เงินช่วยเหลือเกษตรกร หนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นไตรมาสแรก


        ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB Analytics ประเมินว่าเม็ดเงินช่วยเหลือเกษตรกรช่วยหนุนกำลังซื้อ หากเร่งเบิกจ่ายได้เต็มอัตรา จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อมั่นให้กับธุรกิจท้องถิ่นภาคอีสาน ใต้ และเหนือ ได้ทันไตรมาสแรกของปี

        ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของชาวนา และชาวสวนยางพารา 85% ของเกษตรกรทั่วประเทศ รัฐบาลจึงกำหนดมาตราการช่วยเหลือพร้อมกับดูดซับผลผลิตทางการเกษตรประกอบด้วยวงเงินช่วยเหลือชาวนา รวม 9.55 หมื่นล้านบาท ได้แก่

(1) เงินช่วยเหลือต้นทุนเพาะปลูก 4 หมื่นล้านบาท

(2) สินเชื่อชะลอขายข้าวนาปีและสินเชื่อเพื่อเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง 5.25 หมื่นล้านบาท

(3) ค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือก 0.3 หมื่นล้านบาท สำหรับวงเงินช่วยเหลือชาวสวนยางพารา รวม 3.85 หมื่นล้านบาท

        นอกจากตัวเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ธุรกิจท้องถิ่นหลายกลุ่มยังมีเม็ดเงินผันเข้าไปหาด้วยโดย TMB Analytics ได้ศึกษาผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พบว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะถูกกระจายไปในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันตามผลผลิตและเนื้อที่เพาะปลูก ซึ่งพบว่าเกษตรกรในภาคอีสาน มีเม็ดเงินช่วยเหลือเข้าไปหมุนเวียนมากที่สุดราว 6.37 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นภาคใต้ 2.82 หมื่นล้านบาท และภาคเหนือ ราว 2.67 หมื่นล้านบาท ส่วนเม็ดเงินที่เหลืออีก 1.53 หมื่นล้านบาท จะกระจายเข้าสู่ภูมิภาคอื่น ๆ และเมื่อวิเคราะห์เชิงลึกผ่านโครงสร้างการผลิตและการจับจ่ายใช้สอยของเกษตรกร พบว่าธุรกิจท้องถิ่น ที่ได้รับผลดีจากมาตราการนั้นมีหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินช่วยเหลือ ทั้งนี้ TMB Analytics ประเมินว่า เงินช่วยเหลือชาวนาและชาวสวนยาง รวม 4.8 หมื่นล้านบาท ที่กำลังเร่งเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จะส่งผลดีทันทีกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่ม ค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกเครื่องใช้ในบ้าน การศึกษา บันเทิงและสันทนาการ สอดคล้องกับช่วงฤดูกาล และการจัดโปรโมชั่น ของร้านค้าช่วงปลายปีและต้นปีหน้าจึงเป็นแรงสนับสนุนในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจท้องถิ่น ในช่วงปลายไตรมาส 4 และต้นไตรมาส 1 ปีหน้าหากเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

        อย่างไรก็ดี มาตรการของกรมชลประทานที่ขอความร่วมมือชาวนา 26 จังหวัดในลุ่มน้าเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองงดทำนาปรังเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นประเด็นที่จะส่งผลลบต่อพื้นที่ภาคกลางแม้จะมีมาตรการช่วยเหลืออื่นเข้ามาเสริม โดยจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังจำนวนมาก อาทิ สุพรรณบุรี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา พิจิตร กาแพงเพชร นครสวรรค์ อาจได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปริมาณทำให้ผลผลิตข้าวทีลดลงในช่วงจำกัดพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิผลมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเบิกจ่ายและจำนวนเงินที่ออกสู่ระบบพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากทำได้รวดเร็วเต็มอัตรา อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นไตรมาสแรกได้อย่างแน่นอน