ซอฟต์โลน ธปท. ปล่อยกู้ธุรกิจอะไรบ้าง?


สัปดาห์ที่แล้ว สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้ออกมาแถลงข่าว เรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้กับบรรดา mSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ระบาดโควิด- 19 เนื่องด้วยวันนี้มีผู้ประกอบการต้องปิดกิจการไปแล้วจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็ตกอยู่ในสภาพสาหัส เข้าห้องไอซียูรอเวลาถึงจุดจบ ที่ดีหน่อยก็ประคองตัวเป็นซอบบี้ เรียกว่าจะตายก็ไม่ตาย จะไปต่อก็ไม่ได้

mSMEs ตามคำนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (สสว.) หมายถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ที่รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยมาก หรือ Micro ซึ่งมีรวมกันกว่า 3 ล้านราย ทั้งหมดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นราวๆครึ่งหนึ่งของจีดีพีรวมทั้งประเทศ

ดังนั้นปัญหา mSMEs คือปัญหาที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้บรรดาผู้ประกอบการรายเล็กๆเหล่านี้ ทยอยล้มหายตายจากไป การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาดังเดิมอย่างเร็วตามที่รัฐบาลตั้งใจ ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ไม่ได้มีเรี่ยวแรงหรือเข้มแข็งเหมือนบริษัทใหญ่ๆ การล้มลงกว่าจะฟื้นกลับมาต้องใช้เวลา หรือไม่ ก็อาจจะตายไปเลย

จากแถลงของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีความน่าสนใจในข้อเรียกร้องพร้อมข้อเสนอ แบ่งเป็นระยะสั้นระยะกลางระยะยาว ซึ่งรัฐบาลควรเอาไปพิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ที่เปรียบเหมือนออกซิเจน ที่จะช่วยต่ออายุในกับผู้ประกอบการออกไป เพื่อรอวันที่สภาพเศรษฐกิจฟื้นกลับมา

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า ที่ผ่านมามาตรการการช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ ที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าไม่ถึง โดยยกตัวอย่าง Soft Lone ระยะที่ 1 มีเอสเอ็มอี เข้าถึงเพียง 7.7 หมื่นราย วงเงินเพียง 1.38 แสนล้านบาท จุดสำคัญคือรายเล็กๆที่ได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท มีเพียง 25 % ขณะที่การปล่อยกู้ในผู้ประกอบการขนาดใหญ่รายละ 20-50 ล้าน มีสัดส่วนถึง 75 % จึงจะเรียกร้องให้มีการกำหนดเกณฑ์พิจารณาจัดสรรรการปล่อยกู้ Soft Lone ให้กระจายอย่างทั่วถึงอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

เรามาดูความคืบหน้าของ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ Soft Lone ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564

เว็บไซต์ ธปท. https://bit.ly/3iSatxv เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท ณ วันที่ 14 มิ.ย. 2564 มีสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติไป 40,764 ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 13,435 ราย เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท

 

 

ในรายละเอียดระบุ แบ่งตามจำนวนราย เป็นการปล่อยกู้ให้รายย่อย Micro หรือวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ราว 50 % แต่คิดตามจำนวนเงินจะมีสัดส่วนไม่ถึง 10 % ขณะที่การปล่อยกู้ให้กับ SMEs วงเงิน 5-50 ล้านสัดส่วนจำนวนรายอยู่ที่ 40.9 % และตามจำนวนเงิน อยู่ที่ 45.4 % ส่วนการปล่อยกู้ในรายใหญ่วงเงิน 50-500 ล้านบาท จำนวนราย 7.3 % แต่สัดส่วนตามจำนวนเงินอยู่ที่ 43.7 %

คราวนี้มาดูกันว่า ธุรกิจที่ได้รับวงเงินสินเชื่อมีประเภทธุรกิจอะไร มีสัดส่วนเท่าไหร่ พบว่า ธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อมากที่สุดคือ การพาณิชย์ อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมการผลิต อันดับ 3 คือธุรกิจบริการ ซึ่งพอๆกับธุรกิจก่อสร้าง

ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิ.ย. เข้าโครงการ 7 ราย วงเงิน 921.5 ล้านบาท https://bit.ly/3cReM8u 
ระยะเวลานับตั้งแต่เริ่มโครงการมาถึงวันนี้ กับ จำนวนและเม็ดเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ SME มันรวดเร็วทันสถานการณ์หรือไม่ เราๆท่านๆ ลองพิจารณาดู สิ่งที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เรียกร้องนอกเหนือจากการกระจายเม็ดเงินให้ทั่วถึงเท่าเทียมแล้ว ยังระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เน้นปล่อยกู้ให้รายเดิม ส่วนการปล่อยให้รายใหม่มีน้อยมาก

ปัญหาการปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟู พยุงกิจการ มีหลากหลายมิติ แต่หากเอาจริงเอาจัง ทุกฝ่ายช่วยกันไขปม เชื่อว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างแน่นอน แต่หลากปล่อยไปตามยถากรรม กว่าจะเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจใน 120 วัน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ คงต้องดูกันว่าถึงวันนั้น mSMes จะเหลือให้เดินต่อสักเท่าไหร่