ผมได้อธิบายหลักการทำแผนการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อควบคุมระบบการลงทุน ให้ได้เข้าใจการสำรวจตลาดและข้อมูลพื้นฐานทางด้านกายภาพครบถ้วนแล้ว สุดท้ายคือการตัดสินใจจะทำโครงการหากได้ทำเลที่เหมาะสมก็ต้องมีความพร้อมทางการบริหาร ฉบับนี้ก็จะเริ่มต้นกล่าวถึงกระบวนการและระบบการบริหารร้านค้าในระบบเครือข่ายหรือ Chain Store
เอสเอ็มอี หลายคนต้องการจะทำธุรกิจ เป็นเถ้าแก่มือใหม่ แต่พอเริ่มได้สักหน่อยก็ต้องปิดตัวลง ไปต่อไม่ได้ การเลือกทำธุรกิจต้องพิจารณาความสามารถตัวเองว่าทำได้ไหม ใช่สิ่งที่ชอบและถนัดหรือเปล่า “ความสำเร็จ” จากการทำธุรกิจไม่ใช่ได้มาง่ายๆ แผนต้องมี ภาระหน้าที่ต้องชัดเจน ศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจนั้นอย่างจริงจังและต้องทำเองเป็นไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นมาหายใจตลอดไป
หากทำได้เติบโตติดลมก็สามารถขยายกิจการได้ การขยายธุรกิจในแนวทางของนักลงทุนในปัจจุบัน นิยมกระจายความเสี่ยงหรือที่เรียกว่าการขยายธุรกิจในแนวราบคือ การลงทุนต่อหน่วยไม่มากไม่โหมไปจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ การกระจายการลงทุนหรือขยายร้านค้าออกไปกินพื้นที่ให้กว้างขึ้นและถ้าร้านใดไม่ดีก็ปิดเป็นจุดๆไปเสียหายน้อยแกนหลักยังอยู่ แต่อัตราเสี่ยงเมื่อคำนวณโดยรอบแล้วต้องเข้าเกณฑ์อัตราความสำเร็จอย่างต่ำต้องได้ถึง 80 เปอร์เซ็น จึงต้องมีการทำการศึกษาความเป็นไปได้
ถ้าเป็นการลงทุนโดยรวมของทั้งองค์กรคือ การนับจำนวนสาขาจะต้องได้อัตราส่วน 80 ต่อ 20 นั่นก็คือจะต้องเปิดสาขาให้อยู่รอดอย่างน้อย 80% ของจำนวนสาขารวมที่เปิดใหม่ทั้งหมดจำกัดความไม่สำเร็จห้ามเกิน 20% จึงเป็นการกระจายสาขาหรือขยายงานในรูปแบบของระบบงานสาขา ซึ่งระบบงานสาขาเองก็มีวิธีการลงทุนที่ลดความเสี่ยงในแง่การบริหารงานด้วยการจัดวางผังองค์กรควรมีการรองรับการทำงานสาขาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
โดยการใช้องค์กรส่วนกลางเพื่อบริหารงานหลักและงานส่วนสาขาจะกระจายให้ผู้บริหารร้านสาขาเป็นผู้ดูแลเอง ในขณะเดียวกันสำนักงานกลางก็ต้องมีฝ่ายสนับสนุนการปฎิบัติการสาขาหรือ Support Center หรือสำนักงานใหญ่ คอยช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานให้ได้รับความสะดวกราบรื่นได้ผลตามเป้าหมายองค์กร
หลังจากมีการวางแผนงานและกำหนดเป้าหมายองค์กรแล้ว หลักการบริหารต้องเริ่มจากการวางผังองค์กรกำหนดภาระหน้าที่ของหน่วยงานตามตำแหน่ง ความรับผิดชอบและสายบังคับบัญชาในส่วนสำนักงานทั้งหมด ตำแหน่งสำคัญที่อยากจะกล่าวถึงคือผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการที่จะเป็นตัวแทนของสาขาในออฟฟิศ มีการสื่อสารโดยตรงมีการประสานงานกับหัวหน้าสาขาทุกเรื่องตั้งแต่การมอบนโยบายองค์กรตลอดจนการดูแลควบคุมสาขาโดยตรง ประสานงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆในองค์กรในเรื่องเกี่ยวกับสาขา
สำหรับเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 5 สาขามีพนักงานเพียง5-6 คนก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งหรือลำดับขั้นทำเป็นทางการมากนัก เจ้าของจะต้องดูแลเองใช้คนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นการควบรวมตำแหน่งงานที่ทำร่วมกันได้ ยกเว้นท่านเริ่มมีการวางแผนการเจริญเติบโตขยายมากกว่า 5 สาขาขึ้นไปท่านต้องเริ่มคิดวางแผนแล้วครับ เพราะถ้าหากโตแล้วค่อยมาคิดวางแผนจะช้าเกินไป ที่ว่าช้านั้นมีหลายสาเหตุมันช้ากว่าความคิดหรือใจเราที่เห็นโอกาสมาถึงแล้วจะต้องไขว่คว้าให้ทัน เพราะเสียดายโอกาสเสียดายยอดขายที่จะได้เห็นๆ มันเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจ
อันนี้เป็นประสบการณ์การบริหารล้วนๆ การบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสม ทำธุรกิจต้องคิดตั้งแต่วันแรกต้องคิดถึงระบบงานที่เอื้ออำนวยในการบริการลูกค้า รายการอาหารที่มีความเหมาะสมและลงตัวทั้งคุณภาพของอาหารและราคา การบริการที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในด้านความรวดเร็วและถูกต้อง
การบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานภายในร้านเลือกคนให้ถูก ใช้คนให้เป็น คัดเลือกคนให้เหมาะกับงาน โดยเฉพาะธุรกิจบริการต้องเน้นหน่อย เข้ามาแล้วไปไม่เป็นไรแต่อย่าทำชื่อเสียงเราเสียหาย ธุรกิจขาดคนทำงาน ไม่มีทางสำเร็จ ให้มองว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านงานบริการจะต้องมี “คน” เป็นปัจจัยหลักซึ่งต้องรวมตัวเราเข้าไปด้วย เรื่องนี้ผมจะขออธิบายในรายละเอียดเรื่องของการบริหารระหว่างเชนสโตร์และระบบแฟรนไชส์ในโอกาสต่อๆไป
ต่อไปผมขอแนะนำธุรกิจที่ได้รับความสนใจสูงมากมีผู้ต้องการเข้ามาร่วมตลอดเวลาคือ ระบแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจหลักที่ได้รับความนิยมและเติบโตมากในสหรัฐอเมริกา แต่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี1978 แบรนด์ Mister Donut จนปัจจุบันแนวคิดด้านแฟรนไชส์เป็นที่รับรู้แพร่ หลายมีการขยายสาขาในระบบแฟรนไชส์มากมาย แต่องค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกต้องแท้จริงหรือตำราต้นฉบับจากแหล่งกำเนิดก็ยังมีไม่มาก หลายประเทศมีการเรียนออนไลน์แต่ผลลัพธ์ยังไม่น่าพึงพอใจ
หลักการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์และเชนสโตร์ที่มีลักษณะเหมือนกันเป็นรูปแบบที่ถอดออกมาจากระบบเชนสโตร์คล้ายกับพี่น้องฝาแฝดกันเลย คือระบบแฟรนไชส์ หลักการบริหารจะเป็นการจัดการสาขาให้ได้มาตรฐานที่สุด ความสำเร็จของธุรกิจอยู่ที่สาขา แต่มีความยากกว่าคือระบบแฟรนไชส์ผู้บริหารเป็นคู่ค้าเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทแม่แต่สามารถใช้แบรนด์และทรัพยากรบางส่วนร่วมกัน เป็นระบบที่จะขายสิทธิ์ที่มีระยะเวลาที่แน่นอนให้กับผู้ที่สนใจเปิดธุรกิจในแบบเดียวกับบริษัทแม่โดยมีเงื่อนการปฏิบัติงาน มีข้อบังคับและข้อห้าม (Do & Don’t) มีการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆเพื่อเป็นค่าดำเนินการ หรือค่าพัฒนาสินค้าของเจ้าของลิขสิทธิ์
ผู้ที่ลงทุนในระบบแฟรนไชส์ก็จะลดความเสี่ยงในการลงทุนลงเพราะมีตัวแบบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมให้เห็น มีประสบการณ์แนวทางวิธีการทำธุรกิจและผู้มีความรู้ความสารถมาคอยช่วยเหลือทั้งสินค้าการบริการและการบริหารงานไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการเฉพาะทางการเป็นมืออาชีพ การทำงานต้องเน้นระบบ โดยมีคู่มือปฏิบัติการเป็นตัวเริ่มต้นของกุญแจสู่ความสำเร็จ การบริหารแฟรนไชส์จะต้องมีระบบมีประสบการณ์ วีธีการแก้ปัญหาอย่างผู้ชำนาญการ
ถ้าเป็นมือสมัครเล่นไม่มีแนวทางประสบการณ์มาก่อนก็จะประสบปัญหาไม่สามารถแก้ปัญหาเล็กๆ ให้หมดไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขาดทักษะการเรียนรู้ และมิได้มีการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาล่วงหน้าหรือในทางกลับกัน มิได้สร้างบทเรียนหรือการมีข้อมูลองค์ความรู้หรือ การดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพโดยเฉพาะผู้รู้ ทั้งไม่มีพี่เลี้ยง ขาดที่ปรึกษาที่เข้าใจทุกสิ่งอย่าง มีผู้คอยให้คำแนะนำคอยชี้ทางสว่างให้กับธุรกิจ
ดังนั้นการทำธุรกิจหากเอสเอ็มอีได้ที่ปรึกษาที่ดีมีประสบการณ์สักคนคอยแนะนำ ตลอดจนการวางกลยุทธ์ธุรกิจด้านแฟรนไชส์ จะทำให้ธุรกิจลดความเสี่ยงลงได้มาก และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในธุรกิจได้เร็วมากยิ่งขึ้น
ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์
8 กรกฎาคม 2564
[email protected]