สภาวะแวดล้อม และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ยังคงมีสัญญาณที่อ่อนแอลง เฉพาะสถานการณ์รายได้ และเงินออมที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ และการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือน ยังคงไม่ปรับลดลงมา แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มทยอยปรับลดลงมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา
ความกังวลต่อภาวะการครองชีพ สะท้อนผ่านมายังดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน หรือ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 45.0 ในเดือนพ.ค. 2558 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ ดัชนีที่สะท้อนการคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลงมาแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนที่ 46.2
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงเผชิญแรงกดดันที่ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ โดยอาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1.2 (YoY) ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2558
สัญญาณล่าสุดจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งในส่วนของสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน รวมถึงการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมราคาในหมวดอาหารสดและพลังงาน) ตอกย้ำว่า สถานการณ์การบริโภคของภาคครัวเรือนยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างซบเซา ขณะที่ผลสำรวจภาคครัวเรือนล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนให้เห็นในเบื้องต้นว่า มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นที่กังวลต่อประเด็นค่าครองชีพ
จากผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนล่าสุดในเดือนพ.ค. 2558 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.0 จากระดับ 45.8 ในเดือนเม.ย. 2558 ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ลดต่ำลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ 46.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคการเกษตรยังไม่ฟื้นกลับมาจนสามารถชดเชยกับภาระค่าใช้จ่ายได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายครัวเรือนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงเปิดภาคการศึกษา นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีผลโดยตรงต่อภาระการชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนมากนัก เนื่องจากการก่อหนี้ระยะยาวมักจะมีการทำสัญญาผูกพันค่างวดไว้ล่วงหน้า
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้จากผลสำรวจล่าสุด คือ ครัวเรือนเริ่มมีความกังวลต่อภาวะการออมเงิน ทั้งนี้ ดัชนีที่สะท้อนมุมมองต่อภาวะการออมของครัวเรือนในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ลดลงมาที่ระดับ 48.3 และ 49.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรก
จากการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อมั่นที่มีต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ แต่กลับเริ่มมีความกังวลต่อการออมมากขึ้น อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคเกษตร และครัวเรือนที่ไม่มีรายได้ประจำ ต่างต้องรับมือกับสถานการณ์ตึงตัวระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนหนี้สินและรายจ่ายในชีวิตประจำวันส่วนอื่นๆ เป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อประเด็นนี้ อาจคลายตัวลง หากเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น และทำให้กระแสรายได้และการมีงานทำของภาคครัวเรือนมีความสม่ำเสมอมากขึ้น
ดังนั้นสภาวะแวดล้อมของครัวเรือน ยังคงรายล้อมไปด้วยปัจจัยที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์รายได้และเงินออม ซึ่งอาจจะยังไม่สอดคล้องกับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งทิศทางดังกล่าวสะท้อนผ่านมายังดัชนี KR-ECI และดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ยังคงปรับตัวลงตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา จนมาอยู่ที่ 45.0 และ 46.2 ในเดือนพ.ค. 2558 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนดังกล่าวประกอบเข้ากับสัญญาณล่าสุดจากเครื่องชี้ด้านการบริโภคในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยอาจจะขยายตัวในระดับไม่สูงมากนักที่ประมาณร้อยละ 1.2 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ สถานการณ์ที่หลายครัวเรือนเริ่มมีความกังวลต่อภาวะการออมเงิน ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงระยะสั้นจากการที่รายได้ของภาคครัวเรือนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากเศรษฐกิจไทยกลับมามีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีแล้ว มุมมองเชิงลบต่อการออมก็อาจจะทยอยลดลงได้ตามลำดับ