ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องเผชิญกับความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง สะท้อนให้เห็นจาก GDP ของ SMEs ในปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม SMEs ไทยยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก GDP ของ SMEs มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของ GDP ทั้งหมดของไทย
นอกจากนั้น SMEs ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนอีกด้วย ภาครัฐเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงมีนโยบายส่งเสริม SMEs มาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ทางการไทยเร่งผลักดันและเป็นโอกาสของ SMEs ในขณะนี้ คือ นโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริเวณชายแดน การจัดตั้งในระยะแรกประกอบด้วย 5 พื้นที่ โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบของเขตอุตสาหกรรม เขตการค้า หรือเขตการบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ปัจจัยการผลิต แรงงาน และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ SMEs ไทยยังมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนจากแนวโน้มการค้าชายแดนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หากพิจารณาการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และมาเลเซีย ในเดือน ม.ค. – ส.ค. ของปี 2557 นั้น พบว่า มีมูลค่ากว่า 6.3 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.3 และคาดว่าการค้าชายแดนจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นหลังจากเข้าสู่ AEC คาดว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทยในภาพรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ SMEs ไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปริมาณการค้าและการลงทุนที่อาจเติบโตแบบก้าวกระโดด ตลอดจนการแข่งขันในภูมิภาคที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น
โอกาสที่แตกต่างของ SMEs ไทยในแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโอกาสของ SMEs ไทย เนื่องจากพื้นที่ที่กำหนดอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพในทางการค้าและการลงทุน โดยอยู่ใกล้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสในการพัฒนากิจการ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน รวมถึงการเป็นจุดพักสินค้า เพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ธุรกิจไทยน่าจะได้ประโยชน์จากด้านการค้าเป็นหลัก เนื่องจากด้านการลงทุนยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบการจัดการด่านชายแดน เป็นต้นโดยธุรกิจเด่นที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายตัวจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในแต่ละพื้นที่นำร่องทั้ง 5 ก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
อ.แม่สอด จ.ตาก (ด่านแม่สอด)
พื้นที่ : ประตูการค้าฝั่งเมียนมาร์ โดยผ่านทางเมียวดี ไปยังย่างกุ้งและเมืองสำคัญอื่นๆ ของเมียนมาร์ ร่วมถึงจีนตอนใต้
จุดเด่น : มูลค่าการค้าชายแดนไทย – เมียนมาร์ สูงที่สุด และอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตกเชื่อมไปถึงเวียดนาม
ธุรกิจที่มีศักยภาพ : อัญมณี และเครื่องประดับ ,สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ,สินค้าเกษตรแปรรูป ,พลังงานทดแทน และเฟอร์นิเจอร์
อ.เมือง จ.มุกดาหาร (ด่านมุกดาหาร)
พื้นที่ : เมืองการค้าชายแดน ที่เป็นจุดแวะพักสินค้า ในเส้นทางคมนาคมขนส่ง ระหว่างเมียนมาร์ – ไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม
จุดเด่น : อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก
ธุรกิจที่มีศักยภาพ : สินค้าเกษตรแปรรูป ,การค้าปลีกค้าส่ง ,คลังสินค้า ,อิเล็กทรอนิกส์ ,ยานยนต์
อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ)
พื่นที่ : ตลาดค้าส่งค้าปลีกชายแดน อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และสะดวกต่อการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
จุดเด่น : เป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย – กัมพูชามากที่สุด ,ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง และอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้
ธุรกิจที่มีศักยภาพ : สินค้าเกษตรแปรรูป ,คลังสินค้า ,ธุรกิจค้าส่ง
อ.เขาสมิง จ.ตราด (ด่านคลองใหญ่)
พื้นที่ : ด่านชายแดนที่อยู่ระหว่างอ่าวไทยและกัมพูชา ทำให้มีช่องทางขนสินค้าครบ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
จุดเด่น : มีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ,ใกล้ท่าเรือสีหนุวิลล์ และอยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้
ธุรกิจที่มีศักยภาพ : การท่องเที่ยว ,ประมง ,ธุรกิจขนส่ง
อ.สะเดา จ.สงขลา (ด่านสะเดา – ปาดังเบซาร์)
พื้นที่ : มูลค่าการค้าชายแดนมากกว่าร้อยละ 50 ของการค้าชายแดนทั้งหมด สามารถเชื่อมโยงไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูก แปรรูปยางพารา และปาล์มน้ำมันที่สำคัญของไทย
จุดเด่น : เป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในประเทศไทย ,ใกล้ท่าเรือปีนัง ท่าเรือกลางของมาเลเซีย และยังมีรถไฟเชื่อมไปยังมาเลเซีย
ธุรกิจที่มีศักยภาพ : ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ,อุตสาหกรรมอาหาร (ประมงและอาหารฮาลาล) ,อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลักตามลักษณะของอุตสาหกรรม ได้แก่
1.การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบ และสินค้าต้นน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาศัยความพร้อมด้านวัตถุดิบที่มาจากแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสัตว์น้ำ สินค้าเกษตรขั้นต้น ไม้แปรรูปและแร่ธาตุบางชนิดเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำในประเทศไทย และจัดจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก
2.การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า โดย SMEs ไทยส่งออกสินค้าต้นน้ำ/กลางน้ำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน และจัดจำหน่ายในประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออาจส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในประเทศที่ 3 ต่อไป
3.การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เป็นต้น โดย SMEs ไทยสามารถส่งออกวัตถุดิบ/สินค้าต้นน้ำจากไทยไปผลิตสินค้าที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ แล้วส่งกลับมาผลิตขั้นตอนสุดท้ายในไทย เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยหรือส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ
สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจัยหนุน SMEs ไทย
สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องทั้ง 5 แห่งนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการศึกษาแผนแม่บทจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ฉบับเดิม) ประกอบกับข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปถึงสิทธิประโยชน์ในเบื้องต้นที่คาดว่า SMEs จะได้รับ ดังนี้
1. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
คาดว่าผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือมากกว่า (บีโอไอ เขต 3 พลัส) ซึ่งสิทธิพิเศษขั้นต่ำ เช่นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี อนุญาตให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิร้อยละ 25 ของเงินลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และอาจขยายเวลาหรือเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามความเหมาะสม
2. ผลประโยชน์อื่นๆ เป็นผลประโยชน์ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยตรง เช่น
2.1 มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว
ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจมีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามาทำงานในไทยตามขอบเขตที่กำหนดไว้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ การใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวในการเดินทางข้ามฝั่งไปมาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจในไทยได้
2.2 การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จจำแนกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จบริเวณชายแดน เพื่อให้บริการตรวจปล่อยสินค้านำเข้า/ส่งออก และการเข้าออกของแรงงานต่างด้าว ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
2 การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จบริเวณนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านเอกสารและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ขั้นตอนอนุมัติโครงการ จนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการ
ทั้งนี้ หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศข้างเคียงของไทยอย่างเมียนมาร์ กัมพูชา สปป.ลาว และมาเลเซียแล้ว พบว่า ยังมีการให้สิทธิประโยชน์ในด้านการผ่อนผันการเช่าที่ดินหรือการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งสำหรับการตัดสินใจลงทุน จึงมีความเป็นไปได้ว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยอาจมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย