ประเทศเวียดนามเป็น
1 ใน 4 ประเทศในกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเทศใหม่ของอาเซียน เนื่องจากเป็น 4 ประเทศที่เข้ามาหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุด โดยประเทศเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกในปี 1995 ลาวและเมียนมาร์เข้าเป็นสมาชิกปี 1997 และกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกปี 1999
ทั้ง 4 ประเทศมีลักษณะที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือ ยังมีสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา และมีรายได้ต่อหัวด้อยกว่า 6 ประเทศอาเซียนเก่า เวียดนามนอกจากเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนอันประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community – APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) แล้ว ยังเป็นสมาชิกในกรอบGreater Mekong Subregion (GMS) เวียดนามจึงเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองผูกพันกับไทย จึงเป็นประเทศที่น่าสนใจในการวิเคราะห์และศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองในฐานะที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งของไทย
ในทางการเมือง เวียดนามยังมีลักษณะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เพราะยังเป็นระบบการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับจีนและลาว ระบบการเมืองดังกล่าวยังถือเป็นอุปสรรคต่อการเปิดประเทศในทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ผ่านมามีการประชุมสภาประชาชนและได้ผู้นำพรรคคือนาย เหงียน ซิง หุ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยมผิดกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ผู้นำคือนายเหงียน ถัน ดุง ซึ่งอยู่ในสายที่ต้องการปฏิรูป เปิดประเทศในทางเศรษฐกิจและมีนโยบายต่างประเทศส่งเสริมความใกล้ชิดกับจีน
ในทางเศรษฐกิจ เวียดนามมีพัฒนาการที่น่าสนใจ กล่าวคือ พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนามในยุคสมัยใหม่อาจแยกได้เป็น 5 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ปี 1986-1991 ในปี 1986 ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามที่เรียกว่า Doi Moi ซึ่งอยู่ในยุคที่เริ่มมีการผ่อนคลายการควบคุมของรัฐต่อเศรษฐกิจและเปิดโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจในภาคเอกชน แม้จะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม
ระยะที่ 2 ปี 1992-1999 เป็นยุคที่มีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญรวมทั้งด้านการเมือง โดยมการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปูทางดังกล่าวในปี 1992 ในยุคนี้เป็นยุคที่ระบบโลกเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น เป็นยุคคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตล่มสลาย เวียดนามต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น ปริบททางการเมืองดังกล่าวจึงทำให้เกิดการขยายตัวความสัมพันธ์กับฝั่งประชาธิปไตยคือสหรัฐอเมริกาซึ่งก็ปูทางไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค่อย ๆ ลด Sanction ทางเศรษฐกิจลง ยุคนี้เป็นยุคสร้างเสถียรภาพในมิติใหม่ทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
ระยะที่ 3 ปี 2000-2006 เป็นยุครุ่งเรืองของเวียดนามทางเศรษฐกิจ มีการเปิดประเทศ ขยายบทบาทของเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นช่วงที่มีการขยายตัวการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงนี้ลี่ยกว่า 7% ต่อปี และเป็นช่วงที่ปูทางสู่การเป็นสมาชิกของ WTO ของเวียดนามในปี 2007
ระยะที่ 4 ปี 2007-2013 เป็นระยะของวิกฤตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อันเป็นผลจากเงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้น ลูกโป่งในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นที่เคยขึ้นไป 1,100 กล่าว จุด ลดลงเหลือ 250 จุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เรานึกถึงยุคต้มยำกุ้งของไทย ธนาคารมีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นยุคที่เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ระยะที่ 5 ปี 2014- ปัจจุบัน ถือเป็นยุคที่เริ่มคลี่คลายปัญหาจากเศรษฐกิจและการเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขณะนี้เงินเฟ้อลดลงเหลือ 1% จากก่อนหน้านี้ที่สูงเกือบ 4.5% อัตราการเติบโตในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศเวียดนามขณะนี้มีการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยมีองค์ประกอบคือ
- มีการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการลงทุนโดยตรงของต่างชาติปี 2013 ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเวียดนามสะดวกรวดเร็วขึ้น และสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้กับต่างชาติ ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมีอัตราเร่ง
- เวียดนามได้ทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี และ 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2011-2020 โดยแบ่งเป็นแผนระยะกลาง 2 แผน คือ 2011-2015 และปัจจุบันเข้าแผนที่สองคือ 2016-2020 สาระสำคัญของแผนคือจะมีการดำเนินมาตรการ 3 เสาหลัก คือ
2.1 การพัฒนาผลิตภาพบุคลากรโดยเฉพาะการเน้นการศึกษาและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
2.2 ปรับปรุงองค์กรและสถาบันเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขัน
2.3 ปรับปรุงพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ในการประชุมสภาประชาชนของเวียดนามที่ผ่านมา ผู้นำได้ยอมรับว่าในช่วง 5 ปีแรก เป้าหมายของ 3 เสาหลักยังเป็นไปด้วยความเชื่องช้า ดังนั้นจึงมีการเร่งให้ 3 เสาหลักมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจของเวียดนามคือ เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก TPP และเป็นองค์ประกอบที่ผู้นำมองว่าจะเป็นเครื่องมือส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันในด้านหนึ่งคือได้เปรียบประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเช่น ไทย ในการค้ากับอเมริกา แคนนาดา และเม็กซิโก ประการหนึ่ง การเข้า TPP จะบังคับให้เวียดนามปรับปรุงคุณภาพสินค้า สุขอนามัย และ IT ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบต่อประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพราะในอนาคตสินค้าเวียดนามจะสามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนนาดา โดยไม่ถูกกีดกันจากหลักการ “ปฏิบัติเยี่ยงอย่างชาติ (National Treatment)” เพราะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญคือการเข้าสู่ TPP จะเป็นการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ดังจะเห็นว่าจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ขยายการลงทุนมาเวียดนามเพราะเห็นว่าเวียดนามอยู่ใน TPP นอกจากนั้น TPP จะนำมาซึ่งการค้าและการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังจะเห็นว่า Samsung Apple และ Intel ต่างเข้ามาจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในเวียดนาม
สิ่งที่น่าคำนึงในกรอบการแข่งขันคือ เวียดนามมีประชากร 90 ล้านคน เป็นประชากรซึ่งสนใจด้านการศึกษาอย่างมหาศาล แม้ในช่วงสงครามเย็น อัตราการรู้หนังสือของเวียดนามยังสูงกว่าไทย นอกจากนี้การศึกษาของเวียดนามยังเน้นการนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ คนเวียดนามมีลักษณะขยันและอดทน อีกทั้งมีความเป็นชาตินิยมสูง ดังจะเห็นว่า ประเทศเล็ก ๆ นี้ชนะประเทศใหญ่ 3 ครั้ง คือ ชนะจีน ชนะฝรั่งเศส (เดียนเบียนฟู) และชนะอเมริกา ข้อได้เปรียบอีกประการของเวียดนามคือค่าแรงที่อยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อเดือน ในขณะที่ไทยอยู่ที่ระดับ 300 ดอลลาร์ต่อเดือน นั่นคือค่าแรงที่เท่ากับแค่ 30 % ของค่าแรงไทย GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์ซึ่งก็เท่ากับ 30% ของไทยที่อยู่ที่ระดับ 5,200 ดอลลาร์ ค่าแรงดังกล่าวมีความได้เปรียบในการแข่งขันคู่ขนานกับการเป็นสมาชิก TPP อย่างไรก็ตาม ผู้นำเวียดนามได้มีการมองไปข้างหน้า (Proactive) และเตรียมป้องกันการแข่งขันจากพม่าซึ่งกำลังเปิดประเทศและค่าแรงถูกกว่า แนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนานั่นคือการปรับปรุงผลิตภาพของแรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ตลอดการส่งเสริมด้าน Infrastructure และเร่งพัฒนานวัตกรรม โดยส่งเสริมด้าน R&D
พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของเวียดนามจึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามและเป็นสิ่งที่ไทยต้องคำนึงในสนามการค้าและเศรษฐกิจที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น