ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกกุ้งของไทยในปี 2557 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันอีกราวร้อยละ 20 หลังจากที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกกุ้งของไทยมีมูลค่า 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 22 (YoY) โดยเป็นการหดตัวในทุกตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ยกเว้นเพียงในบางตลาด ได้แก่ เยอรมนี ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่การส่งออกกุ้งของไทยยังเติบโตในแดนบวกได้
จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งที่ลากยาวมานับตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อปี 2556 จนถึงปัจจุบันล่วงเข้ากลางปี 2557 สถานการณ์ก็ยังไม่สามารถที่จะคลี่คลายกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะพยายามเร่งแก้ไข ส่งผลให้การส่งออกกุ้ง (สด แช่เย็นแช่แข็ง/ แห้ง/ ต้มสุกแช่เย็น/ กระป๋อง/ แปรรูป) ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 บันทึกการหดตัวลงร้อยละ 22.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ด้วยมูลค่า 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่องจากในปี 2556 ที่หดตัวสูงถึงเกือบร้อยละ 27 ทั้งนี้ ภาพการหดตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เกิดขึ้นในทุกตลาดส่งออกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 7.4 YoY) ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 36.1 YoY) สหภาพยุโรป (หดตัวร้อยละ 23.9 YoY) และอาเซียน (หดตัวร้อยละ 41.2 YoY) โดยมีเพียงบางตลาด อาทิ เยอรมนี ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 YoY ร้อยละ 21.4 YoY และร้อยละ 5.0 YoY ตามลำดับ
อีกทั้ง เป็นที่สังเกตว่า ส่วนแบ่งสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจากกุ้งและสัตว์เปลือกแข็งของไทยที่ส่งออกไปในตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ มีทิศทางที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ จากที่สหรัฐฯ เคยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 36.2 จากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากทั่วโลกในปี 2554 ส่วนแบ่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ลดลงมาเป็นร้อยละ 27.1 ในปี 2555 ร้อยละ 22.1 ในปี 2556 และล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ขณะที่คู่แข่งหลักในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนาม มีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นนัยว่า สินค้ากุ้งจากไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ไปอย่างมากเพราะปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นหลัก (อนึ่ง สหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้ากุ้งของไทย)
เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2557 ก็มีปัจจัยลบที่เข้ามาสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมกุ้งส่งออกของไทย นั่นคือ การที่ไทยถูกปรับลดสถานะเป็น Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ไทยอยู่ในสถานะ Tier 2 Watch List ตั้งแต่ปี 2553 จะมีความพยายามจากทุกภาคส่วนในการดูแลแก้ไขประเด็นด้านแรงงานและให้ข้อมูลต่อคู่ค้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ แม้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ประเด็นด้านแรงงานที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมปัจจัยลบหลักที่มีอยู่เดิม คงจะทำให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยจำเป็นต้องเลื่อนออกไปจากเดิมและอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างชัดเจนได้ภายในปี 2557 นี้
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีมุมมองที่ระมัดระวังโดยประเมินว่า การส่งออกกุ้งของไทยในปี 2557 จะยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีกราวร้อยละ 20 เพราะแม้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และผู้ส่งออก ในการเร่งชี้แจงทำความเข้าใจต่อคู่ค้า จะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาผู้นำเข้า/ผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศในคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่กว่าที่สถานการณ์ด้านวัตถุดิบจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนจนกลับสู่ภาวะปกติได้ น่าจะไปเกิดขึ้นในปี 2558 ขณะเดียวกัน การยกสถานะไทยในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น ก็คาดว่าอาจจะต้องรอไปจนถึงช่วงกลางปี 2558