ข้อแนะนำเรื่อง CSR สำหรับ SME


มีหลายคนถามว่า การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นั้น มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หรือไม่ และถ้าเอสเอ็มอีจะลุกขึ้นมาทำ CSR จะมีข้อแนะนำและข้อควรพิจารณาอย่างไรบ้าง

เบื้องแรก อย่าเข้าใจผิดว่า องค์กรของท่านยังไม่มี CSR หรือยังไม่ได้ทำ CSR เพราะการที่องค์กรของท่านเติบโตและยืนหยัดอยู่ในทุกวันนี้ได้ แสดงว่า กิจการของท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย มิฉะนั้น สังคมคงไม่อนุญาตให้ท่านได้ทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ หรือไม่ยอมรับท่านให้เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมเช่นนี้

แน่นอนว่า การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการของเอสเอ็มอี ย่อมต้องมีความแตกต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ นั่นก็เป็นเพราะขนาดของทรัพยากรที่มีในกิจการ ขีดความสามารถในการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบที่ส่งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีความแตกต่างกัน การดำเนินงาน CSR ของเอสเอ็มอี จึงควรคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนที่ได้ประสิทธิภาพ และไม่มุ่งเน้นเรื่องเม็ดเงินงบประมาณ

ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก เอสเอ็มอีจึงมีศักยภาพในการใช้ความคล่องตัว และความคิดแปลกใหม่ตอบสนองต่อโอกาส หรือประเด็นปัญหาทางสังคมได้ดี อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในการทำ CSR เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นและการที่ผู้บริหารสามารถชี้นำกิจกรรมขององค์กรได้อย่างทันทีทันใด

ข้อแนะนำและข้อควรพิจารณา 5 ประการ สำหรับเอสเอ็มอีในเรื่อง CSR ได้แก่

1.เนื่องจากธรรมชาติในเรื่องการบริหารงานภายใน การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย และในกระบวนการอื่นๆ ของกิจการเอสเอ็มอี มักมีความยืดหยุ่นและลำลองกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ความโปร่งใสในการดำเนินงานจึงควรได้รับความคาดหวังในระดับที่เหมาะสม และแตกต่างจากองค์กรขนาดใหญ่

2.การกำหนดขอบเขตของการดำเนิน CSR รวมถึงการตอบสนองต่อเรื่องหลัก และการระบุประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวเนื่อง จะต้องคำนึงถึงบริบท เงื่อนไข และทรัพยากรขององค์กร ตลอดจนประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยไม่จำเป็นว่า เอสเอ็มอี จะต้องสนองตอบในทุกๆ ประเด็น เพียงแต่ให้ครอบคลุมในทุกเรื่องหลัก และเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

3.มุ่งเน้นในประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอี ควรมีแผนการดำเนินงานเพื่อสนองต่อประเด็นอื่นๆ ที่ยังมิได้ดำเนินการ ในห้วงเวลาที่เหมาะสม

4.แสวงหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติด้าน CSR ที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ และตรงกับความต้องการของกิจการตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

5.ดำเนินงานด้วยการร่วมมือกับองค์กรข้างเคียงและกับธุรกิจที่อยู่ในสาขาเดียวกัน แทนการดำเนินงานโดยลำพังเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ เพื่อการประหยัดทรัพยากรและการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้าน CSR

ข้อแนะนำและข้อควรพิจารณาสำหรับเอสเอ็มอีข้างต้น เรียบเรียงจาก มาตรฐานข้อแนะนำว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000: 2010) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อกิจการที่สนใจในเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองบ้างไม่มากก็น้อย