ใครที่มีไอเดียเด็ดโดนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ และ มีความฝันอยากสร้างสิ่งต่างๆ เป็นนักประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานการออกแบบ โดยแลกเปลี่ยนไอเดียกับผู้ที่มีความสนใจที่ใกล้เคียงกัน มองภาพในมุมที่คล้ายคลึงกัน “เมกเกอร์ สเปซ” (Maker Space) คือคำตอบของคนที่มีแนวร่วมในทิศทางเดียวกัน เขาเหล่านั้นสามารถรังสรรค์ชิ้นงานต้นแบบในจินตนาการให้ออกมาเป็นชิ้นงานต้นแบบที่จับต้องได้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรแพงๆ แต่สามารถไปเช่าใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อก่อร่างสร้างฝันให้เป็นจริงได้
เมกเกอร์ สเปซ เน้นการสร้างชิ้นงาน เป็นฮาร์ดแวร์ ที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เทคโนโลยีเซนเซอร์ การเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต (Internet Of Things :IoT) เป็นการผลิต ที่แตกต่างจากโคเวิร์คกิ้งสเปซ (Co-Working Space) ที่เป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่อยากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ Start up โดยเฉพาะเทคสตาร์ทอัพ ที่เน้นแอพพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ที่มีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถขยายตัว และทำซ้ำได้
อย่างไรก็ตาม เมกเกอร์ สเปซ บางแห่งจะมีพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันซึ่งเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซให้บริการด้วย ทั้งนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระแสของเมกเกอร์ สเปซ เริ่มเบ่งบาน เพราะเครื่องมือด้านการผลิตดิจิทัลที่ทันสมัยและมีราคาต่ำลง วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ และความต้องการอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้มีบริษัทหลายแห่งได้จัดตั้งเมกเกอร์ สเปซ กระจายไปในหลากหลายและคลอบคลุมสถานที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ
นที แสง ผู้ก่อตั้งบริษัท เมกเกอร์สเปซ จำกัด ในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงเป้าหมายที่สร้างสเปซบนพื้นที่ 450 ตารางเมตรว่า อยากให้เป็น Platform for Innovation ซึ่งมีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ จากงานขายฝันกลายมาเป็นงานที่เป็นรูปธรรม โดยมีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้เหล่าเมกเกอร์ได้สร้างต้นแบบชิ้นงานตามไอเดีย ทดสอบชิ้นงาน ปรับเปลี่ยน จนพร้อมลุยออกสู่ตลาด เปลี่ยนความเพ้อฝันให้กลายเป็นจริงได้
เมกเกอร์สเปซมิได้จำกัดแค่การบริการทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องการสร้างไอเดียเป็นผลงานออกมาได้เป็นจริง นอกจากนี้ เมกเกอร์สเปซยังส่งเสริมการเป็น enterpreneurship ให้นักประดิษฐ์ นวัตกร ได้สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า และเปิดโอกาสให้นักคิดเหล่านี้ ได้สร้างความฝันให้เป็นจริงและเติบโตขึ้น
เมกเกอร์สเปซ ได้จัดหาเครื่องมือต่างๆ ตั้งแต่เครื่องมือช่างอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ CNC Machine Tools โดรน ชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สนับสนุนงานทำ Internet Of Things ดิจิทัลแมนูแฟคเจอริ่ง รวมถึงยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า (Electric car/ motobike) ทั้งหมดเพื่อลดภาระการจัดซื้ออุปกรณ์ให้กับเมกเกอร์มือใหม่ ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน โดยคิดราคาที่ย่อมเยา และสมเหตุผลเพื่อเปิดโอกาสให้เมกเกอร์ที่ทำเป็นงานอดิเรก มือสมัครเล่น และมืออาชีพ ได้เข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งยังเป็นคอมมูนิตี้สำหรับนักสร้างสรรค์มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ โดยการคิดค่าใช้จ่ายเป็นแบบสมาชิก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ คิดรายชั่วโมง
ในกรุงเทพฯ มีเมกเกอร์สเปซหลักๆ หลายแห่งด้วยกัน โดยแห่งล่าสุดแกะกล่องกันเมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา PINN Creative Space สาขาดิสคัฟเวอรี่ ที่จัดตั้งโดยคุณหมอจิมมี่ ภาณุทัต เตชะเสน เมกเกอร์ จากเชียงใหม่ ผู้หลงใหลเทคโนโลยี และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเชียงใหม่ เมกเกอร์ คลับ
คุณหมอจิมมี่ มองว่าสาขาล่าสุดบนพื้นที่กว่าร้อยตารางเมตรแห่งนี้ น่าจะเป็นเมกเกอร์สเปซที่สวย ทำเลเยี่ยม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีที่สุดให้กับเมกเกอร์ที่พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยให้ครีเอเตอร์ ผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เข้ากับไอเดียด้านศิลปะไม่ว่าจะเป็น เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องถัก และเครื่องเย็บปักถักร้อย มีกิจกรรมเวิร์คช้อป และอบรมความรู้การออกแบบ ในส่วนของพื้นที่ทำงานทั้งหมดรองรับการผลิตชิ้นงานที่ออกแบบดิจิทัลโดยใช้เครื่องมือที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เป็น Digital Fabrication ที่สอดรับกับการเข้าสู่ยุค อินดัสตรี 4.0 ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในการผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลด้วยปริมาณมากๆ เป็น mass customization ได้ด้วยต้นทุนต่ำ
“เราจะรองรับครีเอทีฟยูสเซอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเจนเนอเรชั่นวายและเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ที่ต้องการเป็นครีเอทีฟ สตาร์ทอัพ และมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ”
อนาคตอันใกล้ จะเพิ่มบริการอี-คอมเมิร์ซ ให้ครีเอเตอร์ได้ขายชิ้นงานอีกด้วย ปัจจุบัน PINN Creative Space สาขาสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นสาขาที่สี่ รองจากเชียงใหม่ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต และเดอะช้อป พระรามเก้า และคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีสาขายี่สิบแห่งทั่วประเทศ
ส่วนฝั่งเส้นพหลโยธิน มี แฟบ คาเฟ่ (Fab Cafe) อยู่ในซอยอารีย์ 1 ก่อตั้งโดย อาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรม 3 คน ได้แก่ กัลยา โกวิทวิสิทธิ์, สมรรถพล ตาณพันธุ์ และชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ที่อยากหารูปแบบธุรกิจที่ให้นักศึกษาเหล่านี้ได้คิดผลิตงานสร้างสรรค์ มีแหล่งรองรับที่ทำออกมาได้เป็นชิ้นงาน 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ เป็นการผลิตต้นกล้าที่แข็งแรงเติบโตสู่ไม้ใหญ่ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
แฟบ คาเฟ่ ในกรุงเทพฯ เป็นสาขาที่ห้าของแฟบ คาเฟ่ที่ให้บริการในหกเมืองทั่วโลก อาทิ ไต้หวัน สองเมืองในสเปน ,ญี่ปุ่น และ ล่าสุดที่ฝรั่งเศส
จุดเด่นของแฟบ คาเฟ่ แห่งนี้ นอกจากจะมีการผสานกันระหว่างการนำเครื่องมือวิศวกรรมการออกแบบยุคใหม่มาใช้ ทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติที่ใช้ขึ้นรูปพลาสติก ,เครื่องมือช่างที่สามารถสร้างผลงานด้วยวัสดุต่างๆ ทั้งไม้ พลาสติก อะคริลิก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่นหัวแร้ง มัลติมิเตอร์ Oscilloscope ตะกั่ว สายไฟต่างๆ แม้กระทั่งเครื่องเย็บผ้าอัตโนมัติมาให้บริการแล้ว ยังมีร้านกาแฟ ที่ให้บริการเครื่องดื่ม เพื่อพบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือคนในครอบครัว
อีกหนึ่งทางเลือกของเหล่าเมกเกอร์ (Home of Maker) ที่อยู่ในย่านรัชดาภิเษก บนอาคารฟอร์จูนทาวน์ เป็นศูนย์รวมสำหรับนักประดิษฐ์และนักประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง (DIY elecrtronic shops) มีจุดเด่นอยู่ตรงที่มีพีซีบีบอร์ดขาย จัดจำหน่ายโดยบริษัทกราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นผู้จัดตั้ง Home of Maker นั่นเอง
และไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเก่า อยุธยา เมกเกอร์ สเปซ ก็ได้ให้บริการเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์สามมิติ ซอฟต์แวร์แคดแคม เครื่องซีเอ็นซี และเครื่องมือสำหรับช่างไม้ มาให้บริการกับเมกเกอร์ที่อยู่ในพื้นที่อีกด้วย