“เทศกาลกินเจ” ในปีนี้มีอยู่ 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 24 กันยายนถึง 2 ตุลาคม และตามปฏิทินจีนอีกช่วงหนึ่งคือระหว่างวันที่ 24 ตุลาคมถึง 1 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าความนิยมในจังหวัดที่มีการจัดเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ ภูเก็ต นครสวรรค์ จะนิยมกินทั้ง 2 ช่วง สำหรับบรรยากาศการกินเจในพื้นที่กรุงเทพฯ น่าจะได้รับความนิยมในช่วงแรกมากกว่าช่วงที่สอง ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต่างหันมาให้บริการอาหารเจกันอย่างคึกคัก
เทศกาลกินเจผู้บริโภคในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนใหญ่ใช้บริการร้านอาหาร ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารเจในกรุงเทพฯและปริมณฑลมูลค่า 2,000 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 9 กันยายน 2557 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาศึกษา หรือทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 380 คน ครอบคลุมทุกช่วงอายุและระดับรายได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 ในด้านรูปแบบการใช้บริการร้านอาหาร ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการร้านอาหาร รวมไปถึงการกำหนดงบประมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 โดยผลการสำรวจประกอบไปด้วยรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
คนกรุงเทพฯร้อยละ 66 กินเจ ส่วนใหญ่ใช้บริการร้านอาหารโดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66 ที่กินเในจำนวนนี้ กลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 51 ใช้บริการร้านอาหาร ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 16 ไม่ได้ใช้บริการร้านอาหาร แต่เลือกที่จะกินเจในรูปแบบอื่น เช่น ปรุงอาหารเจรับประทานเอง ซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อ ซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากผู้ขายอาหารริมทาง เป็นต้น
คนกรุงเทพฯที่กินเจให้ความสำคัญกับรสชาติและความหลากหลายของอาหาร ในขณะที่ภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นมีผลกระทบในระดับที่พอปรับตัวได้ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการร้านอาหารเจส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 43 ให้ความสำคัญกับรสชาติและความหลากหลายของอาหารเจ ในขณะที่รองลงมากลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 37 ให้ความสำคัญกับความสะอาด และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28 ให้ความสำคัญกับราคาอาหาร เมื่อพิจารณามุมมองของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการร้านอาหารเจต่อภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 58 มองว่าภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการกินเจบ้างแต่ยังพอปรับตัวได้ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26 มองว่าภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อการกินเจ และกลุ่มตัวอย่างสัดส่วนร้อยละ 16 มองว่าภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการกินเจค่อนข้างมาก ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการกินเจของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ก็พบว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารเจ ได้แก่ รสชาติ ความหลากหลาย และความสะอาด เป็นลำดับต้นๆ ในขณะที่ราคาเป็นปัจจัยที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ความสำคัญรองลงมา โดยคนกรุงเทพฯและปริมณฑลต่างก็มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมการกินเจท่ามกลางภาวะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ แทน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 2 ตุลาคม 2557 นี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารเจในกรุงเทพฯและปริมณฑลมูลค่า 2,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการกินเจที่ร้านอาหาร และซื้ออาหารเจสำเร็จรูปจากร้านอาหาร เพิ่มขึ้นจากในช่วงเทศกาลกินเจปี 2556 ที่คาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารเจในกรุงเทพฯและปริมณฑลมูลค่า 1,750 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 จากปัจจัยด้านจำนวนผู้กินเจเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับงบประมาณ และจำนวนวันกินเจโดยเฉลี่ยต่อคน ของคนในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2557 ที่สูงขึ้นกว่าปี 2556
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยด้านงบประมาณในการกินเจของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะราคาอาหารที่สูงขึ้น ถึงอย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลยังให้ความสำคัญกับช่วงเทศกาลกินเจอยู่ ดังนั้นจะเห็นได้จากจำนวนผู้กินเจ รวมถึงงบประมาณ และจำนวนวันกินเจโดยเฉลี่ยต่อคนที่สูงขึ้น โดยมองว่าช่วงเทศกาลกินเจเป็นโอกาสอันดีที่จะงดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลดละกิเลสและปล่อยวาง รวมถึงกินเจเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ส่งผลให้ในช่วงเทศกาลกินเจเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต่างหันมาให้บริการอาหารเจกันอย่างคึกคัก