ปรับราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และก๊าซ NGV…ส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด การปรับราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และก๊าซ NGV ตามมติ กบง.ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้รถยนต์จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3-10 กระทบผู้ใช้รถยนต์และให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รถยนต์สาธารณะภาครัฐต้องยื่นมือเข้าช่วย เป็นโจทย์ที่ท้าทายให้แต่ละฝ่ายที่ต้องเร่งหาข้อสรุปการกำหนดราคาก๊าซที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับ

                คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 อนุมัติปรับขึ้นราคาจำหน่ายก๊าซ LPG ภาคขนส่งอีก 0.62 บาทต่อกิโลกรัม จาก 21.38 บาท/กิโลกรัม มาเป็น 22.00 บาท/กิโลกรัม และปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 10.50 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ซึ่งการปรับเพิ่มราคาก๊าซทั้งสองประเภทคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ภาครัฐกำหนด อาจจะส่งผ่านผลกระทบดังกล่าว ไปสู่ราคาสินค้า ค่าขนส่ง หรือค่าโดยสารสาธารณะ ดังนั้นภาครัฐอาจต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม

มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย ต่อการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคขส่ง และก๊าซ NGV ในรอบนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาครัฐอาจมีการพิจารณาอย่างรอบด้านในการปรับราคาก๊าซ LPG และก๊าซ NGV ภาคขนส่ง โดยพิจารณาทั้งช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินถึงผลกระทบในทุกภาคส่วน รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเบื้องต้นภาครัฐกำหนดให้รถยนต์สาธารณะที่ใช้ก๊าซ NGV ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสารสาธารณะ (รถร่วม ขสมก. และ บขส.) และรถโดยสารสาธารณะ (รถร่วม ขสมก. และ บขส.) ยังคงจ่ายค่าก๊าซในราคาเดิมที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้ ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และก๊าซ NGV มาที่ค่าบริการโดยสารสาธารณะ ค่าขนส่ง ตลอดจนราคาสินค้าอุปโภคบริโภค น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ราคาสินค้าในส่วนอื่นๆ ก็อาจจะยังขยับขึ้นไม่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้า ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาก๊าซในรอบนี้ อาจมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปประมาณร้อยละ 0.01 ซึ่งทำให้ยังคงมองว่า สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 จะยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 2.0 (YoY) เท่ากับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 3/2557 ขณะที่ ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2557 อาจยังคงอยู่ในกรอบร้อยละ 2.0-2.2 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 2.1) ตามเดิม ในด้านผลกระทบต่อภาครัฐ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดิมกองทุนน้ำมันฯ มีภาระในการชดเชยราคาก๊าซ LPG ให้กับผู้นำเข้าและโรงกลั่นน้ำมันประมาณ 61.76 ล้านบาทต่อวัน แต่การปรับราคาก๊าซ LPG ในครั้งนี้จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ลดภาระเงินชดเชยลงได้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อวัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2557 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีฐานะติดลบสุทธิอยู่ประมาณ 4,196 ล้านบาท และคาดว่า ผลจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งในส่วนของน้ำมันเบนซินและดีเซล ในช่วงที่ผ่านมา และการปรับราคาก๊าซครั้งล่าสุดนี้ กองทุนน้ำมันฯ น่าจะกลับมามีฐานะเป็นบวกได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทิศทางดังกล่าว จะช่วยให้ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ มีความมั่นคงมากขึ้น และสามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ LPG โดยเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ก๊าซ อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-10 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG และก๊าซ NGV ทั้งสิ้น 1.62 ล้านคัน แยกเป็นรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG จำนวน 1.21 ล้านคัน และที่ติดตั้งก๊าซ NGV อีก 0.41 ล้านคัน  

ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

การปรับราคาก๊าซ LPG และก๊าซ NGV ในครั้งนี้ ภาครัฐต้องการลดการอุดหนุนราคาพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดภาระเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการอุดหนุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามภายหลังจากการปรับราคาก๊าซในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นราคาพลังงานในตลาดโลกที่โดยทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีตามความต้องการที่สูงขึ้นในฤดูหนาว (ราคามักจะขยับสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงปกติราวร้อยละ 15 โดยราคาก๊าซ LPG ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน) และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศในยุโรป รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจมีผลกระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ อาจมีผลต่อภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาก๊าซเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจหนุนให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการปรับราคา LPG ทั้งภาคขนส่งและภาคครัวเรือน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้นอีกตามแผนที่มีการศึกษาไว้เดิม พร้อมๆ ไปกับการพิจารณาปรับเพิ่มราคา NGV ควบคู่กันไปด้วย (เข้าสู่ระดับ 15 บาท/กิโลกรัม: กระทรวงพลังงาน)

แต่กระนั้นก็ตาม การปรับขึ้นราคาพลังงานเพิ่มเติมในช่วงที่ประเด็นข้อสรุปของการปฏิรูปราคาพลังงานยังไม่ได้ข้อยุติ เกี่ยวกับโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมสำหรับผู้ใช้ก๊าซในแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงภาคปิโตรเคมี อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับแต่ละฝ่ายที่ต้องเร่งเดินหน้าหาข้อสรุปการกำหนดราคาก๊าซที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคประชาชนซึ่งจะเป็นผู้รับภาระต้นทุนในส่วนปลายของห่วงโซ่ธุรกิจทั้งหมด รวมไปถึงการคำนึงถึงความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านพลังงานของไทยภายใต้ปริมาณทรัพยากรก๊าซของไทยที่มีจำกัดและกำลังทยอยหมดลงในอนาคตซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย