คนทำงานเรามีพร้อมหรือยัง? กับการรุกคืบของรัฐ “โรงไฟฟ้าชุมชน”


การเติบโตของการใช้พลังงานทดแทนในบ้านเรา เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาพลังงานทดแทนใหม่แทนถ่านหิน หรือฟอสซิล เพื่อเอาไปผลิตพลังงานไฟฟ้า สำหรับการสร้าง และพัฒนาประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย

อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลตั้งความหวังเอาไว้มากพอสมควร กับโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่เป็นขนาดโรงไฟฟ้าระดับชุมชนขนาดไม่ใหญ่แค่เพียงไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ วัตถุดิบที่เอามาใช้ผลิตจะเป็นพืชพลังงาน ซากพืชผลทางการเกษตร น้ำเน่าเสีย ผ่านกระบวนการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ หรือเผาเป็นชีวมวล เพื่อเอาพลังงานนั้นไปต่อยอดผลิตไฟฟ้า และกระจายโรงไฟฟ้าชุมชนแบบนี้ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย

แผนทุกอย่างเริ่มเดินหน้า ทั้งการตีกรอบป้องกันปัญหาวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟฟ้าขาดแคลน การทำเกษตรพันธะสัญญากับชุมชน และการให้หุ้นโรงไฟฟ้าชุมชนกับตัวชุมชนเอง เป็นต้น แต่อีกสิ่งที่กำลังจะตามมาเมื่อโรงไฟฟ้าชุมชนอุบัติขึ้น คือในเรื่องของบุคลากร

เพราะแน่นอนว่าโรงไฟฟ้า คงไม่ใช่ใครคนไหนเข้ามาทำงาน หรือคุมงานได้ เพราะมันพันเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านพลังงานที่ต้องควบคู่กันไป ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นมาหลายจุด แต่คำถามที่ตามมาคือ เรามีคนทำงานพอหรือไม่

หลายมหาวิทยาลัย หลายสถาบันศึกษา ต่างมองเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าศักยภาพการผลิตกำลังคน หรือป้อนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มนักศึกษา คณะวิศวกรรม คณะวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงคณะเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าด้วยนั้น มีความพร้อมอยู่บ้าง แต่ตัวกำลังคนในการป้อนเข้าสู่ตลาดงานด้านพลังงาน อาจจะยังไม่เพียงพอ

เพราะใน 1 โรงไฟฟ้าชุมชน แม้ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก แต่ก็ต้องใช้บุคลากรอย่างน้อย 5 สายงานด้วยกัน ประกอบด้วย

1.วิศวกรรมเครื่องกล – ทำหน้าที่ดูแลเครื่องจักร ซ่อมบำรุงงานเครื่องจักรในวิศวกรรม
2.วิศวกรรมไฟฟ้า – ทำหน้าที่ดูแลระบบการผลิตไฟฟ้า และระบบสายส่งไฟฟ้า
3.วิศวกรสิ่งแวดล้อม – ทำหน้าที่ผลิตก๊าซชีวภาพ ก๊าซชีวมวลในโรงไฟฟ้าชุมชน
4.นักวิทยาศาสตร์ – ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพของก๊าซชีวภาพ ก๊าซชีวมวล เพื่อให้ได้สัดส่วนเหมาะสมผลิตไฟฟ้า
5.นักสังคม-นักเศรษฐศาสตร์ – ทำหน้าที่เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และโรงไฟฟ้า รวมไปถึงจัดการวัตถุดิบ

เห็นได้ชัดว่า โรงไฟฟ้าขนาดเล็กก็ต้องใช้บุคลากรอย่างน้อย 5 คน จาก 5 สายงาน 5 วิชาองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ซึ่งทุกตำแหน่งนั้น หากมองในแง่ความเจริญก้าวหน้าแล้ว ทุกสายงานเดินหน้าไปหาความสำเร็จได้หมด หรือแม้แต่หางานในบริษัท โรงงานขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย และรับเงินเดือนสูงๆ ได้ด้วย

แต่สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ต้องตั้งอยู่ในชุมชน อาจจะ “ห่างไกล” จากความเจริญ สิ่งใดจะเป็นการดึงดูดให้ 5 สายงานนี้่อยู่กับโรงไฟฟ้าและทำงานได้อย่างยั่งยืนยาวนาน ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการลงทุนอาจจะต้องวางแผนรับมือ และยื่นข้อเสนอต่างๆ กันเอง

กระนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขของบุคลากร หรือคนรุ่นใหม่ที่เตรียมป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน จากเท่าที่ได้คุยกับอาจารย์หลายคนถึงประเด็นนี้ ต่างสะท้อนว่า อาจจะไม่ทัน หากมีการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชนปานดอกเห็ด มันมีคนไปทำงานไม่ทันแน่นอน

อีกอย่างคือเรื่องของรายได้ ซึ่งก็มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้เช่นกันจากทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ นักลงทุน ที่สนใจในด้านธุรกิจพลังงาน เพราะต้องไม่ลืมว่าองค์ความรู้ที่เฉพาะด้านในแต่ละสายงาน ก็ย่อมมีคุณค่าและมีความหมายพอทำให้คนที่จบการศึกษามา เอาไปแลกเป็นเม็ดเงินที่หล่อเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ต้องการ หรือหมายความ “เงินเดือน” ก็ต้องมากตามไปพร้อมกับองค์ความรู้เฉพาะทางนั้นเอง

โรงไฟฟ้าชุมชน อาจจะต้องจ่ายเงินเดือนในเรตราคาเดียวกับการจ้างงานวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล หรือตำแหน่งงานอื่นๆ ที่อยู่กับบริษํทใหญ่เช่นกัน พร้อมกับข้อเสนอเพื่อให้อยู่ทำงานกับชุมชนไปได้เป็นระยะเวลานานตามความต้องการ

แต่เมื่อมองสเกลที่ใหญ่ขึ้น กลุ่มนักวิชาการมองว่า ภาครัฐอาจจะต้องวางแผนรองรับเรื่องการผลิตบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานไว้บ้างเช่นกัน หากว่าจะเดินหน้าสนับสนุนตามแผนโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังผลักดันอยู่ และต้องการให้เกิดขึ้นมากและเพียงพอกับทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะกับการสร้างคนในพื้นที่ เพื่อทำงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าจะหาคำตอบได้ลงตัวมากที่สุดสำหรับการสร้างความยั่งยืนให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน

การเจริญเติบโตของเทคโนโลยี เมือง และการใช้พลังงาน มันมีมิติที่หลากหลายและเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต สังคม และสภาพเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน แม้ว่าภาพอนาคตจะมีความชัดเจนในด้านความยั่งยืนสำหรับการใช้พลังงานในประเทศ แต่ในซอกหลืบเล็กๆ ของการพัฒนา ก็อาจจะมีปัญหาเล็กๆ ที่ต้องแก้ไข อย่างเช่นการวางแผนบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมด้านนี้ ก่อนจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต