ยางพารา” นับเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของไทยหลากหลายชนิด ท่ามกลางข้อได้เปรียบที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางขนาดใหญ่ โดยในปี 2556 ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของไทยกว่าร้อยละ 67.2 ของปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมด ถูกนำไปใช้ในการผลิตยางล้อ จึงนับว่า “ยางล้อยานยนต์” เป็นสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบกับในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกจึงทำให้ยางล้อของไทยมีบทบาททั้งในแง่ของการเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ในการรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แม้ในภาวะปัจจุบันสถานการณ์ตลาดรถยนต์ภายในประเทศจะเผชิญปัจจัยกดดันจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว แต่หากมองในแง่ของ การเป็นสินค้าส่งออก ยังนับว่ายางล้อยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตามความสดใสของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
ยางล้อยานยนต์…สินค้าส่งออกดาวเด่นของไทย
หากพิจารณาการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ของไทย พบว่า ในปี 2556 ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกยางล้อยานยนต์สูงสุดที่ร้อยละ 40.4 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด อันแสดงถึงศักยภาพและความสำคัญของอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ของไทย ในฐานะของการเป็นผลิตภัณฑ์ยางส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี และไทยนับเป็นผู้นำการส่งออกยางล้อในภูมิภาคอาเซียน จึงคาดว่า “ยางล้อยานยนต์” จะยังคงเป็นสินค้าส่งออก ที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบยางขนาดใหญ่ ตลอดจนเป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญของโลก (ในลักษณะของการรับจ้างผลิต หรือ Original Equipment Manufacturer: OEM) เพื่อสนองความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ โดยในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกยางล้อยานยนต์อยู่ที่ 103,926 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 ไทยมีมูลค่าการส่งออกยางล้อยานยนต์อยู่ที่ 28,960 ล้านบาท หรือขยายตัวถึงร้อยละ 21.3 (YoY) ประเทศคู่ค้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น สอดรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
ทั้งนี้ International Organization of Motor Vehicle Manufacturers: OICA รายงานว่าในปี 2556 ยอดจำหน่ายยานยนต์ของโลกอยู่ที่ 85.4 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มียอดจำหน่ายยานยนต์อันดับสองของโลก โดยมียอดจำหน่ายยานยนต์อยู่ที่ 15.9 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 5.6 (YoY) (ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18.6 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งโลก) ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 สหรัฐอเมริกามียอดจำหน่ายยานยนต์อยู่ที่ 3.8 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY) อันแสดงถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางล้อเช่นกัน จึงนับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการส่งออกยางล้อของไทยไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ให้ภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ดังสะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ ISM ภาคการผลิตที่ขยายตัว ก็อาจยิ่งสนับสนุนการส่งออกยางล้อของไทยให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย
สำหรับคู่แข่งที่น่าจับตามองของการส่งออกยางล้อของไทยไปตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญเช่นกัน (โดยเฉพาะในมณฑลซานตง) แต่ลักษณะอุตสาหกรรมยางล้อของจีนจะเป็นบริษัทผลิตยางล้อของจีนเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อเทคโนโลยีการผลิตและคุณภาพยางล้อ อีกทั้งส่วนหนึ่งยังเป็นการผลิตเพื่อใช้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญจากการที่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่พร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงได้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ไทยได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางล้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพของยางล้อที่ดีและความน่าเชื่อถือในตราสินค้าจากประเทศไทย (Made in Thailand) ที่สหรัฐอเมริกายอมรับ จึงนับว่าไทยยังมีโอกาสทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางล้อที่ดี ดังนั้น ไทยควรชูกลยุทธ์การแข่งขันด้านคุณภาพที่ไทยมีความได้เปรียบ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของยางล้อในสหรัฐอเมริกาในระยะถัดไป
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 การส่งออกยางล้อยานยนต์ของไทยจะยังคงให้ภาพของแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตามอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอาจมีมูลค่าการส่งออกยางล้อยานยนต์กว่า 110,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 8 (YoY) และตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มในปี 2557 อุตสาหกรรมยางล้ออาจได้รับผลกระทบจากการผลิตรถยนต์ในประเทศที่หดตัว โดยอาจมียอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลงเหลือประมาณ 2.2-2.3 ล้านคัน หรือหดตัวร้อยละ 6-10 (YoY) ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว จากผลการสิ้นสุดโครงการรถคันแรกของรัฐบาล กำลังซื้อที่ชะลอตัว ตลอดจนปัญหาทางการเมืองยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ นอกจากนี้ แม้การผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกของไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้ แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะฉุดให้ภาพรวมการผลิตรถยนต์ของไทยพ้นจากภาวะหดตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในระยะถัดไป ยอดการผลิตรถยนต์จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนของโครงการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์เฟส 2) ซึ่งมีค่ายรถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 10 ราย รวมมูลค่าเงินลงทุน 1.38 แสนล้านบาท กำลังการผลิตรวม 1.58 ล้านคันต่อปี แม้ยังต้องติดตามกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริงภายใต้โครงการนี้ในระยะต่อไป แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้การผลิตรถยนต์ของไทยเพิ่มขึ้น เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่อยู่เหนือระดับ 3 ล้านคัน ภายในปี 2560 อันจะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางล้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะความต้องการใช้ยางล้อในระยะยาวที่ต้องเปลี่ยนใหม่ตามอายุการใช้งาน
สรุป
“ยางล้อยานยนต์” นับเป็นสินค้าดาวเด่นของไทยที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบยางขนาดใหญ่ และเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพทั้งยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางล้อยานยนต์ทุกประเภท เป็นฐานการผลิตรถยนต์ ตลอดจนเป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญของโลก เพื่อสนองความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มียอดจำหน่ายยานยนต์อันดับสองของโลก อีกทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้นตามลำดับ จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมล้อยางเช่นกัน จึงนับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการส่งออกยางล้อของไทยไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ในระยะยาว ไทยควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึงการพัฒนาแรงงานฝีมือ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนต่างชาติในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงฐานการผลิตยางล้อยานยนต์ แม้ต้องยอมรับว่า โอกาสทางธุรกิจของผู้ผลิตยางล้อสัญชาติไทย น่าจะอยู่ที่การผลิตยางล้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อาทิ ยางล้อรถบรรทุก ยางล้อรถเพื่อการเกษตร รวมถึงยางล้ออะไหล่ มากกว่ายางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพราะเป็นตลาดที่ผู้ซื้อคำนึงถึงประเด็นด้านราคาพอๆ กับประเด็นด้านคุณภาพ ขณะที่การเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและการออกแบบที่ถูกกำหนดมาจากค่ายรถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศและมาตรฐานของผู้นำเข้า ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงความน่าเชื่อถือของตราสินค้าเป็นอันดับแรก
เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ของไทย สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศปีละมากกว่าแสนล้านบาท และยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยควรรักษาตำแหน่งแชมป์ส่งออกยางล้อยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยการเร่งส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) และขจัดอุปสรรค หรือข้อกังวลต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น และการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยสามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่คาดว่าอาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญในอนาคต