สถานการณ์ในปัจจุบัน ได้พัฒนาจากสถานะ Response คือ ช่วงการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาดจากจุดสูงสุด มาสู่จุดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เข้าสู่สถานะ Recovery คือ ช่วงการฟื้นสภาพการดำเนินงานให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาสำหรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย ประมาณ 1 ปี นับจากนี้
ในภาคธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ จะมีบทบาทในช่วงการฟื้นฟูที่แตกต่างกันตามลักษณะและขนาดของกิจการ บริษัทหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มักมุ่งที่การดำเนินงานและปฏิบัติการในระดับมหภาค ขณะที่บริษัทท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะดำเนินความช่วยเหลือที่เป็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน
โดยขอบข่ายการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการดำเนินผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน รูปแบบการให้และกิจกรรมเพื่อสังคม ภายในชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่ และรูปแบบการเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะต่างๆ
รูปแบบการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด
การใช้ธุรกิจแกนหลัก (Core Business) และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และลักษณะของการเข้าให้ความช่วยเหลือร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสถานการณ์โควิด การพิจารณาโอกาสในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน เช่น การบริจาค และการอาสาในหมู่พนักงาน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระยะของการช่วยเหลือ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อชักนำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งบทบาทหลังนี้ จะสามาถขยายผลด้วยการแสดงคำมั่นอย่างจริงจังต่อการร่วมฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ
ขณะที่สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญจำเพาะในการรับมือกับประเด็นความท้าทายที่อยู่เกินขอบเขต อำนาจ และความสามารถในการทำงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การรวมกลุ่มทำงาน สามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับรัฐ ธุรกิจกับประชาสังคม หรือผสมผสานระหว่างกลุ่ม ทั้งนี้ การทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) จะช่วยเพิ่มกำลังและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการรับมือสถานการณ์ และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย
อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือจำเพาะที่แต่ละบริษัทและแต่ละสมาคมธุรกิจในช่วงสถานการณ์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
• สาขาอุตสาหกรรม และชนิดของสินค้า บริการ ทรัพยากร และทักษะที่มีอยู่
• รูปแบบ ขนาด และโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธุรกิจ
• ถิ่นที่ตั้ง ที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานของทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานในท้องถิ่น นอกเหนือจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
• จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ การคำนึงถึงการดำเนินงานเฉพาะองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเอง หรือผ่านมูลนิธิที่องค์กรจัดตั้งขึ้น หรือร่วมกับบริษัทอื่น ภาคีอื่น เช่น รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ
บทบาทของภาคธุรกิจในระยะฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีความสำคัญยิ่ง และไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับการทำธุรกิจตามปกติเท่านั้น แต่การดำเนินบทบาทเหล่านี้ยังสามารถนำไปสู่การสนับสนุน (และชี้นำ) การทำงานขององค์กรในหลายขั้นตอนจากนี้ไป
จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการวางแผนรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คล้ายคลึงกันในอนาคต รวมไปถึงการตระเตรียมบทบาททางธุรกิจเฉพาะสาขาที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับท้องถิ่น การกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจที่มีส่วนในการฟื้นฟูและสร้างผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน