หลังจากมีข่าวสวนกล้วยขนาดใหญ่ของทุนสัญชาติจีนเข้ามาเช่าที่ดินปลูกแล้วแย่งสูบน้ำกับชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย สังคมไทยเราก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องกล้วยจีนมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็มีการเผยแพร่ข่าวสารที่ประชาชนในแขวงภาคเหนือของลาวประสบจากการที่ทุนสวนกล้วยจีนใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาจนทำให้ทางการจีนต้องระงับใบอนุญาต ไม่ให้ทุนจีนขยายพื้นที่ปลูกกล้วยอีกต่อไป
สื่อที่เผยแพร่ข่าวสารปัญหาเรื่องมลพิษจากไร่กล้วยจีนออกสู่โลกภายนอกอย่างต่อเนื่องก็คือ วิทยุเอเชียเสรี RFA ซึ่งเป็นสื่อกึ่งเอ็นจีโอที่ตะวันตกสนับสนุน เป็นที่รับรู้ว่าสื่อสำนักนี้มีท่าทีไม่ชอบรัฐบาลจีนอย่างชัดเจน แต่เนื้อหาสาระของข่าวสาร และข้อเท็จจริงที่นำเสนอออกมาน่าเชื่อได้ว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ ขนาดที่ทางการของลาวเองมีนโยบายออกมา
RFA ประมาณการณ์ว่าปัจจุบันทุนจีนเข้าไปปลูกกล้วยในพื้นที่ห้าแขวงภาคเหนือของลาว ประมาณ 2 หมื่นเฮกตาร์ หรือราวๆ 125,000 ไร่ แบ่งเป็น บ่อแก้ว 11,000 เฮกตาร์ อุดมไซย 4,000 เฮกตาร์ หลวงน้ำทา 1,000 กว่าเฮกตาร์ ไซยบุรี 2, 000 กว่าเฮกตาร์ และแขวงหลวงพระบาง ราว 1,000 กว่าเฮกตาร์ ผลผลิตที่จะส่งไปยังประเทศจีนปีนี้ราว 1 แสนตัน ปัญหามลพิษสารเคมีจากสวนกล้วยทำให้แขวงไชยบุรี อุดมไซย และบ่อแก้ว ประกาศไม่ต่ออายุใบอนุญาตปลูกกล้วยให้อีกต่อไป
โดยทั่วไปแปลงปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกขนาดใหญ่ในโลกทั้งในฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ หรือประเทศอื่นเขาไม่ถึงกับใช้สารเคมีเข้มข้นทำลายล้างจากปลาตายเกลื่อนเหมือนในภาพข่าวประเทศลาวที่เผยแพร่ออกมา ประเทศที่ยกตัวอย่างมาปลูกกล้วยส่งออกมานานเป็นทศวรรษแล้ว ปัญหาการใช้สารเคมีเข้มข้นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะมาจากพฤติกรรมเฉพาะส่วนเฉพาะรายมากกว่า ขึ้นกับว่าทุนที่เข้ามาดำเนินการนั้นมักง่าย เอาแต่ได้ และเห็นแก่ตัวหรือไม่ ซึ่งเราท่านก็คงนึกจินตนาการได้ว่าทุนที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ของลาวนั้นทำปู้ยี่ปู้ยำกันแบบไหน ขนาดทำให้เขาส่ายหน้าไม่อนุญาตให้มีต่อ… ภาพลักษณ์ด้านลบดังกล่าวก็ติดตัวทุนจีน แพร่ไปทั่วภาคเหนือของลาวไปแล้ว
สวนกล้วยของทุนจีนไม่ได้อยู่แค่ในลาว ในช่วง 2 ปีนี้มันยังข้ามแม่น้ำโขงมาถึงภาคเหนือของไทย แปลงปลูกกล้วยริมแม่น้ำอิง 2,700 ไร่ของบริษัทหงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ใช่แปลงแรก นอกเหนือจากที่ทุนจีนมาเช่าที่ดินแอบปลูกเอง (เพราะเกษตรกรรมเป็นอาชีพสงวนของคนไทย) แล้ว ยังมีเกษตรกรชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่จมูกไว จับกระแสตลาดได้เร็วหันมาปลูกกล้วยเพื่อส่งออกตลาดจีนก็มีให้เห็นอยู่หลายราย จีนนั้นมาตั้ง “ล้ง” รับซื้อผลไม้ไทยมาหลายปีแล้ว และกล้วยก็เป็นหนึ่งในสินค้ายอดฮิตที่พวกเขาประกาศรับไม่อั้น ซึ่งจะว่าไปผลไม้เมืองร้อนทั้งหลาย เช่นทุเรียน มะม่วง มังคุด และลำไย ก็เป็นสินค้าที่ตลาดจีนเพิ่มกำลังรับซื้อถ้วนหน้า
ปรากฏการณ์สวนกล้วยจีนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของไทยและลาว เป็นรูปธรรมสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์การเมืองการเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค แต่ก่อนเราเคยใช้คำว่าสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่หมายถึงการคมนาคมติดต่อและเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ มายุคใหม่เกิดมีศัพท์ที่เรียกว่า New Silk Road และ One Belt, One Road การบุกเบิกหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ขึ้นมาแทน และคำๆ นี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มหาอำนาจตะวันตกกำลังจับตาการขยายอิทธิพลของจีนผ่านทางสายไหมยุคใหม่แบบตาไม่กระพริบ
ถ้าจะสังเกต จะเห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่ลงทุนปลูกกล้วยในไทยและลาวอยู่ในรัศมีการคมนาคมลอจิสติกส์ของเส้นทาง R3A ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชียงของ แขวงบ่อแก้วขึ้นไปหลวงน้ำทา เมืองสิง เข้าสิบสองปันนา และมณฑลยูนนานที่ปัจจุบันสามารถวิ่งรถถึงกันได้ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว
ในแง่ของเศรษฐศาสตร์พื้นที่ตามแนว One Belt, One Road จึงเป็นส่วนต่อเพิ่มขยายของระบบเศรษฐกิจจีนพร้อมกันไป กล้วยนั้นเป็นผลไม้นำเข้าอันดับหนึ่งของจีนที่ขยายตัวเป็นสามเท่าในช่วงห้าหกปีมานี้ แต่เดิมจีนนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์และเอกวาดอร์ และก็อินโดนีเซีย ต่อมาระยะหลังกล้วยของฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางเขตแดนในทะเลจีนใต้บ่อยครั้งที่ถูกตีกลับหรือเผาทิ้ง มันจึงเป็นโอกาสให้กับพื้นที่ต่อเชื่อมลาว-ไทย ที่เป็นลอจิสติกส์เส้นทางใหม่ที่สะดวกกว่า เร็วกว่า
รัฐบาลจีนพยายามบอกกับประชาชนของตัวว่า One Belt, One Road เป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ เขาจึงสนับสนุนให้คนของตัวเองออกไปแสวงหาโชคลาภจากโอกาสใหม่อันนี้ในทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายเอเชียกลางที่เจาะลึกเข้าไปใน ประเทศที่ลงท้ายด้วย –สถาน ทั้งหลาย รวมถึงเส้นทางตอนใต้ผ่านลาว เข้าไทย เชื่อมไปถึงประเทศอาเซียนอื่น
สำนักข่าว RFA ระบุว่ารัฐบาลจีนอุดหนุนให้นายทุนน้อยๆ สัญชาติจีนของตนออกไปทำมาหากินนอกบ้านถึงรายละ 1-2 แสนดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว กรณีดังกล่าวเท็จจริงแค่ไหนอาจจะต้องพิสูจน์เพิ่มเติม แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการชาวจีนเป็นพันๆ รายที่ลงทุนทำมาหากินอยู่ตลอดแนวเส้นทาง R3A ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ไม่ใช่แค่ทำเกษตรปลูกกล้วย ทำสวนยางพาราเท่านั้น ยังมีธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร ไปจนถึงเครื่องไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ
การครอบงำตลาดของทุนจีนในภาคเหนือของลาวอาจจะเกิดผลกระทบด้านลบต่อประชากรเจ้าถิ่นยิ่งกว่ามลพิษจากสวนกล้วยอันเป็นรูปธรรมจับต้องได้ด้วยซ้ำไป – อาจจะเพราะว่าผลด้านลบของมันยังไม่แสดงออกมาชัดเจน หรืออาจจะด้วยยังไม่มีใครกล่าวถึง-ก็อาจเป็นได้
ผู้เขียนมีข้อสงสัยส่วนตัว อาจจะโดยความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดหรืออะไรก็แล้วแต่…ว่าเหตุความไม่สงบ การลอบยิงรถโดยสารและผู้คนที่สัญจรไปมาในเส้นทางหลวงพระบาง-พูคูน-กาสี รวมถึงแขวงไซสมบูนนับแต่เดือนพฤศจิกายนปีกลายมาถึงปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหม One Belt, One Road ของจีนที่จะเชื่อมลงสู่เวียงจัน ครอบคลุมไปถึงอินโดจีนได้ทั้งหมด
การก่อการไม่สงบดังกล่าว มีผลต่อแผนการก้าวรุกของจีนในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน!
และก็ไม่แปลกเลยที่สำนักข่าวสายนิยมตะวันตกโหมตีปี๊บปัญหามลพิษในสวนกล้วยจีนอย่างต่อเนื่องชนิดที่สื่อท้องถิ่นเองตามไม่ทัน
เพราะนี่เป็นจังหวะที่ต้องฉวย ตรงกับที่สำนวนภาษิตไทยว่าไว้…ได้ทีขี่แพะไล่ นั่นเลย!
*************
อ่านข่าวประกอบ