คาดส่งออกมุสลิมขยายตัวร้อยละ 1.8 มาพร้อมโอกาสฮาลาลไทยที่ต้องจับตา


โลกมุสลิมถือเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจและมีอิทธิพลสำคัญต่อโลกยุคใหม่เป็นอย่างมาก  โดยมีอัตราการขยายตัวของประชากรมุสลิมยังสูงราวร้อยละ 1.5 ต่อปี ไทยมีแนวโน้มสูงในการจับธุรกิจอาหารฮาลาลในโลกมุสลิม ด้วยศักยภาพของไทยที่ค่อนข้างมีความพร้อม

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยที่หดตัวกว่าร้อยละ 0.36 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 การเฟ้นหาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเป็นการตอบโจทย์ระยะยาวของผู้ส่งออกไทย ทั้งนี้ โลกมุสลิมถือเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจและมีอิทธิพลสำคัญต่อโลกยุคใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากสัดส่วนประชากรมุสลิมบนโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา ส่งผลให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจ อันเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตควบคู่ไปกับความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้น

                ในระยะสั้น แม้ภาพรวมการส่งออกไปโลกมุสลิมในช่วง 10 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 4.1 ประเทศไทยเองก็ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพทางการตลาดดังกล่าว ด้วยการเร่งพัฒนาภาคการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อรองรับอุปสงค์จากประชากรอิสลามทั่วโลก ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีจำนวนประชากรมุสลิมภายในภูมิภาคนี้กว่า 260 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 43 ของจำนวนประชากรทั้งภูมิภาค โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีหลายประเทศที่มุ่งเน้นเข้ามาจับตลาดมุสลิมในอาเซียนมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เพิ่มการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนทั้งเพื่อเจาะตลาดมุสลิมในภูมิภาค และใช้อาเซียนเป็นฐานการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง ดังนั้น พลวัตการค้าการลงทุนดังกล่าวข้างต้น จึงยิ่งตอกย้ำความสำคัญของตลาดการค้าการลงทุนในตลาดมุสลิมของผู้ประกอบการไทยให้แจ่มชัดมากขึ้น

ความน่าสนใจของเศรษฐกิจโลกมุสลิมในปัจจุบัน คืออัตราการขยายตัวของประชากรมุสลิมยังสูงราวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประชากรโลกซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 0.7 ต่อปี ทั้งจากการเกิดใหม่ของประชากรมุสลิมเองและการเปลี่ยนศาสนาภายหลังการแต่งงาน จำนวนประชากรมุสลิมในปี 2556 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านคน หรือคิดเป็นราวร้อยละ 28.5 จากจำนวนประชากรทั่วโลกประมาณ 7 พันล้านคน อีกทั้งความแตกต่างของประชากรมุสลิมบนโลก อาจวัดได้จากมิติของอำนาจซื้อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่ยังอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูง ในขณะที่ ประชากรมุสลิมบางส่วนบนโลกมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศในแถบคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) อาทิ ซาอุดีอาระเบียที่จำนวนประชากรมุสลิมมีราว 27 ล้านคน แต่กลับมีกำลังซื้อสูง (GNI per capita ราว 26,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี) รวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศมุสลิมที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้โครงสร้างสินค้าที่ไทยส่งออกไปแต่ละประเทศแตกต่างกัน

คาดส่งออกไปโลกมุสลิมขยายตัวร้อยละ 1.8 ในปี 2558 ท่ามกลางความท้าทายหลายประเด็น

หากพิจารณามุมมองการค้าระหว่างประเทศของไทยกับโลกมุสลิมพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ 33,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวราวร้อยละ 4.1 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกที่ลดลงในปีนี้มาจาก แต่ก็เป็นไปเพราะการส่งออกไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยหดตัวจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ประกอบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเหล่านั้น ทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยลดลง หากแต่การส่งออกไปยังโลกมุสลิมที่ไม่รวมมาเลเซียและอินโดนีเซียกลับขยายตัวได้ร้อยละ 1.6 และหากพิจารณารายภูมิภาคในแถบคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) นั้น การส่งออกขยายตัวได้สดใสกว่าร้อยละ 6.0 (YoY) จนทำให้สัดส่วนการส่งออกไปยังโลกมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 14 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 18 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกของไทยไปยังโลกมุสลิมในปี 2557 จะมีมูลค่ารวมประมาณ 39,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวจากปี 2556 ราวร้อยละ 4.3 ในขณะที่ปี 2558 สถานการณ์การส่งออกของไทยไปยังประเทศมุสลิมน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.8 และมีมูลค่าการส่งออกรวมราว 40,166 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่ความต้องการสินค้าทางการเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในโลกมุสลิม อันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่ทางทวีปอเมริกาใต้ประสบอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวจากอุรุกวัย หรือน้ำตาลจากบราซิลที่เคยส่งออกไปกลุ่มประเทศมุสลิมลดลงอย่างมาก โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลของบราซิลคาดว่าจะลดลงเหลือ 24 ล้านตันในปี 2557/2558 (พ.ค. 2557-เม.ย. 2558) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ทำให้สินค้าทางการเกษตรของไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมได้ดีขึ้นในปีหน้า อีกทั้งการส่งออกข้าวไปยังอิรักน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากการยกเลิกการระงับการนำเข้าข้าวจากไทย รวมถึงสินค้าคงทนต่างๆที่คาดว่าจะขยายตัวดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ สินค้าของไทยที่มีแนวโน้มสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมและมีทิศทางขยายตัวในอนาคต ได้แก่ สินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบสินค้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม สินค้าธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการก่อสร้าง สินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สินค้าและบริการที่ตอบสนองประชากรที่มีรายได้สูง รวมถึงธุรกิจแฟชั่นมุสลิมที่ขยายตั และที่น่าจับตามองคือสินค้าอาหารฮาลาล

เนื่องจากประเทศมุสลิมเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มใหม่ (Niche market) ของอุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีศักยภาพสูง อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของโลกนับเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีขนาดใหญ่ราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในแถบ GCC ที่นำเข้าสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นจำนวนมากราวร้อยละ 80-90 ของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศได้อย่างพอเพียงจากสภาพพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ  ในขณะที่รายได้ต่อหัวและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2563 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารในกลุ่ม GCC จะขยายตัวสู่ 53.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2556 หรือขยายตัวโดยเฉลี่ยราวร้อยละ 6 ต่อปี

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานะการส่งออกอาหารฮาลาลและเครื่องดื่มกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนจะพบว่า ถึงแม้มาเลเซียจะมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าอยู่ที่ราว 5,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับมีสัดส่วนเทียบกับการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของประเทศที่สูงกว่าอยู่ที่ราวร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สามารถหันมาทำตลาดอาหารฮาลาลและขยายธุรกิจในกลุ่มนี้ได้ โดยใช้ความได้เปรียบทางด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2557 การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.4 โดยได้อานิสงส์หลักจากการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม GCC ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 8.4 แตะ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีราวร้อยละ 5.1 ไปอยู่ที่ 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวด้วยการเร่งหาตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ โดยผู้ส่งออกที่มีคู่ค้าในประเทศที่มีเริ่มมีปัญหาหรือผู้นำเข้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศดังกล่าวควรเริ่มเจรจาการค้ากับประเทศอื่นเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัท รวมทั้ง ควรป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีความเสี่ยงทางด้านการเมือง โดยผู้ประกอบการไทยควรเร่งรับมือกับแนวโน้มปัญหาในตะวันออกกลางผ่านการจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ อาทิ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านเครดิตและการชำระเงินทั้งจากระบบธนาคารและบริษัทคู่ค้าในประเทศที่เกิดปัญหา เป็นต้น