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ

 

ข้อดีประการที่สี่ คือ เป็นนโยบายที่เน้นการตลาดและการประชาสัมพันธ์ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของสภาพคล่องและตัวคูณทางเศรษฐกิจเพื่อชดเชยแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้การส่งออกยังไม่สดใส

 

สำหรับข้อพึงระวังมีดังนี้คือ

 

ประการแรก สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำนั้นจะต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องและพัฒนาเชิงโครงสร้าง นโยบายดังกล่าวนั้น รองนายกฯ สมคิดก็เคยทดลองทำตั้งแต่ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นดึง Michael E. Potter มาบรรยายเพื่อพัฒนา Cluster ในครั้งนั้นการท่องเที่ยวและการเกษตรก็เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้อยู่แล้ว การจะทำให้ต่อเนื่องนั้น ความรู้ความเข้าใจของผู้ดำเนินนโยบายจะต้องชัดเจนเพราะสิ่งที่รัฐบาลคิดเป็นนามธรรม เมื่อแปลงเป็นรูปธรรมอาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ดูตัวอย่างง่ายๆ ของแผนยุทธศาสตร์จังหวัดก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแทนที่จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ก็เป็นแค่แผน KPI คือ ดัชนีตัววัดเท่านั้น

 

ประการที่สอง การตลาดที่ทำอยู่อาจเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ยั่งยืน อาจจะช่วยชาวนาและ SME ได้แค่บางส่วน สิ่งที่จะช่วยได้คือ ความสามารถของภาครัฐในการช่วยปรับปรุงคุณภาพสินค้าเรื่องของเกษตรสู่มูลค่าเพิ่ม จนกระทั่งไม่จำเป็นต้องส่งเสริมการตลาดเพราะเมื่อสินค้าเป็นที่ยอมรับแล้ว พ่อค้า นักธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศก็จะวิ่งมาหาสินค้าเองา ถ้าแค่เป็นการขอร้องให้เข้ามาช่วยซื้อทำให้สินค้าขายได้ดีก็จะได้ผลแค่ช่วงที่รัฐบาลนี้อยู่เพราะความเกรงใจรัฐบาลชุดนี้ การพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นภารกิจที่ยากมากแต่อย่างน้อยที่สุดก็น่าชมเชยที่รัฐบาลได้เริ่มพยายาม

 

ประการที่สาม การใช้นโยบายให้บริษัทใหญ่ช่วย SME ที่เรียกว่า “พี่ช่วยน้อง” นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงคือบริษัทใหญ่เหล่านี้มีคุณธรรมที่จะช่วยเหลือกันจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงพ่อค้าที่เกรงใจรัฐบาล หรือสินค้าบางตัวก็ขายได้ดีอยู่แล้ว คำถามคือ ในอดีตนั้น บริษัทเหล่านี้ช่วย SME กับชาวนาหรือว่าเอาเปรียบ SME กับชาวนา สิ่งที่น่าจะเป็นรูปธรรมในการช่วยคือ การให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำ convenience store ช่วยเหลือ SME ที่เป็นโชห่วยเพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการช่วย SME อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ โครงการช่วยโชห่วยจะเป็นตัววัดได้ดีว่า บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้มีความตั้งใจช่วย SME จริงหรือไม่

 

โดยสรุป สิ่งที่รัฐบาลทำถือเป็นการริเริ่มที่ดีในด้านทฤษฎี เพียงแต่ว่าจะปฏิบัติได้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้แค่ไหนก็คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน และข้อดีอีกประการคือ อย่างน้อยรัฐบาลชุดนี้ก็เริ่มมียุทธศาสตร์แบบองค์รวม ส่วนจะไกลขนาดไหนนั้น คำตอบยังไม่ชัดเจนนัก

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทุกประเทศต้องมีการปรับตัวอย่างมหาศาล ปัญหาคือ 1. มีความพยายามในการปรับตัวหรือไม่ ซึ่งข้อนี้รัฐบาลสอบผ่าน 2. มีการวางกลยุทธ์ที่เป็นองค์รวมหรือไม่ ข้อนี้รัฐบาลสอบผ่าน 3. กลยุทธ์นี้สอดคล้องกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ข้อนี้ต้องใช้เวลาพิสูจน์ และ 4. ยุทธศาสตร์จะสามารถแปลงเป็นรูปธรรมและสำเร็จได้หรือไม่ ข้อนี้ยังไม่ชัดเจนต้องใช้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน