สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
ในขณะนี้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังอยู่ในภาวะเศร้าโศกจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาวะดังกล่าวนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการน้อมนำหลักปรัชญาและสืบสานพระ ปณิธานในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
หลักเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย 3 องค์ประกอบซึ่งยึดทางสายกลางเป็นหลักและ 2 เงื่อนไข โดย 3 องค์ประกอบดังกล่าวคือ 1. แนวคิดในด้านพอประมาณ 2. การมีเหตุมีผล (Reasonableness) 3. การสร้างภูมิคุ้มกัน โดยทั้ง 3 จะสำเร็จได้จากการบรรลุเงื่อนไข 2 ประการคือ 1. การมีความรู้ และ 2. การมีคุณธรรม การจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศหรือของส่วนตัวก็คือ การพัฒนาความรู้หรือการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำความรู้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม แนวทางดังกล่าวนั้นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายของรัฐบาลในการที่จะบรรลุสู่เป้าหมาย 4.0
จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) นั้นเกิดจากแนวคิดของนาย John Howkins ซึ่งได้เขียนแนวคิดว่าด้วย Creative Economy ในปี 2001 โดยอธิบายว่าเป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งเน้นคุณค่าบนพื้นฐานของคุณภาพบนจินตนาการใหม่ ๆ แทนที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นทรัพยากรอันประกอบด้วยแรงงานและเงินทุนแบบเก่า เศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) จะมีความหมายกว้างและครอบคลุมมากกว่าอุตสาหกรรมในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industry) กล่าวคือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีนวัตกรรมและครอบคลุมทุกกิจกรรมของระบบเศรษฐกิจ นักวิชาการบางคนกล่าวว่า การพัฒนาในด้านความสร้างสรรค์เป็นลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งผิดกับยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิต (Manufacturing)
ความหมายของเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) จะเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาจินตนาการและความสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กิจกรรมในการสร้างสรรค์ดังกล่าวอาจมีองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรมหรือไม่มีก็ได้ อาจกล่าวได้ว่า ในลักษณะเศรษฐกิจดังกล่าวนั่น ความคิดในเชิงสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลเป็นทั้งจุดกำเนิดของคุณค่าและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ธุรกรรม เศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์อาจจะครอบคลุมการผลิตสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ของเล่นและเกม ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนา นักวิเคราะห์บางคนได้แบ่งเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และ 2. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม
การเน้นเรื่องทรัพยากร (Resource eased) และประสิทธิภาพ (Efficiency driven) ในยุคศตวรรษที่ 20 หรือยุคสังคมหลังอุตสาหกรรม (Post industrial society) อันเป็นสังคมข่าวสาร ความรู้ และ Network ในยุคดังกล่าว องค์ประกอบสำคัญคือข้อมูลความรู้ซึ่งถูกให้ความสำคัญมากกว่าความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และไม่ได้คำนึงถึงการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล หรือบริบททางวัฒนธรรม นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ศิลปะและวัฒนธรรมได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบเศรษฐกิจ นำไปสู่แนวคิดที่ว่าด้วยอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) อันเป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ Design และสื่อ ประเทศที่มีส่วนในการพัฒนาแนวคิดดังกล่าวคือประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมและกีฬา โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 14 อุตสาหกรรมในปี 1998 แต่บุคคลที่มีความสำคัญในการพัฒนา Creative Economy คือนาย Richard Florida ซึ่งสร้างสรรค์ Creative Class (ชั้นเรียนในเรื่อง Creative Economy) และนาย Charles Landry ซึ่งริเริ่มเรื่องเมืองสร้างสรรค์ (Creative city)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีบทบาทอย่างมากคือนาย John Howkins ที่ได้กล่าวมาตั้งแต่แรก โดยทั้งนี้เขาให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์เหนือข้อมูลและวัฒนธรรม เขาให้คำจำกัดความคำว่า ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์คือ สินค้าและบริการและประสบการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากจินตนาการสร้างสรรค์ และมีลักษณะเป็นส่วนตัว มีความหมายและมีความใหม่ (นวัตกรรม) เศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) อาจแบ่งสินค้าและบริการเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องของการให้เทคโนโลยีมาผสมกับจินตนาการในการสร้างสรรค์ ซึ่งอาจหมายถึง ภาพยนตร์ การขายหนังสือแบบใหม่ เช่น Amazon.com การขายหนังแบบ Netflix, Google และอื่น ๆ ในอีกส่วนหนึ่งของ Creative Economy หมายถึงสินค้าและบริการของประเทศซึ่งได้รับการเติมแต่งแนวคิดเชิงสร้างสรรค์บนบริบทของสังคมและวัฒนธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่เรื่องอาหารจากการเผยแพร่ภาพยนตร์เกาหลี แดจังกึม และอื่น ๆ อีกประเทศหนึ่งที่หันมาเน้น Creative Economy คือ มาเลเซียซึ่งเน้นเรื่อง Blue Ocean สำหรับรัฐบาลไทยในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์จะเป็นความหวังที่จะนำพาประเทศไทยหลุดออกจากกับดับของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) Creative Economy ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความรู้และความสร้างสรรค์จินตนาการและจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ภายใต้การสรรเสริญของเศรษฐกิจโลก