MPI ไตรมาสแรกของปี 57 หดตัว 7.0% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.79%


 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 1/2557  หดตัว 7.0% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.79% สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 2557  ติดลบ 10.4%

 

อุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตรวมลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น โดยระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตของเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ 64.33%

 

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 1/2557 หดตัว 7.0% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.79% อุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตรวมลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

 

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมMPI เดือน มี.ค. 2557 ติดลบ 10.4 % อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.33% ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือน มีนาคม 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้

 

อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เดือนมีนาคมปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงจากตลาดในประเทศเป็นหลัก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่ง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีฐานที่ค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก การผลิตรถยนต์เดือนมีนาคมปี 2557คาดว่า มีจำนวน 181,334 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 29.0 ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2557 การผลิตจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,320,000 คัน ลดลงร้อยละ 5.35 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ  1,150,000 คัน ลดลงร้อยละ 13.16  และการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,170,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06

 

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเดือนมีนาคม 2557 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 12.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 15.11 โดยการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 19.65 สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.12 โดยมาจากตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เพราะภาคครัวเรือนในประเทศ    มีการชะลอการใช้จ่าย นอกจากนี้สายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.64 เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอล

 

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยในเดือนมีนาคม ปี 2557 มีปริมาณ 1.11 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 32.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.48 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 28.30 ในส่วนชองเหล็กทรงยาวที่ผลิตและจำหน่ายลดลงเนื่องจากการที่โครงการก่อสร้างใหญ่ๆของภาครัฐเป็นช่วงปลายของโครงการซึ่งจะใช้เหล็กน้อยลง และโครงการใหม่ก็ยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดือนมีนาคม ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อของตลาดภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.24 จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว และตลาดสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งเส้นใยสิ่งทอฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.75 และผ้าผืน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.71

 

อุตสาหกรรมอาหาร  การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.4 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค  ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 12.4 เนื่องจากได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ  ผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้ลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น