สงกรานต์ปีนี้ คนกรุงซึม เงินไม่สะพัด หดตัว 13.7 %


บรรยากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ นับว่ายังคงอยู่ในภาวะที่ไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะคนกรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาระค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และพฤติกรรมในการใช้จ่ายและการเลือกทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงบรรดาผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่จะต้องมีการปรับตัวและวางแผนรับมืออย่างรัดกุม เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาใช้จ่ายและประคองภาพรวมของธุรกิจไว้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ระหว่างวันที่ 18-24 มีนาคม 2557 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 500 ราย ที่มีอายุระหว่าง 16-65 ปี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ค่าครองชีพ & สถานการณ์ทางการเมือง … กดดันการจับจ่ายใช้สอยคนกรุงฯ

                ผลจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 85.0) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ซึ่งหากพิจารณาถึงมุมมองด้านกำลังซื้อ จะพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีระดับรายได้เท่าเดิม เงินออมเท่าเดิม แต่ภาระรายจ่ายกลับมีเพิ่มสูงขึ้น (เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) ทั้งในส่วนของราคาอาหารและพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันต่ออำนาจในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน (อายุระหว่าง 25-50 ปี) ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและยังไม่มีความชัดเจน (ร้อยละ 30.4) ยังเป็นปัจจัยในลำดับต่อมาที่คนกรุงเทพฯ ให้ความรู้สึกวิตกกังวลและคาดว่าจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายลดลง (ร้อยละ 46) เกิดความยากลำบากในการเดินทาง (ร้อยละ 35) และไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 19)

 

คนกรุงฯ เลือกพักผ่อนและทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ “เพิ่มขึ้น

                สงกรานต์ปี 2557 คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเลือกใช้วันหยุดอยู่ภายในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเลือกใช้วันหยุดอยู่ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะวางแผนกลับบ้านต่างจังหวัดลดลง เนื่องจากในปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันเพียง 4 วัน คือตั้งแต่ 12-15 เมษายน 2557 ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน การกลับบ้านต่างจังหวัดมีค่าใช้จ่ายที่สูง (อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าตั๋วโดยสาร) โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ในแต่ละภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต อุดรธานี ดังนั้น การหันมาวางแผนท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และอยุธยา จึงเป็นทางเลือกที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจมากขึ้น ทั้งในรูปแบบค้างคืนและแบบเช้าไปเย็นกลับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

 เลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มครอบครัวและเพื่อนฝูง …

กิจกรรมฮิตของคนกรุงเทพฯ ที่นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ร้อยละ 53.7) รองลงมาคือ การเข้าวัดทำบุญ/ตักบาตร (ร้อยละ 36.8) การพักผ่อนทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่บ้าน (ร้อยละ 35.6) และช็อปปิ้ง (ร้อยละ 18.4) ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ สนใจวางแผนทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลงในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะในส่วนของการช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมในปีที่แล้ว ทำให้คาดว่า บรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ อาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร ดังนั้น การออกกลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในการประคับประคองยอดขายในช่วงนี้

 

อารมณ์จับจ่ายซึมยาว … คาดเม็ดเงินช่วงสงกรานต์หดตัว 13.7%

                ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อและคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงช่วงสงกรานต์ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลงจากแรงกดดันทางด้านค่าครองชีพและภาระหนี้สินต่างๆ ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ “อาจจะไม่สดใสมากนัก” โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 31.0 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ยังไม่มีการวางแผนทำกิจกรรมใดๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองด้านกำลังซื้อที่อาจจะซบเซากว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินภายในประเทศสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ระดับ 22,000 ล้านบาท หรือหดตัวถึงร้อยละ 13.7 (YoY) แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 8,000 ล้านบาท ช็อปปิ้ง (ซื้อของขวัญ/ ของฝาก) 6,400 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 4,600 ล้านบาท ทำบุญ 2,900 ล้านบาท และอื่นๆ อาทิ ดูหนัง/ฟังเพลง ซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ 100 ล้านบาท

                ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ค่าใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ลดลง คาดว่าเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ ยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะกระทบต่อรายได้และรายจ่ายในระยะข้างหน้า จึงทำให้มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะยังเลือกสังสรรค์และทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็มีการวางแผนการใช้จ่ายที่เน้นประหยัดมากขึ้น อาทิ ออกไปฉลองกินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนฝูงลดลง ช็อปปิ้งหรือซื้อของฝากลดลง เป็นต้น ในขณะที่คนกรุงเทพฯ อีกบางส่วนก็เลือกที่จะไม่สังสรรค์และพักผ่อนอยู่บ้านเท่านั้น

 

คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 84.0 สนใจ “มหกรรมลดราคา”

                ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวของคนกรุงเทพฯ ส่งผลให้โอกาสในการสร้างรายได้ของบรรดาธุรกิจต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ น่าจะเผชิญกับความยากลำบากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะภาคธุรกิจค้าปลีก แต่ถึงกระนั้น จากการสอบถามคนกรุงเทพฯ พบว่า กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการยังคงมีความสำคัญ และอาจจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ยังคงเป็นมหกรรมลดราคาสินค้า (ร้อยละ 83.6) รองลงมาได้แก่ การลุ้นชิงโชคแจกของรางวัล เช่น บ้าน รถยนต์ (ร้อยละ 74.0) และการใช้ใบเสร็จซื้อสินค้าแลกรับของรางวัลทันที (ร้อยละ 61.8) ตามลำดับ ในขณะที่ช่องทางในการทำโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น พบว่า สื่อโทรทัศน์ (ช่องฟรีทีวี/เคเบิ้ลทีวี) ยังคงเป็นช่องทางที่คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80.2 รองลงมา ได้แก่ การทำการตลาดผ่าน Social Media อย่าง Facebook (ร้อยละ 42.2) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ (ร้อยละ 33.2) ตามลำดับ

ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการ ก็น่าจะยังคงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยดึงดูดคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคทางตรงที่ตั้งใจจะมาเลือกซื้อสินค้าและทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่แล้ว หรือกลุ่มผู้บริโภคทางอ้อมที่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้า แต่อาจจะเกิดความสนใจจากการทำกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการจนเกิดความต้องการในสินค้าและบริการ ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าและบริการให้กับภาคธุรกิจได้