หน้าผาธุรกิจ วงจรชีวิต SME : วีรยุทธ เชื้อไทย


การเดินทางบนถนน SME ความเป็นผู้ประกอบการแบบไทยๆ ทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากมายมหาศาล 2 ล้านกว่ารายเป็นผู้ประกอบการประเภทบุคคลธรรมดา อีกกว่า 6 แสนรายเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม “นิติบุคคล”

 

ในทั้ง 2 ประเภทยังจำแนกได้แบบกว้างๆ อีก 3-4 ระดับ ตั้งแต่กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) ร้านค้าบุคคลธรรมดา (Micro Enterprise) แยกเป็นไม่จดทะเบียนใดๆ กับจดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคล (SME) ทั้งแบบเริ่มต้น (Startup เริ่มธุรกิจไม่เกิน 3 ปี) แบบเติบโต (Strong/Regular ธุรกิจเกิน 3 ปี) และแบบสุดท้าย ธุรกิจที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ (Turn Around)

 

คำถามมีอยู่ว่า “ทำไมต้องรู้ว่าเป็นผู้ประกอบการระดับไหน กลุ่มไหน” กลุ่มหรือระดับของผู้ประกอบการก็เสมือนบุคลิกของคนที่มีความชอบ ไม่ชอบ มีประสบการณ์ในการเรียนรู้หรือการลงมือทำมาแตกต่างกัน จึงทำให้การส่งเสริมผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มให้ประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก หากไม่เข้าใจบริบทของกลุ่มหรือบุคลิกของผู้ประกอบการกลุ่มนั้นๆ รัฐจึงจำเป็นต้องจัดโปรแกรมโครงการต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจึงจะสามารถสร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ในที่สุด

 

วงจรชีวิต SME กว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าสำเร็จ หลายคนคงเริ่มจากการทำธุรกิจเล็กๆ ที่ตนเองรัก ทำออกมาแล้วขายได้ บางรายขายดี ยิ่งขายก็ยิ่งเติบโตจากกิจการแผงลอย เริ่มเป็นห้องแถว ยอดขายเติบโตจนวันหนึ่งรู้สึกว่า “ภาษี VAT” ที่มากับวัตถุดิบในการผลิตมันมากจนต้องคิด “ขอคืน VAT” เพื่อเพิ่มกำไร

 

สุดท้ายจึงตัดสินใจเข้าสู่ระบบจดทะเบียน “นิติบุคคล” เพื่อตั้งใจว่าจะลด VAT ให้กลายเป็นการเพิ่มกำไร ให้สำนักงานบัญชีมาทำบัญชี ส่งงบการเงินเป็นประจำเพื่อให้เสียภาษีน้อย ก็เลยบอกสำนักงานบัญชีให้ทำ “งบดุลขาดทุน” เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี “นี่คือจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์” ที่ทำให้หลายกิจการต้องล้มเลิกจากจุดนี้

 

การบริหารแบบนิติบุคคลไม่เหมือนการบริหารแบบร้านค้าอย่างสิ้นเชิงครับ เพราะต้องมีความเข้าใจภาพรวมทางการเงิน การจัดการ ต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นช่องทางหรือประโยชน์จากข้อกฎหมายกฎระเบียบเหล่านั้น เช่น สิทธิประโยชน์จากภาษีมีกี่แบบกี่ประเภท ใช้อย่างไรจึงจะทำให้บริษัทได้กำไรมากขึ้น และไม่ผิดกฎหมายสรรพากร ตั้งแต่การยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลที่กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทในรอบบัญชี สิทธิยกเว้นภาษีตามการส่งเสริมการลงทุน สิทธิในการขอคืนภาษี หรืออื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำ “งบขาดทุน”

 

ตรงข้าม การทำ “งบขาดทุน” กลับส่งผลเสียมายังกิจการทางอ้อม เพราะเมื่อยอดขายดีมากขึ้น ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในกิจการมากขึ้น จำเป็นต้องใช้ “สินเชื่อ” ในระบบสถาบันการเงิน คุณจะพบว่ามันยากลำบากอย่างมากในการขอสินเชื่อ บางรายถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร จนต้องวิ่งไปหาสินเชื่อนอกระบบมาหมุนเวียนในกิจการ

 

“สินเชื่อนอกระบบไม่เคยสร้างกำไรให้ธุรกิจ” เพราะดอกเบี้ยเป็นภาระที่หนักมาก จนในที่สุดจะแบกรับไม่ไหว เหตุผลลำดับต้นๆ ของการปฏิิเสธสินเชื่อจากธนาคาร คือ “งบดุลขาดทุน” กิจการที่มีงบการเงินขาดทุน ธนาคารถือเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิเสธสินเชื่อเป็นลำดับแรก ถัดมาคือผู้ถือหุ้นมีสถานะการเงินส่วนตัวเป็น NPL 2 เหตุผลนี้ คือ “ข้อห้ามสำคัญเด็ดขาด” อย่าให้เกิดขึ้นกับตัวและกิจการ มันคือ “หน้าผาความหายนะ” ที่เข้าสู่กิจการนั่นเอง

 

“หน้าผาธุรกิจ SME” เวลาที่เรายืนอยู่บนหน้าผา ข้อดีคือ เราจะเห็นวิวที่กว้างไกล เปรียบเสมือนเห็นความหวัง เห็นเป้าหมายใหม่ๆ ได้ไกลกว่าคนที่ยืนอยู่เชิงเขา เราจะได้อากาศบริสุทธิ์มากกว่า ซึ่งก็เปรียบเสมือนโอกาสในทางธุรกิจนั่นเอง คนยืนอยู่บนหน้าผาจะมีคนเห็นได้เด่นชัดกว่าคนที่ยืนอยู่เชิงเขา

 

กลับกัน คนอยู่เชิงเขาต่างตะโกนว่า “คุณอย่าโดดนะ” เพราะเขายืนเชิงเขาแล้วแหงนหน้ามองเราพร้อมความคิดว่าคนบนหน้าผาจะกระโดดฆ่าตัวตาย เขาหารู้ไม่ว่าเราเห็นเส้นทางเดินไปข้างหน้าผ่านช่องเขา หมู่เมฆ สู่ที่ดินผืนงามที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ คนที่ยืนอยู่ยอดเขาลูกนั้นต่างตะโกนบอกทางให้คุณเดิน ซึ่งแตกต่างกว่าคนที่อยู่ข้างล่างที่ตะโกนบอกคุณว่าอย่าโดดนะ ดูมันเป็นคนละมุมคนละบรรยากาศเลยทีเดียว

 

ในโลกธุรกิจ คุณจะไม่รู้เลยว่าคุณเดินมาถึงหน้าผาแล้ว และคุณจะไม่รู้เลยว่าคุณตกหน้าผานั้นแล้วด้วยการทำงบการเงินขาดทุนเพื่อหลบภาษี ใช้เงินกิจการกับส่วนตัวปนกันจนแยกไม่ได้ จนกว่าคุณจะพบ “ที่ปรึกษา” หรือกลุ่มคนผู้ประสบความสำเร็จ คุณจึงจะรู้ว่าคุณยืนอยู่ ณ จุดใด กิจการของคุณอยู่ในระดับใด และกำลังต้องการเครื่องทุ่นแรงแบบไหนในการนำพากิจการสู่ความสำเร็จ

 

หากเดินผ่านจุดเปลี่ยนจากกิจการบุคคลธรรมดาสู่การเป็นกิจการนิติบุคคล ณ จุดนี้คุณกำลังยืนอยู่บนหน้าผาแห่งธุรกิจ คุณกำลังต้องการ “ที่ปรึกษา” คุณต้องการคนที่ยืนอยู่บนยอดเขาตะโกนบอกทางให้คุณ อย่าเดินด้วยตัวเองเพราะมันเสี่ยงเกินไป คุณควรมีพี่เลี้ยงให้กับกิจการ คุณควรมีเครือข่าย หน่วยงานสนับสนุนให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากโครงการของรัฐ เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจให้เหนือคู่แข่งตลอดเวลา

 

เมื่อมาถึงหน้าผา คุณควรระวังการเดินแบบไร้จุดมุ่งหมาย เพราะธุรกิจคุณกำลังจะเติบโตมั่นคงส่งต่อให้ทายาทได้ อย่าให้เสียโอกาสนั้นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
เหมือนกับหลายคนเคย “ตกหน้าผา” นั้นมาแล้ว 2 เรื่องที่ไม่ควรทำเมื่อถึงหน้าผานี้คือ งบการเงินขาดทุน และกรรมการบริษัทเป็น NPL แล้วกิจการคุณจะมั่นคงแน่นอน