กระแสกัญชา ในธุรกิจเครื่องดื่มของประเทศไทย แม้ในครึ่งปีแรกของปี 64 บริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายจะหมายมั่นปั้นมือให้เป็นปีทอง ตามกระแสกัญชาฟีเวอร์ แต่ด้วยพิษโควิด-19 และปัญหาเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่ดูจะไม่สอดรับกับการทำธุรกิจ จึงทำให้มีการเลื่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกไป
หลังจากอัดอั้นมานาน ด้วยการประเมินสถานการณ์ “กระแสกัญชาฟีเวอร์” ซึ่งจะต้อง “ตีเหล็กเมื่อแดง กินแกงเมื่อร้อน” ทำให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำการตลาด จากผลิตภัณฑ์บรรจุขวด และหันมาเล่นในรูปแบบเปิดหน้า “ร้านคาเฟ่” ในทำเลทองย่านธุรกิจ เพื่อการเข้าถึงง่าย เจาะกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น ในระหว่างรอประกาศหลักเกณฑ์การบรรจุภัณฑ์ของ อย.
เจ้าธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง “อิชิตัน” ที่มีตุนสร้างพันธมิตร แหล่งผลิตกัญชา-กัญชง ที่คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตการปลูกถูกกฎหมายไว้ในสต๊อก เพื่อรอไฟเขียวจากกฎหมาย ในระหว่างนี้จึงชิงส่งผลิตภัณฑ์ “อิชิตัน กรีนแล็บ” น้ำชาเขียวที่มีส่วนผสมของเทอร์ปีน สังเคราะห์ ที่มาจากคาโมมายล์ กลิ่นเทอร์ปีน และกลิ่นเลมอนเทอร์ปีน มาชิมลางวัดกระแสของผู้บริโภค
โดยเล็งเป้าการจำหน่ายผ่านตู้สินค้าอัตโนมัติกว่า 13,000 ตู้ ที่ให้บริการในเขตพื้นที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สถานีรถไฟฟ้า BTS MRT คอนโดมิเนียม พร้อมกับการเปิดตัว “อิชิตัน กรีนแล็บ เดอะ แคนนาบิส คลับ” ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีเมนูส่วนผสมของกัญชากว่า 30 เมนู โดยมั่นใจว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 500 ล้านบาทภายใน 1 ปี
ขณะที่ “เซ็ปเป้” อีกหนึ่งผู้ผลิตเครื่องดื่ม ได้เปิดตัวหน้าร้าน “HAVE A sip DAY CAFE by เพรียว” และร้าน “All Coco” จำหน่ายเครื่องดื่ม 4 เมนูที่มีส่วนผสมของกัญชา ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 64 ก่อนที่จะเครื่องดื่มซีรีย์ใหม่ที่มีกลิ่น “เทอร์ปีน” ซึ่งได้รับการคิดค้นให้มีกลิ่นใกล้เคียงกับกัญชา ให้ได้มากที่สุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มวัยรุ่นได้ชิมลางก่อน โดย SAPPE คาดหวังว่า กลุ่มเครื่องดื่มนี้ จะช่วยดันยอดรายได้ให้เติบโตทั้งปีได้ 10-15%
โดยหากย้อนกลับไปดูผลดำเนินงานปี 63 พบว่า เซ็ปเป้ มีกำไรสุทธิ 380.1 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 3,268.08 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากลุ่มเครื่องดื่มกัญชา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะทำให้มีรายได้ประมาณ 300 กว่าล้านบาท
ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ในตลาดเครื่องดื่มอีก 1บริษัทอย่าง “ทิปโก้ฟู้ด” ซึ่งกำลังคอยโอกาส เปิดตัวผลิตภัณฑ์ปิดผนึกที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็วสุดในไตรมาส 3 ของปีนี้
แต่เมื่อธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ โดยในระหว่างรอใบอนุญาตดังกล่าว “ทิปโก้” จึงประกาศแผนระยะสั้น ลงมาขายผลิตภัณฑ์กัญชาถูกกฎหมายแบบเต็มรูปแบบผ่านหน้าร้าน “Squeeze Bar” และช็อปออนไลน์ “Ganchashop” โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม อาหารสด ผลิตภัณฑ์คุกกี้ รวมถึงขนมปัง ซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ คือ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และ คลินิกการแพทย์ไทยร่วมสมัย รพ.มะเร็งอุดรธานี โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็วสุดในไตรมาส 3 และจะสามารถเริ่มเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าด้วยความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเครื่องดื่ม ของ 3 แบรนด์ใหญ่ดังกล่าว จึงไม่พลาดกับโอกาสทองในกระแส “กัญชาฟีเวอร์” ซึ่งถือเป็นโอกาสขยับรายได้ในตลาดเครื่องดื่มที่ซบเซาลงหลังผลพวงจากการแพร่ะระบาดของโควิด-19 และเมื่อมีอุปสรรคข้อกฎหมาย ก็สามารถที่จะปรับกลยุทธ์ลงมาเล่นกับคู่แข่งอย่างผู้ประกอบการ SME ในส่วนของร้านอาหารและคาเฟ่กัญชาได้อย่างไม่เคอะเขิน
ตลาดกัญชา ต่อจากนี้จึงน่าจับตา เพราะดูเหมือนจะกลายเป็น “Red Ocean” หรือ “ทะเลสีเดือด” ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กต้องมองถึงแผนธุรกิจปรับกลยุทธ์ให้อยู่รอด