สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นข่าวที่ รมช.สาธารณสุข “สาธิต ปิตุเตชะ” กล่าวถึงการปลุกปั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” ให้เป็นศูนย์กลางสุมนไพร “กัญชา-กัญชงไทย” เป็นภูมิภาคนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา เราพบว่าด้วยระบบการเมือง ได้นำพา “กัญชา-กัญชง” มาถึงทางแยก วันนี้เกษตรกร ที่เป็นต้นน้ำ กำลังเดินมาถึงทางตัน การขออนุญาตที่ติดเงื่อนไขต่างๆมากมาย เมื่อขอได้ ปลูกแล้วก็ยังมองไม่เห็นรายได้ที่ยั่งยืน เนื่องจากแปรรูปเบื้องต้นได้เพียง ใบ กิ่ง ก้าน ราก
ขณะที่ภาคธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จาก “กัญชา-กัญชง” ได้ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นี่จึงเป็นความแตกต่างของการ “ปลดล็อกกัญชาไทย”
ดังนั้น การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพดังกล่าว อย่างน้อยๆ ก็สามารถช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นเกษตรกรตัวจริง กระชุ่มกระชวย กลับมาคึกคักได้บ้าง โดยเล็งไปที่นโยบาย “ไทยเที่ยวไทย” ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ที่สามารถดำเนินการแบบคู่ขนานไปด้วยกันได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นแหล่งต้นกำเนิดของกัญชาชั้นดี ที่ใช้ทางการแพทย์ อย่าง “หางกระรอกภูพาน” ที่จ.สกลนคร จ.นครพนม ประวัติศาสตร์เหล่านี้สามารถแทรกไว้ในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสาย “กัญชา” ผสานไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ การใช้กัญชาเป็นยาสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
เรื่องของนายฮ้อย ค้าวัวควาย ที่มีภูมิปัญญาการใช้กัญชารักษาโรค เมื่อต้องเดินทางผ่านดงพญาเย็น และพื้นที่ราบของภาคอีสานในอดีต ซึ่งเชื่อมโยงมาถึง จ.นครราชสีมา
ต่อเนื่องมาถึงนโยบายกัญชาในชื่อ “พันธุ์ บุรีรัมย์” ที่สามารถจัดสร้างเป็นเส้นทางรูทเชื่อมต่อการท่องเที่ยว จากริมฝั่งโขง ย้อนอดีตกัญชา มาสู่ปัจจุบัน จากนครพนม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์
ผนวกกับแหล่งวิจัยศึกษาและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ที่สำคัญ อย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึง รพ.มะเร็ง จ.อุดรธานี ที่รวบรวมความรู้เรื่องการใช้กัญชารักษาโรค และอาหารจากกัญชาเอาไว้
สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าหากภาครัฐ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอย่างจริงจัง วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะร่วมมือ เพราะรายได้จากเส้นทางการท่องเที่ยวนี้ก็จะคืนไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรายได้จากกัญชา แต่ยังหมายถึงที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน
เมื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสายกัญชาภาคอีสานเกิดขึ้นได้จริง แล้วก็ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวสายกัญชาในภาคอื่นๆ ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายของคลินิกกัญชา 760 แห่งทั่วประเทศ
หากรัฐคิดจะทำอย่างจริงจัง เวลานี้ถือเป็นโอกาสที่เหมาะสม เพราะสถานการณ์ของไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็กำลังจะฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว กับแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทย” ดังนั้นเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา จึงสอดคล้องไปกับแคมเปญนี้ ได้อย่างลงตัว