กระแสเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่พุ่งเป้าหมายเพียงเพื่อความยั่งยืนของกิจการแต่เดิม ได้ถูกยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อให้ครอบคลุมโจทย์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากพัฒนาการเรื่อง CSR ในปัจจุบัน ได้กำหนดพรมแดนใหม่ในการดำเนินความรับผิดชอบที่ขยายวงไปสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงขอบเขตขององค์กรอีกต่อไป
องค์กรธุรกิจในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบ จากการขยับรับโจทย์ CSR จากเบื้องบน มาสู่การจับสัญญาณ CSR จากคู่ค้ารอบข้าง ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวโน้มสากลและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของโลก
กรณีที่เกิดขึ้นในสายอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องความบกพร่องหรือการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เป็นตัวเร่งเร้าให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องผลักดันให้ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในสายอุปทานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเข้มงวด
ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกไหนก็จะต้องรับเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ ด้วยความจำยอม แม้ไม่มีกฎหมายในประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
ในหลายประเทศผู้ส่งมอบ บรรดา SMEs ต่างต้องปวดหัวและเสียเวลาไปกับภาระเกินจากการฝึกอบรม และการตรวจสอบหลายซ้ำหลายซ้อนจากภายนอก เพียงเพื่อให้บรรดาคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและวางใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนว่ามีความรับผิดชอบถึงขนาดที่ค้าขายกันได้ อุบัติการณ์นี้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญในเวทีการค้าสากล
คำถามมีอยู่ว่า SMEs ต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจกลุ่มหนึ่งอาจไม่ต้องปรับอะไร หากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่ หรือธุรกิจที่ดำเนินอยู่ไม่ได้เดือดร้อน เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพายอดขายจากคู่ค้าเหล่านี้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรก็มีผู้ส่งมอบหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบในฝั่งต้นน้ำที่ต้องเชื่อมั่นได้ว่าวัตถุดิบที่ได้รับมีความปลอดภัย ได้คุณภาพ และไม่สร้างปัญหากับสังคม (โดยเฉพาะกับลูกค้าขององค์กร) ในภายหลัง หมวกใบหลังนี้ องค์กรเองก็จำต้องมีหน้าที่ตรวจตราในฐานะคู่ค้าที่ต้องการระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยอมรับได้เหมือนกัน ต่างกันเพียง ใครจะส่งอิทธิพลต่อกันก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง
ส่วนองค์กรธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากคู่ค้าในแบบที่เลี่ยงไม่ได้หลบไม่พ้น ต้องเล่นตามกติกาใหม่ ก็จำต้องศึกษาและหาวิธีบริหารจัดการกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและคุณค่าจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ยกตัวอย่างกรณีการรับการฝึกอบรมจากภายนอกที่มีความหลากหลายสะเปะสะปะและไม่ได้เนื้อได้หนัง ก็เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของบุคลากรจากภายในอย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ หรือกรณีการบริหารการตรวจสอบกระบวนการจากหลายคู่ค้าที่กินเวลาและซ้ำซ้อน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปรับกระบวนการให้เข้ากับมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่บรรดาคู่ค้าเหล่านั้นให้การยอมรับร่วมกันและมีระยะเวลาการรับรองและการตรวจสอบที่แน่ชัด เป็นต้น
การทำ CSR เพื่อความยั่งยืนในระดับห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายยิ่ง ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในแง่ของการเข้าร่วมและสนับสนุนหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ตลอดจนการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมและผลได้ทางธุรกิจไปพร้อมกัน