ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน : สุขุม นวลสกุล


ข้อเขียนนี้ต้องถือเป็นตอนที่ ๒ ของข้อเขียนคราวที่แล้วเรื่อง “ใช้คนถูกงาน”  หรือ “Put the right man on the right  job”  ที่เขียนถึงภาพกว้างของหลักการนี้   ข้อเขียนนี้จะลงในภาคปฏิบัติว่าในฐานะนักบริหาร  เราจะมีหลักในการดำเนินการให้บรรลุจุดประสงค์ของการใช้คนถูกงาน

 

ดังนั้นจึงขอตั้งชื่อข้อเขียนนี้ว่า “ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน” ให้คล้ายคลึงกับเรื่องเดิม  เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

 

ผมแนะนำว่า  นักบริหารหรือหัวหน้าควรที่จะรู้จักลูกน้องที่เราดูแลอยู่ในภาพลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะรู้จักได้  อย่ามองข้ามรายละเอียดของบุคคลแต่ละคน   อย่ารับทราบหรือรู้จักแต่ภาพกว้างของคน  ไม่งั้นแล้ว  เราอาจจะมอบหมายงานไม่เหมาะสมกับตัวบุคคล  กลายเป็นใช้คนไม่ถูกกับงานไปเสียนี่

 

ตัวอย่างเช่น  เราเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์  มีลูกน้องคนหนึ่งเป็นผู้หญิงหน้าตาดีจบทางนิเทศศาสตร์  ดูคุณสมบัติในภาพกว้างแล้ว  เราจัดวางเธอไว้ให้นั่งเคานท์เต้อร์คอยตอบคำถามลูกค้า  ดูเผิน ๆ ก็น่าจะเหมาะสมดี  ว่าไหมครับ

 

แต่ถ้าเธอคนนั้นแม้จะสวยโสภาต้องตาคน  แต่เป็นคนมีนิสัยใจร้อนหงุดหงิดง่าย  ใครพูดจาไม่ถูกหูก็โวยวายเสียงดัง  ถ้าภาพลึกของเธอเป็นอย่างที่ว่า  ก็คงไม่เหมาะที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์   คนมีนิสัยเช่นนี้  อย่าว่าแต่ให้นั่งคอยชี้แจงลูกค้าเลย  แค่ให้นั่งใกล้โทรศัพท์ยังอันตรายต่อบริษัทเลย  จะบอกให้

 

เกิดมีใครโทร ฯ มาแล้วโชคร้ายเธอเป็นคนรับเข้าพอดีและอยู่ในระหว่างอารมณ์ไม่ดี  คนโทร ฯ มาถามว่า “ที่ไหนครับ”   เธออาจจะตะคอกกลับไปว่า  “ก็คุณจะโทร ฯ ไปที่ไหนล๊ะ”   เท่านี้ก็สามารถเสียลูกค้าได้

 

ดังนั้นการรับคนเข้าทำงานจึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลรายละเอียดของบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  อย่าเก็บเฉพาะภาพกว้าง ๆ ของผู้สมัคร   เพราะเราอาจจะทำให้เราไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของคนที่มาทำงานกับเรา  อาจทำให้เราใช้งานผิดคนหรือผิดพลาดไม่ใช้คนให้ถูกงาน

 

สมัยผมเป็นอธิการบดีเคยมีโอกาสไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา   ผมไปแวะเยี่ยมชมศูนย์ทรัพยากรมนุษย์หรือ HR Center แห่งหนึ่ง   ผมขอข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์ที่สนใจจะไปสอนที่ประเทศไทย  เขาพิมพ์ข้อมูลลงบนกระดาษออกมาให้ผมดู หนาเป็นปึกเลยละครับ ไม่ใช่แค่ใบสองใบอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น

 

แค่รูปถ่ายอย่างเดียวก็มีไม่ต่ำกว่า ๑๐ ภาพ ทั้งภาพหน้าตรง หน้าบึ้ง หน้ายิ้ม  เห็นเต็มตัว ครึ่งตัว ค่อนตัว ข้างตัว  เหมือนรูปดาราเลย  เจ้าหน้าที่เขาอธิบายให้ผมฟังว่า  แม้เราจะไม่เคยรู้จักบุคคลนั้นมาก่อน  แต่เมื่อมาดูข้อมูลที่ศูนย์นี้แล้ว  เจอเมื่อไหร่คุณจะรู้ทันทีว่าเป็นเขา  จากการเห็นภาพหลากหลายของเขาในข้อมูล

 

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลนั้นมากมาย  มีแม้เรื่องรสนิยมชอบสีอะไร  ดูหนังแบบไหน เล่นหรือสนใจกีฬาอะไร  ชอบอาหารประเภทไหน  ทำอาหารเป็นหรือเปล่า

 

ผมซักถามว่า ทำไมต้องมีรายละเอียดมากมายอย่างนั้น  เขาก็อธิบายว่า เราจะเอาคนต่างบ้านเมืองข้ามโลกไปทำงานด้วยก็ควรจะรู้จักให้มากที่สุด  บางเรื่องก็มองข้ามไม่ได้  เช่น เรื่องทำอาหารเป็นหรือไม่  เพราะถ้าเรามัวแต่เพ่งเล็งเอาคนเก่งเรื่องวิชาการไปแต่ทำอาหารไม่เป็น  แล้วมหาวิทยาลัยเราอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีร้านอาหารฝรั่งเลย  อาจารย์ท่านนั้นก็คงอยู่กับเราไม่ได้นาน  อย่างนี้ก็ต้องเอาคนที่ช่วยตัวเองได้ในเรื่องอาหารแม้วิชาการอาจจะด้อยหน่อย  แต่แน่ใจได้ว่าเขาไม่ไปอดตายกับเราแน่

 

หรือเรารู้ว่าผู้ที่เราเชิญไปอยู่กับเราชอบสีอะไร  เราก็อาจจัดม่านหน้าต่างม่านประตูหรือเครื่องมือเครื่องใข้สีที่เขาชอบก็จะทำให้เขาเกิดความประทับใจและมีกำลังใจและอบอุ่นใจในการมาทำงานในดินแดนที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน

 

ฟังเหตุผลของเขาแล้ว  ก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่า  ยิ่งเรามีรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่ทำงานกับเรามากเท่าไหร่  โอกาสที่จะใช้คนให้เหมาะสมกับงานยิ่งมากขึ้น

 

เช่น  เรารู้ว่าลูกน้องเราแต่ละคนบ้านอยู่ใกล้ไกลกับโรงงาน   เรามีงานด่วนจะต้องใช้ลูกน้องแต่เข้าก่อนเวลางาน  เราก็คงเรียกใช้ลูกน้องที่บ้านอยู่ใกล้โรงงาน

 

จะใช้ลูกน้องไปต่างจังหวัด  เรารู้ว่าคนไหนเพิ่งมีลูกอ่อน เราก็คงไม่ใช่เขา  อย่างนี้เป็นต้น

เรื่องข้อมูลบุคคลนี่สำหรับสังคมไทยนี่  เท่าที่ผมมีประสบการณ์รู้สึกว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่  บางครั้งสักแต่ว่าทำให้ครบ ๆ  อย่างเมื่อก่อนนี้รูปถ่ายที่พนักงานแนบมากับใบสมัคร  บางคนมองรูปถ่ายกับตัวจริง มองยังไงก็ไม่เหมือน  เจอข้ออ้างว่า “ถ่ายไว้นานแล้ว”  เจ้าหน้าที่ก็ยอมผ่านให้  ยิ่งสมัยหนึ่งรูปถ่ายในบัตรประชาชนกับตัวจริงเป็นคนละเรื่อง   เกิดต้องประกาศหาตัวด้วยรูปถ่ายก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร

 

วันนี้ความก้าวหน้าทางเท็คโนโลยีมาไกลแล้ว  แต่ละบริษัทน่าจะสามารถบันทึกภาพจริงของบุคลากรของตัว  มีอะไรเกิดขึ้น  คนที่เห็นรูปภาพก็อาจจะช่วยหาตัวหรือชี้เบาะแสได้

 

ใบสำคัญพวกบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ก็เหมือนกัน  ของเรานี่ทำเสร็จแล้วก็ใช้ได้ตลอดไป  แม้ต่อมาจะย้ายบ้านเปลี่ยนที่อยู่อย่างไรก็ยังคงใช้หลักฐานเดิม   คนขับรถบางคนเอารถบริษัทไปทำเสียหาย  แล้วหนีหายไปแล้ว   ดูหลักฐานตามบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ก็เป็นที่อยู่ต่างจังหวัด  ไม่รู้จะหาตัวที่ไหน

 

นี่ถ้าทางฝ่ายบุคคลของบริษัทดูแลข้อมูลของพนักงานให้ละเอียดตรงกับความเป็นจริง  ทุกคนต้องลงที่อยู่ในปัจจุบันจะอาศัยอยู่บ้านใคร หอพักไหน ต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยละเอียด  มีแผนที่บ้านอยู่ในข้อมูล  เกิดอะไรขึ้นก็สามารถหาตัวได้ง่ายกว่ามีหลักฐานแค่บัตรประชาชนหรือใบขับขี่  จริงไหมครับ

 

หากบริษัทใดมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพนักงานครบถ้วนสมบูรณ์แบบ  อาจทำให้พนักงานมีความรับผิดชอบสูงขึ้น  เพราะรู้ว่าถ้าทำอะไรผิดพลาด   การที่จะหลบหนีไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ  ทางที่ดีต้องระมัดระวังการทำงานไม่ให้เสียหายจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนภายหลัง