อย่าพูด…แต่เรื่องที่อยากบอก


img_1739  

รศ.สุขุม นวลสกุล  

คนเป็นผู้บริหารมักจะมีเรื่องราวที่ต้องถ่ายทอดให้คนที่ทำงานด้วยได้รู้ได้ทราบอยู่เสมอ   เพื่อจะได้ทำให้ทำงานได้ตรงกับจุดประสงค์หรือนโยบาย   การบอกนี้อาจบอกเป็นครั้งคราว  บอกครั้งเดียว  บอกหลายครั้ง ก็แล้วแต่ทัศนคติของคนที่เป็นหัวหน้าที่มีต่อลูกน้องที่เป็นคนรับคำบอก

ถ้าคิดว่าลูกน้องเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วในการบอกครั้งแรกก็อาจจะบอกครั้งเดียวก็พอแล้วเรียกว่าไว้ใจ  ว่างั้นเถอะ   แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเข้าใจดีพอหรือเปล่าวันหน้าวันหลังก็อาจจะตามไปบอกอีกก็ได้เรียกว่ากันพลาดหรือกันไว้ก่อน  หรือแม้จะแน่ใจว่าเข้าใจแต่ก็กลัวไม่ทำตามเพราะเป็นคนดื้อรั้นก็อาจจะตามไปย้ำอีก

เพราะฉะนั้นคนเป็นนักบริหารจึงต้องพูดกับลูกน้องโดยประจำสม่ำเสมอทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  การพูดที่เป็นทางการที่นักบริหารใช้ในการพูดทำความเข้าใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้คือ “การประชุม” โดยการประชุมที่จะสนองจุดประสงค์เบื้องต้นคือ การประชุมในลักษณะพูดทางเดียวเป็นหลัก อาจเรียกว่า “ประชุมชี้แจง”

นั่นก็คือประธานจะเป็นฝ่ายพูดฝ่ายเดียว  มีเรื่องอะไรที่อยากให้ลูกน้องรู้ก็เอามาบอก  ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งก็มักจะมีหลายเรื่องเพราะมักจะนาน ๆ ประชุมกันที  หากประชุมบ่อย ๆ เรื่องก็อาจน้อยลง แต่เวลาที่ใช้ไม่แน่นอนนะครับ บางเรื่องอาจใช้เวลานานกว่าจะพูดให้เข้าใจ  บางเรื่องก็เข้าใจกันได้เร็ว   การประชุมแบบนี้อาจจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมหรือผู้ฟังมีส่วนร่วมก็ในลักษณะตั้งคำถามต่อเรื่องที่พูดเพื่อให้มีความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

เรื่องที่เอามาพูดเอามาประชุมย่อมเป็นเรื่องที่ทางผู้เป็นประธานเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรเอามาชี้แจงทำความเข้าใจ  เป็นเรื่องที่นักบริหารผู้เป็นประธานคิดว่าผู้เข้าร่วมประชุมควรรู้ควรทราบ   ส่วนผู้มีส่วนร่วมในฐานะผู้เข้าร่วมประชุมจะคิดว่าเป็นเรื่องสมควรประชุมหรือไม่เป็นเรื่องที่บางทีท่านประธานอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะสนใจ

ถ้าจะทำความเข้าใจง่าย ๆ  เรื่องที่พูดในที่ประชุมคือเรื่องที่ประธานอยากบอกให้ผู้ร่วมงานได้รู้ได้ทราบนั่นเอง  ส่วนผู้เข้าประชุมจะอยากรู้อยากทราบหรือไม่เป็นเรื่องที่หลายท่านประธานอาจจะไม่สนใจสักเท่าไหร่  บางคนอาจคิดไปว่าเมื่อมาทำงานกับเราก็ต้อง “ฟัง” สิ่งที่เราพูดแม้บางครั้งอาจจะถึงขั้นทนฟังก็ตาม

แต่โดยธรรมชาติหรือสัญชาติญานแล้ว  คนอยากฟังเรื่องที่เขาอยากรู้  เพราะฉะนั้นบางทีเวลามีการประชุมงานหรือประชุมบริษัทแล้ว  แม้จะใข้เวลานานแต่เต็มไปด้วยเรื่องที่บริษัทอยากให้รู้   แต่ไม่มีเรื่องที่พนักงานอยากรู้เลย  พอปิดประชุมพนักงานอาจจะบ่นในทำนองว่า  “ไม่เห็นมีอะไรเลย” “เรียกประชุมทำไมก็ไม่รู้” ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายบริหารอาจจะคิดตรงกันข้ามกับผู้เข้าร่วมประชุมแบบว่า “ประชุมคราวนี้ได้เนื้อได้หนังดีแท้”

ถ้าเป็นอย่างที่ว่ามา ต้องถือว่าการประชุมครั้งนั้นล้มเหลว เพราะผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย”  พาลไม่จดจำหรือสนใจสิ่งที่นักบริหารเห็นว่าสำคัญอุตส่าห์พูดสิ่งที่ควรรู้หรืออาจถึงขั้นต้องรู้ให้พนักงานฟังอยู่ได้ตั้งนานแสนนานกลับไม่มีคุณค่าอะไรสำหรับคนฟังหรือถึงมีก็ไม่เท่าที่ควร

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  สมัยบ้านเมืองเรายังปกครองในระบอบประชาธิปไตย  สมัยนั้นราคาน้ำมันที่เราใช้เติมรถยนต์ยังไม่ขึ้นกับราคาขึ้นลงในท้องตลาด  ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีจะเห็นสมควรโดยมีกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการบริหารราคาน้ำมัน

บางครั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นราคา  แต่รัฐบาลเห็นว่าควรตรึงราคาน้ำมันให้ต่ำไว้เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าขึ้นสูง  รัฐบาลก็สั่งให้ขายถูกกว่าราคาตลาดหน้าตาเฉย  ขาดทุนเท่าไหร่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรควักกองทุนน้ำมันจ่ายทดแทนไป จนบางครั้งกองทุนติดลบจนน่าเป็นห่วง   บางครั้งน้ำมันในตลาดโลกราคาลดลงสมควรลดราคาที่ขายตามปั๊มลง  รัฐบาลกลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้สั่งให้ขายราคาเดิมไม่ยอมลดแต่ดึงกำไรเข้ากองทุนเอาไว้สำรองจ่ายตอนน้ำมันราคาขึ้น

น้ำมันจะขึ้นจะลงขึ้นอยู่กับ “มติคณะรัฐมนตรี” เป็นหลัก  ราคาในท้องตลาดเป็นเพียงองค์ประกอบรองเท่านั้น กาลครั้งหนึ่งบ้านเมืองเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

มีอยู่ครั้งหนึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้น  วันสองวันขึ้นที  ประเทศต่าง ๆ ก็ปรับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นตามกระแสตลาด  แต่ประเทศไทยยังทำเฉยอยู่ยังตรึงขายราคาเดิมอยู่   ตอนนั้นพวกรถต่างประเทศตามแนวชายแดนวิ่งเข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทยแล้วกลับไปวิ่งในบ้านเมืองตัวเองเป็นทิวแถว

วันหนึ่ง ขณะที่คนไทยกำลังลุ้นระทึกอยู่ว่า “น้ำมันจะขึ้นราคาหรือไม่”  ก็มีตัววิ่งในโทรทัศน์ทุกช่องว่า  “คืนนี้เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. นายกรัฐมนตรีจะออกมาพูดจาปราศัยกับประชาชน” ในระบบทีวีพูล  ขอให้ประชาชนทุกหมู้เหล่าโปรดให้ความร่วมมือคอยฟังด้วย

แน่นอนครับ  วันนั้นคนไทยที่สนใจในความเป็นความเป็นไปของบ้านเมืองโดยเฉพาะสนใจอยู่ว่า ตกลงน้ำมันจะขึ้นราคาหรือเปล่า  นั่งฟังนอนฟังหรือถึงยืนก็คงฟัง  พอถึงเวลาท่านนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นคือคนที่อารมณ์ดี “ไม่มีปัญหา”ก็ออกมาหน้าจอตามนัด  ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาฑีก็ยกมือไหว้อำลาจอไป  สร้างความผิดหวังให้กับผู้รอชมเป็นอย่างมาก

เพราะตลอดเวลาที่ออกหน้าจอท่านพูดด้วยความภาคภูมิใจถึงการที่ถูกเชิญให้ไปพูดในการประชุมสหประชาชาติที่กำลังจะมาถึง   ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านตั้งใจจะไปพูดอะไรให้เขาฟังกันบ้าง  พอบอกจบก็ปิดฉากอำลาไปดื้อ  โดยไม่พูดถีงเรื่องการจะขึ้นหรือไม่ขึ้นราคาน้ำมันแม้แต่คำเดียว

คนฟังเขาคิดว่าท่านจะมาพูดเรื่องน้ำมันแต่ท่านกลับพูดแต่เรื่องการประชุม  ท่านพูดเรื่องที่อยากบอก คนฟังอยากฟังเรื่องที่อยากรู้   ไปคนละทางเลยละครับ  ท่านนะอาจจะสมหวังแต่คนฟังซิครับที่ผิดหวัง  หลายคนบอกว่าดีนะวันนั้นที่ดูหรือชมจากทีวีของตัวเอง  ถ้าเป็นทีวีสาธารณะของหลวงละก็อาจถึงขั้นต้องช่วยกันยกทุ่มให้แตกหักเสียหายไปเลยให้สมกับที่สร้างความผิดหวังให้

จริง ๆ แล้ว  ในการพูดวันนั้น ท่านอยากบอกเรื่องการไปประชุมสหประชาชาติก็ว่าไป  แต่สักตอนหนึ่งตอนจบก็ได้อย่าลืมพูดเรื่องจะเอาอย่างไรกับราคาน้ำมันให้ประชาชนได้รู้ในสิ่งที่เขาอยากทราบ   ยังไม่รู้จะเอาอย่างไรก็บอกไปตรง ๆ  เช่น เรื่องราคาน้ำมันตอนนี้ยังไม่ทราบจะเอาอย่างไร  ให้ข้าพเจ้ากลับจากสหประชาชาติแล้วค่อยว่ากัน หรือ ราคาน้ำมันขอให้ติดตามการประชุม ครม.คราวหน้านะครับ   ถึงผมไม่อยู่ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้วว่า ตัดสินใจได้เลย เอาไงก็เอากัน

ถ้าพูดครอบคลุมได้แบบนี้   ก็จะสมปรารถนาทั้งผู้พูดและผู้ฟัง   ผู้พูดได้พูด “เรื่องที่อยากพูด”  และคนฟังก็ได้ฟัง “เรื่องที่อยากรู้”   แต่ถ้าพูดแบบที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีพูดเป็นตัวอย่างไว้ก็ย่อมนำความไม่พอใจมาสู่ผู้ฟังอย่างแน่นอน

ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักบริหารที่มีเรื่องหลายเรื่องที่อยากบอกอยากเล่าให้พนักงานหรือผู้ร่วมงานฟัง  เวลาจะเรียกประชุมเพื่อจะได้พูด “สิ่งที่อยากบอก”นั้น  ลองคิดดูบ้างนะครับว่า สิ่งที่พนักงานเขาสนใจอยากฟังคือเรื่องอะไร  ส่วนที่จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาสนใจเรื่องอะไรกันก็ทำได้ตั้งหลายทาง

จะตั้งตู้รับฟังความคิดเห็นของพนักงานก็ย่อมได้  จะใช้วิธทางวิทยาศาสตร์ทำแบบสำรวจ ทำโพลฏ็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด  จะใช้ให้แต่ละกลุ่มแต่ละแผนกระดมความคิดสร้างคำถามมาก็ได้   หรือถ้ามีสหภาพ ฯ หรือชมรมพนักงาน อะไรอยู่ก็ถือโอกาสใช้ประโยชน์เสียเลย

                ขอยืนยันว่าเพื่อทำให้พนักงานเห็นความสำคัญหรือให้ความสนใจต่อการประชุมของนักบริหาร   หัวข้อในการประชุมอย่ามีแต่เรื่องที่นักบริหารอยากบอกเท่านั้น ต้องมีเรื่องที่พนักงานอยากรู้ปนอบู่ด้วย จะสัดส่วนน้อยกว่าประเภทแรกก็ไม่เป็นไร  และควรเป็นเรื่องที่เขาอยากรู้จริง ๆ  ไม่ใช่เรื่องเราคิดแทนเขาว่าเขาอยากรู้