ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs
การประกอบธุรกิจของ SMEs ในลักษณะของบุคคลธรรมดา จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายภาษีอากร หรือประมวลรัษฎากร ได้จำแนกเงินได้พึงประเมินทั้งที่เป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงกายทำงาน และเงินได้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้แรงกายทำงาน แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ฯลฯ
ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม ฯลฯ
ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่นหรือคำพิพากษาของศาล
ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ
ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน (ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้ เนื่องจาก การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ คือ วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ (ทั้งค่าแรงและค่าของ) เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตามแบบหรือตามคำสั่งของลูกค้า ไม่ได้ทำมาเพื่อจำหน่ายตามปกติทั่วไป
ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 (เงินได้ใดที่ไม่เข้าเกณฑ์ประเภทที่ 1 -7 ก็จะถูกจัดให้อยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 นี้)
เหตุผลที่จะต้องแบ่งประเภทเงินได้ออกเป็นกลุ่มๆ ถึง 8 ประเภทดังกล่าวนี้ เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทจะมีต้นทุนในการดำเนินการที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีผลต่อการหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายที่ไม่เท่ากันเช่นกัน
โดยบางประเภทหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่า บางประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ต่ำกว่า และบางประเภทไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เลย เนื่องจากกฎหมายมองว่าเงินได้ประเภทนี้ไม่มีต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งการกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยพิจารณาถึงต้นทุนในการดำเนินการหรือการออกแรงนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสมต่อผู้มีเงินได้พึงประเมินในแต่ละประเภท
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs โดยส่วนใหญ่จะมีเงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่ถูกจัดอยู่ในประเภทเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 – 8 ซึ่งได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ และเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มประเภทเงินได้พึงประเมินที่ 1 – 7 ได้
ตัวอย่างเช่น การขายสินค้าทางออนไลน์ ก็จัดอยูในกลุ่มเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 นี้ ดังนั้น การประกอบกิจการใด หากมีเงินได้เกิดขึ้น ก็จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้น เว้นแต่ จะมีกฎหมายกำหนดอย่างชัดเจนให้ไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้น