ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2558 ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 คาด ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.71-1.77 ล้านเครื่อง พร้อมแนะตลาดอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV+I น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศของไทย
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่มียอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศสูงสุดของทุกปี เนื่องจากสภาพอากาศร้อนเป็นแรงผลักดันพื้นฐานต่อความต้องการซื้อเครื่องปรับอากาศของผู้บริโภค โดยจากสถิติยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศของไทยจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายเครื่องปรับอากาศต่อเดือนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าช่วงอื่นของปีอยู่ที่ร้อยละ 94.0
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2558 ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงฤดูร้อน โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางพฤษภาคม ปี 2558 ประเทศไทยอาจจะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 55 ปี ประกอบกับการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเครื่องปรับอากาศ โดยผู้ประกอบการต่างพากันเปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่และแข่งขันทำการตลาดอย่างดุเดือดดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่มีเครื่องปรับอากาศใช้ในครัวเรือนอยู่แล้วมีแนวโน้มหันมาติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ภายในบ้าน ขณะที่ผู้บริโภคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศใช้ในครัวเรือนและพอจะมีกำลังซื้อ อาจทำการตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยจากข้อมูลยอดขายเครื่องปรับอากาศล่าสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ยอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ในเชิงบวกต่อตลาดเครื่องปรับอากาศไทย
อีกทั้ง ตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยยังมีโอกาสให้ขยายตัวได้อีกมาก โดยจากการสำรวจการใช้พลังงานในครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนไทยถือครองเครื่องปรับอากาศอยู่เพียงร้อยละ 18.4 ของครัวเรือนทั้งหมด และในปัจจุบัน คาดว่าอัตราการถือครองจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 20.0 ของครัวเรือนไทยทั้งหมด ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่มียอดการถือครองอยู่ที่ร้อยละ 74.0 และร้อยละ 26.02 ตามลำดับ ดังนั้น หากกำลังซื้อในภาคครัวเรือนโดยภาพรวมมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในไทยก็จะมีโอกาสทำการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้และยอดขายได้อีกมาก
อย่างไรก็ดี ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยปี 2558 ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยที่คล้ายคลึงกับปี 2557 นั่นคือ หนี้ครัวเรือนที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง จะเห็นได้จากจำนวนที่พักอาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของโครงการเปิดใหม่ในช่วงปีก่อนหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่พักอาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2558 จะมีประมาณ 129,500 – 132,500 หน่วย หดตัวราวร้อยละ 1.4 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.9 จากปี 2557 ที่มีจำนวน 131,374 หน่วย ซึ่งหดตัวร้อยละ 0.7 จากปี 2556 ทั้งนี้ในปี 2558 ยอดขายเครื่องปรับอากาศในไทยจะมีประมาณ 1.71 – 1.77 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 6.2 – 10.4 จากปี 2557 โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 24,840 – 25,720 ล้านบาท เติบโตในกรอบร้อยละ 3.0 – 6.7 จากปี 2557 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 24,110 ล้านบาท
นอกเหนือจากการขยายตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะให้ทำ การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีสภาพอากาศร้อน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศของไทย โดยปัจจุบัน ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 35.7 ของปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมด นับว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดประมาณ 21,067.1 ล้านบาท
หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยไปยังภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนการส่งออกราวร้อยละ 37.9 ร้อยละ 31.6 และร้อยละ 14.0 ของปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศไทยในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 9.6 ต่อปี
อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศประมาณ 3.69 ล้านเครื่อง ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 จากปี 2556 นั่นเป็นเพราะในปี 2557 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.8 ในปี 2556 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ทำให้การบริโภคในภาคครัวเรือนและการลงทุนในภาคเอกชนของอินโดนีเซียลดลง ประกอบกับการอ่อนค่าของค่าเงินรูเปียที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541 จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทย ทำให้ในปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังอินโดนีเซียลดลงราวร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปี 2554 – 2557 ก็ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายไทย ยังมีโอกาสส่งออกหรือขยายตลาดเครื่องปรับอากาศไปยังภูมิภาคอาเซียนได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนของประเทศต่างๆ ยังอยู่ที่ระดับต่ำ อาทิเช่น อินโดนีเซียมีอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 11.04 มาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 26.04 ขณะที่เวียดนามมีอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ร้อยละ 8.0 จากครัวเรือนทั้งหมด เป็นต้น ประกอบกับอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวเกือบทั้งปี ก็เป็นส่วนผลักดันสำคัญที่ทำให้เครื่องปรับอากาศเป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคในอาเซียน ถึงแม้ว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังอาเซียนลดลงถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกไปยังอินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักลดลงราวร้อยละ 38.3 และร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ชะลอตัวตามที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ธนาคารกลางเวียดนามก็ประกาศลดค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลงร้อยละ 1.0 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการส่งออก จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้านำเข้าอย่างเครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงอาจชะลอการนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทย
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV+I) ยังเป็นตลาดต่างประเทศที่น่าจับตามองสำหรับการเข้าไปทำการตลาดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากราว 244.4 ล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ ประกอบกับอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ โดยนำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 62.1 ขณะที่นำเข้าจากจีนซึ่งเป็นคู่แข่งเครื่องปรับอากาศของไทยในอินโดนีเซีย ในสัดส่วนร้อยละ 23.4 จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องปรับอากาศทั้งหมด รวมทั้งผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียจะนิยมใช้เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เนื่องจากชาวอินโดนีเซียจะนิยมกั้นห้องเป็นห้องขนาดเล็ก (ประมาณ 16 ตารางเมตร) เพื่อติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมักจะใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ขณะที่เครื่องปรับอากาศขนาดกลางก็ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มโรงแรม ออฟฟิศ ร้านค้าขนาดใหญ่ในแหล่งช้อปปิ้ง หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.75 สู่ระดับร้อยละ 7.5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเศรษฐกิจอินโดนีเซียฟื้นตัวดีขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ก็น่าจะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในส่วนของตลาดเครื่องปรับอากาศดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ตลาด CLMV ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าจับตามองในอนาคต เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2554 – 2557 ไทยมีปริมาณการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 49.4 ร้อยละ 27.8 ร้อยละ 51.1 และร้อยละ 16.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจโรงแรม ร้านค้า และที่พักอาศัยขยายตัว
ทั้งนี้ การเข้าไปทำการตลาดตามประเทศต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจ นโยบายทางการเงิน การค้า และการของลงทุนของประเทศคู่ค้า รวมถึงความท้าทายจากคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากจีนซึ่งสามารถผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศของไทย เกาหลี และญี่ปุ่น อีกทั้ง สำหรับคู่ค้าบางประเทศก็อาจมีการขยายกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศได้มากขึ้นในอีกระยะข้างหน้าจากการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายควรต้องมุ่งทำการตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิเช่น ในประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการอาจจะมุ่งเน้นผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศโดยชูนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและคุณภาพทั้งคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการก่อนและหลังการขาย โดยเน้นผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางและระดับบนเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ที่ ณ ปัจจุบัน ประชากรโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก ผู้ประกอบการอาจจะทำการตลาดสู่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีกำลังซื้อเป็นหลัก หรือใช้กลยุทธ์ในการสร้างพันธมิตรเพื่อรุกในตลาดที่อยู่อาศัย หรือโรงแรม เป็นต้น