ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะขยายตัวร้อยละ 6.7 – 9.1 คิดเป็นมูลค่าตลาด อยู่ที่ 89,290 – 91,075 ล้านบาท โดยได้รับแรงผลักดันหลักจากการแข่งขันทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาระดับกลาง
ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมาตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเริ่มปรากฏสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงกำลังซื้อที่ถูกกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับล่างที่มีรายได้น้อย ชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยออกไป และหากพิจารณาเฉพาะตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย พบว่า ยอดการถือครองสมาร์ทโฟนในหมู่ผู้บริโภคไทยยังอยู่ในช่วงขยายตัว โดยจากการผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคไทยถือครองหรือใช้สมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 89.4 ของจำนวนประชากรที่ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนสูงที่สุดสองอันดับแรก คือ กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 23 – 30 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 33.9 และ 31 – 40 ปี โดย ร้อยละ 28.7 ของผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 23 – 40 ปี เป็นผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของตลาดสมาร์ทโฟน โดยมีสัดส่วนโดยรวมสูงถึงร้อยละ 62.6 ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ในปี 2558 ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยจะยังคงขยายตัว โดยได้รับแรงผลักดันหลักจากการแข่งขันทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในหลายระดับราคา โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาระดับกลางที่ผู้ผลิตต่างยกระดับคุณสมบัติการใช้งานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ในขณะที่จัดจำหน่ายในราคาที่ถูกลง อีกทั้ง ตลาดสมาร์ทโฟนยังได้รับการผลักดันจากกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยทำการตลาดเพื่อผลักดันลูกค้าของตนเองให้เปลี่ยนมาใช้บริการโครงข่าย 3G/ 4G ที่มีประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลทดแทนการใช้บริการโครงข่าย 2G เดิม อาทิเช่น การนำโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าแบบ 2G หรือนำสมาร์ทโฟนรุ่นเก่ามาแลกสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ในราคาที่มีส่วนลด หรือการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่พร้อมแพ็คเกจการใช้งาน 3G/ 4G ราคาถูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเหล่านั้นตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 3G/ 4G ได้ง่ายขึ้น โดยในปัจจุบัน ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบ 2G อยู่ราว 13 ล้านราย
อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ตลาดสมาร์ทโฟนไทยอาจจะได้รับปัจจัยกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยภาพรวมที่ยังอยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อในภาคครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะครัวเรือนระดับล่างที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ผู้ที่ถือครองสมาร์ทโฟนอยู่แล้วบางส่วนอาจชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ เนื่องจากมองว่ายังไม่มีความแตกต่างหรือไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสร้างความแปลกใหม่อย่างชัดเจน
แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นดังที่กล่าวมาข้างต้น จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มอายุระหว่าง 23 – 40 ปี หรือกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงที่นิยมติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีแนวโน้มเปลี่ยนอุปกรณ์เคลื่อนที่ให้ทันสมัย จึงนับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่จะสามารถทำการผลิตหรือทำการตลาดต่างๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2558 ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะมียอดขายโดยรวมราว 15.6 – 15.9 ล้านเครื่อง ขยายตัวร้อยละ 6.7 – 9.1 จากปี 2557 ที่มียอดขายประมาณ 14.6 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่าตลาดในปี 2558 อยู่ที่ 89,290 – 91,075 ล้านบาท เติบโตในกรอบร้อยละ 3.2 – 5.3 จากมูลค่าตลาดในปี 2557 ที่ 86,515 ล้านบาท นั่นเป็นเพราะราคาสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำลงเมื่อเทียบกับคุณสมบัติการใช้งานเดียวกันจากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านราคาในตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในปัจจุบัน การมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกที่สำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีอยู่ราว 11.8 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากนัก ทำให้มีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในระดับต่ำ โดยจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอยู่เพียงร้อยละ 21.9 ของจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปทั้งหมด จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการที่จะออกแบบสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหน้าจอใหญ่ น้ำหนักเบา ทนแรงกระแทก ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อน เช่น มีตัวอักษร ตัวเลข ไอคอนของแอพพลิเคชั่นที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นการใช้งานที่สามารถสั่งงานได้ด้วยเสียง สามารถรองรับฟังก์ชั่นหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับสุขภาพต่างๆ อย่างการนับก้าวเดิน หรือการนับจังหวะการเต้นของหัวใจ และการเข้าถึงเบอร์โทรฉุกเฉินอย่างรถพยาบาลหรือบุตรหลานได้อย่างสะดวก เป็นต้น
สำหรับด้านผู้จัดจำหน่าย นอกเหนือจากการพิจารณากลยุทธ์ในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายข้างต้น ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง ผู้จัดจำหน่ายยังคงต้องพึงระวังด้านการบริหารจัดการสินค้าคงคลังอีกด้วย โดยเฉพาะผู้จัดจำหน่ายรายย่อยหรือ SMEs เนื่องจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจับตามองกระแสความนิยมทางด้านเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเน้นคุณภาพการบริการทั้งก่อนและหลังการขายอย่างเป็นกันเองและน่าประทับใจ เป็นต้น