ธุรกิจขนส่งทางถนนข้ามแดน โอกาสของธุรกิจขนส่งไทย


ภาพรวมของธุรกิจขนส่งทางถนนในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลงเล็กน้อย จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลง ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางถนนไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศชะลอตัวลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทย น่าจะกลับมาเติบโตขึ้นเล็กน้อย  เนื่องมาจากปัญหาการเมืองมีทิศทางที่คลี่คลายขึ้น รวมถึงธุรกิจขนส่งทางถนนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแรงหนุนการค้าชายแดนที่สำคัญมีแนวโน้มเติบโต จากปัจจัยการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน               

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยปริมาณกิจกรรมการขนส่งทางถนนที่สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคการขนส่งทางบก (ณ ราคาคงที่) ในไตรมาสแรกของปี 2557 หดตัวลงร้อยละ 1.6  ทั้งนี้ เนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวลง ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนหดตัว รวมถึงตลาดส่งออกที่ยังไม่เติบโตตามที่คาด นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่หดตัวจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ทยอยหมดลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้กิจกรรมการขนส่งทางถนนในครึ่งปีแรกไม่เติบโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคโลจิสติกส์ทางถนน (ณ ราคาปีปัจจุบัน) ในปี 2557 จะมีมูลค่า 239,200-242,500 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 2.4-3.8 ซึ่งชะลอลงจากปี 2556 ที่มีมูลค่าประมาณ 233,600 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.8 

 

การค้าชายแดน..สนับสนุนธุรกิจขนส่งทางถนนปี 2557

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมธุรกิจขนส่งทางถนนของไทย น่าจะกลับมาเติบโตขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากปัญหาการเมืองมีทิศทางที่คลี่คลาย รวมถึงการที่ชาวนาเริ่มทยอยได้รับเงินค่าจำนำข้าว น่าจะช่วยให้ชาวนามีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น และสามารถนำเงินเพื่อไปใช้ในการลงทุนปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลที่จะถึงนี้ น่าจะส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ แรงหนุนจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการค้าชายแดน น่าจะสนับสนุนให้ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยกระเตื้องขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเมืองจะเริ่มคลี่คลาย แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว  ทั้งนี้ น่าจะส่งผลให้ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยรวมทั้งปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี การขนส่งทางถนนระหว่างประเทศกลับมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากร้อยละ 5.2 ของการขนส่งระหว่างประเทศทั้งหมดในปี 2550 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี 2555 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขยายตัวของการค้าชายแดน และการก้าวย่างเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ข้ามชาติหลายกลุ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น โดยจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่งออกใหม่และต่ออายุของรถบรรทุกระหว่างประเทศ (International Truck) ในส่วนภูมิภาคในปีงบประมาณ 2556 มีจำนวนกว่า 155 ฉบับ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 181 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2550

 

การค้าชายแดน…และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หนุนธุรกิจขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ

การจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมการค้า และการลงทุนระหว่างกัน ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ (CLM) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สามารถเติบโตได้อีกมาก โดยการส่งออกของไทยไปยังประเทศ CLM ในไตรมาสแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 79,069 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การขยายตัวของการค้าชายแดนส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตตามไปด้วย

                นอกจากนี้ การเปิด AEC นั้นมีแนวโน้มที่จะมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนระหว่างกัน จึงจะทำให้การขนส่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจขนส่ง ซึ่งเป็นธุรกิจพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจด้านอื่น จึงเป็นสาขาที่ได้รับการเร่งรัดให้มี การเปิดเสรีโลจิสติกส์ โดยมีสาระสำคัญคือจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ในปี 2556 อีกทั้ง ยังได้มีการเจรจากรอบความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน อาทิ กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Inter-State Transport)  ทั้งนี้ หากกรอบความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้อาเซียนสามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันได้อย่างเสรีผ่านเส้นทางที่กำหนดร่วมกัน โดยได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร และค่าบริการอื่นๆ อย่างไรก็ดี การเจรจาได้ดำเนินการภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) แต่เนื่องจาก AFAS เป็นกรอบกติกาที่ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในสาขาที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ตามตารางข้อผูกพันแนบท้าย ซึ่งยังคงอยู่ภายในขอบเขตเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนดไว้เพื่อเป็นการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศของตน ดังนั้น ในทางปฏิบัติการเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์จึงยังมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย โดยปัจจุบันมีเพียง ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทยและสปป.ลาว เท่านั้นที่มีผลบังคับใช้โดยอนุญาตให้รถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย และสปป.ลาวเดินรถระหว่างประเทศได้ตามเส้นทางที่กำหนด

                โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศของไทยยังคงมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง 4 ประเทศ จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางถนนของภูมิภาคอาเซียน โดยการเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อไปยังประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ) และการเป็นฐานในการขนส่งทางถนนเชื่อมโยงกับการขนส่งทางทะเลเพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะการประกอบการขนส่งข้ามแดนไปยัง สปป.ลาว เนื่องจากมีความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนร่วมกัน และผู้ประกอบการในสปป.ลาวยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันไม่ดีเพียงพอ นอกจากนี้ ไทยและสปป.ลาวยังมีความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมอีกด้วย โดยควรใช้สปป.ลาวเป็นฐานในการเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศอื่น สำหรับในภาพรวมของการขยายธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนนั้น เนื่องจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการเจรจา ปัจจุบันจึงยังคงมีอุปสรรคอีกมากในการดำเนินการขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาโอกาสของธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนซึ่งน่าจะมีการเติบโตอย่างมากในอนาคต

อันใกล้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรจับมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งท้องถิ่นที่มีความชำนาญในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ หรือในระยะข้างหน้าหากผู้ประกอบการรายใดมีพร้อม อาจเข้าจะไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการตั้งสาขาในต่างประเทศ เพื่อให้กระบวนการขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน และไปยังประเทศปลายทางสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ คาดว่าจะเป็นจังหวัดการค้าชายแดนที่สำคัญ โดยสามารถพัฒนาให้เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์ อาทิ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การตั้งจุดพักรถบรรทุก และศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น ท้ายที่สุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงระเบียบโครงสร้างการขนส่งให้เกิดความเข้มแข็ง และแก้ไขกฎหมายขนส่งให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ แต่ยังคงเอื้อต่อผู้ประกอบการไทย อาทิ การเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการโลจิสติกส์ พ.ศ. … ทั้งนี้ เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

 

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย