ธุรกิจประกันภัย รุกตลาด “กัญชา” เกาะกระแส-มองอนาคต “พืชเศรษฐกิจ” ตัวใหม่


ถือว่ากระแส “กัญชาฟีเวอร์” ยังไม่หมดไป แม้จะด้วยภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่นๆก็ตาม แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ “กัญชา” ในวันนี้ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่ง ธุรกิจประกันภัย

กระแสข่าว 2 บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่อย่าง กรุงเทพประกันภัย และทิพยประกันภัย กระโดดลงมาเล่นธุรกิจประกันภัยกัญชาในลักษณะ “ประกันภัยพืชผล” เช่นเดียวกับ พืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ ดูจะน่าสนใจไม่น้อย เหตุใด บริษัทประกัน จึงหันมารับประกันภัยผลผลิตดังกล่าว อาจมองเป็นเพียงเรื่องของกระแส หรือมองข้ามช็อต ต่อยอดไปยังพืชตัวอื่น ด้วยอย่างเช่น กัญชง และกระท่อม

สำหรับประกันภัย “กัญชา” ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังพิจารณาอนุมัติ กรมธรรม์ประกันภัย ให้กับ 2 บริษัท ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นไปในรูปแบบความคุ้มครองเบื้องต้นจะชดเชยความเสียหายจากต้นทุนการผลิตเป็นหลัก

จากการพูดคุยกับ กูรู ด้านประกันภัย เราจึงพบคำตอบว่า การประกันภัยดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ โดยหากพืชชนิดนั้นมีการอนุญาตให้ปลูกอย่างถูกกฎหมาย ก็สามารถจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ “ประกันภัยพืชผล” ก่อนที่จะออกกฎระเบียบความคุ้มครองเพิ่มเติมเฉพาะพืชชนิดนั้นๆ อย่างเช่น ลักษณะความคุ้มครองการปลูกต้นกัญชาจากความเสี่ยงภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม, ลมพายุ, ไฟป่า, ศัตรูพืช และสัตว์ทำร้าย

ข้อมูลเบื้องต้น ของ “ทิพยประกันภัย” ได้แบ่งความคุ้มครอง “กัญชา” ออกเป็น 2 รูปแบบคือ ระยะเริ่มต้นปลูก โดยคิดเบี้ยประกัน ต้นละ 7 บ. ทุนประกันต้นละ 200 บ. และ ระยะตั้งต้น ออกดอก เบี้ยประกันต้นละ 16 บาท ทุนประกันต้นละ 500 บ. ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกในร่ม และกลางแจ้ง

พิจารณาจากข้อมูลการปลูกกัญชาในปัจจุบันในพื้นที่อนุญาตปลูก “ไตรศุลี ไตรสรกุล” รองโฆษกรัฐบาล ได้เคยให้ข้อมูลไว้ในช่วงเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา มีวิสาหกิจชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปลูกกัญชาแล้วใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น

หากนับตัวเลขเบื้องต้น 15,000 ต้น กับเบี้ยประกัน และทุนประกันดังกล่าว อาจไม่คุ้มทุน ที่บริษัทประกันจะลงมาเล่นในตลาดนี้ แต่หากมองให้ไกลกว่านั้น หลายภาคส่วนธุรกิจยังคงเชื่อมั่นว่า “กัญชา” จะกลายเป็นพืช “เศรษฐกิจตัวใหม่” ในอนาคตอันใกล้นี้

เรื่องดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้จากการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง กัญชา และประกอบกิจการศึกษาวิจัย พัฒนา การปลูก สกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชา กัญชง พืชสมุนไพร เป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี 63 ต่อปี 64 ที่ผ่านมา

รายชื่อ บริษัทที่จดทะเบียนโดยบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจหลายราย เช่น บริษัท เจนโดว์ จำกัด ของคนในตระกูล “โตทับเที่ยง” จากธุรกิจปลากระป๋องชื่อดัง โดยประกอบกิจการนำเข้า ส่งออก เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จดทะเบียนเมื่อ 1 ก.พ.64 ทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท

อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัทในเครือไทยเบฟฯ ซึ่งจัดตั้งบริษัท แอมโบรส เอเชีย จำกัด ประกอบกิจการรับเป็นที่ปรึกษา วิจัยและพัฒนากลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง ผลิต รับจ้างผลิต และจัดจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง จดทะเบียน 5 มี.ค. 64 ทุนจดทะเบียน1,000,000 บาท

บริษัท โกลเด้น ไทร แองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด ในเครือตระกูลผู้บริหาร “ซีพี” จดทะเบียนตั้งบริษัท จีทีจี แพลนท์แฟคตอรี่ จำกัดประกอบกิจการผลิตสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.64 ทุนจดทะเบียน 12,000,000 บาท

บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัท บ. ซีเอสอาร์ ณุศา จำกัด ประกอบกิจการเพาะพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ เพื่อทำการปลูก วิจัย พืชสมุนไพรต่างๆ รวมถึง กัญชา กัญชง จดทะเบียน 30 มี.ค.64 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท และบ. ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด ประกอบกิจการเพาะพันธุ์/เมล็ดพันธุ์ เพื่อทำการปลูก,วิจัย,พืชสมุนไพรต่างๆ รวมถึงกัญชา กัญชง ที่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อมีไว้สำหรับการนำเข้า ส่งออก และการจำหน่ายทั้งก่อนและภายหลังที่แปรรูปได้เป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางอาหาร เครื่องดื่ม เวชกรรมทางการแพทย์ และยารักษาโรค จดทะเบียน 28 เม.ย.64 ทุนจดทะเบียน5,000,000 บาท

นพ.สมชัย เจียรนัยศิลป์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.ตรัง และอดีตรองประธานหอการค้าจ.ตรัง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ จัดตั้ง บ.กัญตรังเมดิแคน จำกัด ประกอบกิจการเพื่อทำการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาและกัญชง เมื่อวันที่ 9 เม.ย.64 ทุนจดทะเบียน20,000,000 บาท

บริษัท ด็อกเตอร์กระท่อม จำกัด ของตระกูลนักการเมือง “เชื้อเมืองพาน” ประกอบกิจการศึกษาวิจัย พัฒนา การปลูก สกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชา กัญชง พืชสมุนไพร จดทะเบียน 4มี.ค.64 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท

บริษัท กัญทรี้ จำกัด ของทายาทตระกูล “พงษ์นฤสรณ์” เจ้าของธุรกิจโฆษณาแผ่นป้ายบิลบอร์ดทั่วกรุง ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก เมล็ดพันธุ์ สารสกัดจากกัญชา กัญชาชง เพื่อค้นคว่าและวิจัย จดทะเบียนวันที่ 11พ.ค.64 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท

เรียกได้ว่าบุคคลนักธุรกิจต่างหันมาสนใจจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ “กัญชา” กันเกือบจะแทบทุกวงการ จุดนี้เอง ธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัยพืชผลจึงมองว่า ธุรกิจกัญชา จึงไม่ได้จะหยุดอยู่แค่ 15,000 ต้นแน่นอน และจะมีการขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น หากได้รับการปลดล็อกอย่างที่ตั้งเป้ากันไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน การเปิด “ประกันภัยกัญชา” ก็ถือเป็นตัวบทนำร่อง ไปสู่พืชที่ปลดล็อกแล้วอย่าง “กัญชง” และที่กำลังจะปลดล็อกอีกอย่าง “กระท่อม” ดังนั้น “กัญชา” ในอนาคตจึงเป็นอุตสาหกรรมทางการเกษตรที่ใหญ่ในระดับมหภาค และอาจเทียบเคียงพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว และยางพารา ได้อย่างแน่นอน