ช่วยเหลือ SME ตอน 1: รัญชนา รัชตะนาวิน


ช่วงนี้ มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปทำงานโครงการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาธุรกิจในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์จะแตกต่างกัน แต่ปัญหาที่พบเจอกับเป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างกัน  ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่มีเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น สอดคล้องตามหลักภูมิศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์จะมีจุดเด่นของตัวผลิตภัณฑ์ที่ธุรกิจอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก แต่อาจจะต้องมีการพัฒนารูปแบบของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือรูปแบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อให้ดูดีขึ้น รวมถึงช่องทางในการกระจายสินค้าให้ลดต้นทุนมากที่สุด

ในบทความนี้ ขอเริ่มต้นจากสิ่งที่ธุรกิจ SME มีจุดแข็งและสามารถสร้างความแตกต่างๆ จากผลิตภัณฑ์อื่น และปัญหาที่พบ

ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ได้เข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาและแนะนำ ในเรื่องของ ผลิตภัณฑ์ นั้น แทบที่จะไม่ต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจมีความเชี่ยวชาญในการผลิต ผลิตภัณฑ์ของตนมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เช่น ทองม้วนสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งท่านมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จนถึงเกือบ 80 ปี และท่านได้ส่งต่อธุรกิจ สอนให้แก่ลูกหลานของท่านมายังอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งรุ่นที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่นี้ ก็เริ่มมีอายุประมาณ 40 – 50 ปีแล้ว คุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้น ยังคงรักษาได้เหมือนเดิมตามองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของครอบครัว สิ่งที่พบในจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนั้น ยังคงเป็นผลผลิตที่ได้จากการเกษตรดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อมะพร้าวที่นำมาผสม หรือไม้ที่นำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการใช้ทักษะของการรักษาความเป็นหัตถกรรม ที่ใช้แรงงานของคนเป็นหลัก ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต แต่ผลผลิตที่ได้ออกมานั้น ยังคงรักษาสภาพ มีความทนทานและมีคุณภาพ อย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างที่ 1 ทองม้วนสมุนไพร ยังคงใช้แรงงานคนในการทำ ม้วนแป้งแต่ละอันอย่างปราณีต พิถีพิถัน และเกิดของเสียน้อยมาก

ปัญหาที่พบ จากผลิตภัณฑ์ทองม้วนสมุนไพร เกิดจากการใช้แรงงานของคนในการผลิต ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเพิ่มขึ้น ในช่วงที่มีความต้องการ หรือช่วงเทศกาล แต่ในช่วงการผลิตปกติ หากไม่มียอดการสั่งซื้อ ทางผู้ประกอบการหรือเจ้าของจะไม่ผลิตเพื่อให้มีสินค้าไว้เผื่อขาย เนื่องจากสินค้านั้นมีอายุในการเก็บรักษาสั้น ซึ่งเกิดจากการใช้วัสดุของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถเก็บรักษาสินค้าได้นานเท่ากับบรรจุภัณฑ์ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสมัยใหม่

แนวทางแก้ไข ถ้าหากต้องการยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้าได้นานขึ้น  ผู้ประกอบการจำเป็นจักต้องลงทุนในการทำแบบขึ้นรูปและใช้เครื่องบรรจุภัณฑ์ชนิดอัดก๊าซไนโตรเจน โดยกระบวนการบรรจุแบบ Gas-Flushing เพื่อช่วยรักษาคุณภาพ และคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ไว้ให้นานที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษาอาหาร

เมื่อปรับวิธีการเพิ่มอายุการเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น ธุรกิจจะสามารถเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ที่รับสินค้าไปขายต่อสามารถที่จะมีระยะเวลาในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างที่ 2 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และไม่มีเงินทุนมากนัก ซึ่งยังคงใช้แรงงานและฝีมือของตนในการผลิต ทั้งกบ เหลา และเจียร์ให้ได้ความเนียนสวยของลายไม้

ปัญหาที่พบ จากผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ คือ ช่างไม้ที่มีประสบการณ์และมีฝีมือในการทำ จะเป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ จากบุคคลในรุ่นอดีต เมื่อตนมีความสามารถ และมีการสั่งทำ ทำให้ไม่สามารถรับงานได้คราวละหลายๆ คำสั่งทำได้ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรหรือลูกจ้างที่มีความเชี่ยวชาญเท่าตน จึงทำให้ตนเองนั้นจักต้องทำหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถทำได้ในเวลาเดียวกันได้ หากเจ้าของที่มีฝีมือต้องทำหน้าที่ในการผลิต เมื่อมีลูกค้ามาติดต่อในการสั่งทำ ตนเองจะต้องเสียเวลาในการเจรจากับลูกค้า และเมื่อต้องไปส่งสินค้าด้วยตนเอง จำเป็นจะต้องหยุดการผลิตและไปส่งสินค้าเอง

แนวทางแก้ไข เจ้าของธุรกิจจำเป็นจักต้องปรับเปลี่ยนการบริหารเวลาใหม่ รวมถึงมีการกระจายงาน โดยเริ่มจากการฝึกให้พนักงานหรือลูกจ้างนั้นมีทักษะและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อตนเองนั้นจะได้สามารถปล่อยงานให้ลูกน้องได้ทำแทนตนได้ ในส่วนของการขนส่งสินค้า หากกิจการมีเงินทุนน้อย ไม่สามารถจ้างพนักงานขับรถเพื่อไปส่งสินค้าได้ สามารถจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ที่ขับรถส่งของให้แทน โดยให้ผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่ง ทั้งนี้ อาจจะต้องมีความคุ้นเคย หรือไว้วางใจกับคนส่งของด้วย

เมื่อปรับวิธีการบริหารจัดการแทนได้ ผู้ประกอบการจะสามารถจัดการอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้  ทำให้สามารถรับงานและขยายงานให้มีลูกค้าได้เพิ่มขึ้น