7 อุปนิสัยสีเขียว เพื่อโลก


อุปนิสัยสีเขียว (Green Habits) เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกถึงความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) ซึ่งเป็นกระแสของโลกภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจจำต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่าง ๆ ที่อิงกับ Green Habits เพิ่มขึ้น

อุปนิสัยแห่งการลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นพฤติกรรมที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากร การบริโภคผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย ที่มีการรณรงค์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

REDUCE

โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน จงช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือแต่เท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่

REUSE

สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง

RECYCLE

เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งให้เสื่อมโทรมหรือเก็บไว้เฉย ๆ โดยเปล่าประโยชน์

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ 7 อุปนิสัยสีเขียว หรือ 7 Green Habits โดยได้เพิ่มเติมอุปนิสัยแห่งการคิดใหม่ (Rethink) การปฏิเสธ (Refuse) การปรับสภาพ (Recondition) และการคืนกลับ (Return) ที่เป็นการทบทวนและปรับเปลี่ยนกิจกรรมทั้งในกระบวนการทำงานและในการดำเนินชีวิตในทิศทางที่ก่อให้เกิดผลดีกับโลก

RETHINK

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใด ๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือนำเสนอสิ่งใหม่ (Reinvent) ที่ต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป การต่อยอดขยายผลหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยความคิดใหม่ อาจดีกว่า ประหยัดกว่า และทุ่นเวลากว่าการต้องเริ่มใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เมื่อคิดได้แล้ว ต้องลงมือทำ

REFUSE

การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อน สุดท้ายทั้งโลกก็ร้อนขึ้น

RECONDITION

ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซม (Repair) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม จงพยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา ให้หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น ขณะที่อุปกรณ์บางจำพวกอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือทดแทน (Replace) ด้วยอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน

RETURN

หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มาก ๆ ผลกระทบใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินงาน ก็ต้องพยายามฟื้นฟู ทำให้คืนสภาพ หรือทำให้สมบูรณ์ (Replenish) ดังเดิม เมื่อใดที่ริเริ่มเป็นผู้ให้ได้โดยมิต้องบังคับหรือร้องขอ เมื่อนั้นเราก็จะได้รับกลับคืนอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน

นอกจากการประมวลเนื้อหา 7 อุปนิสัยการดำเนินชีวิตและการทำงานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมแล้ว หนังสือเล่มนี้ ยังได้รวบรวมแบบทดสอบอุปนิสัยที่จะช่วยในการสำรวจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย

หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันและเวลาทำการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ