น่าตกใจ! อีก 12 ปี เด็กไทยจะตกงาน 72%


นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปาฐกถาพิเศษ ในงาน “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปประเทศ” ระบุว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องตอบโจทย์ประเทศให้ได้ โดยขณะนี้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องสร้างนวัตกรรมเองให้ได้ เพื่อยกระดับประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การศึกษาทุกระดับต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ครู อาจารย์ ต้องปรับกระบวนการทางความคิด จะสอนด้วยหลักสูตรแบบเดิม การเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์ข้างหน้า

โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 เด็กไทยที่เรียนจบจะตกงาน 72 เปอร์เซ็นต์ การทำงานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์เอไอ ในส่วนของประเทศไทยถูกแทนที่ด้วยเอไอประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ยุโรป 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ตนคิดว่าน่าจะเร็วกว่านั้น ต่อไปความรู้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ความรู้ล้าสมัยได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างทักษะสมรรถนะในตัวของเด็กให้สามารถเปลี่ยนตัวเอง สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้องค์กร ครูอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มาเร็วและรุนแรงมาก ตนไม่อยากให้ประเทศเราเป็นประเทศที่ล้าหลัง แพ้ลาว เขมร “ลูกศิษย์เราที่ผลิตออกไปจะตกงาน อาชีพบางอย่างจะถูกแทนด้วยเครื่องมือ หุ่นยนต์ เช่น สถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น จึงต้องเตรียมความพร้อมว่า ลูกศิษย์ของเราถ้าจบแล้วจะออกไปทำอาชีพอะไรได้ ตอนนี้บริษัทหลายแห่งตอนนี้ รับสมัครงานโดยไม่สนใบปริญญา โลกเปลี่ยนไปมาก ถ้าระบบการเรียนการสอนยังเหมือนเดิมไม่ตอบโจทย์ เด็กก็จะไม่เข้ามาเรียน อย่างในสหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 4,400 แห่ง ปิดตัวไปแล้ว 500-600 แห่ง และ อีก 10 ปีข้างหน้า จะปิดลงอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เด็กหันมาเรียนออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้เด็กปี 1 ทุกมหาวิทยาลัยลดลง 70 เปอร์เซ็นต์

เด็กที่เข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานลดลงทุกโรงเรียน”นพ.อุดมกล่าว นพ.อุดม กล่าวต่อว่า “กระบวนการเรียนรู้ต้องเปลี่ยน การเรียนในห้องเรียนต้องลดลง การเรียนที่สำคัญที่สุดคือ การเรียนจากการทำงาน เรียนจากประสบการณ์จริง ครูต้องเปลี่ยนหน้าที่เป็นโค้ชกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูต้องไม่สอน ดึงศักยภาพเด็กออกมาให้ได้ ทุกคนมีศักยภาพไม่เหมือนกัน เราต้องไม่ตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว เด็กชอบอะไร เด็กถนัดอะไร เราต้องดึงทักษะ สมรรถนะของเขาออกมาพัฒนาให้ได้ เป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ยุคใหม่

หลักสูตรในระดับอุดมศึกษาบางหลักสูตร จะต้องปรับให้มีความทันสมัย การเรียนแบบคณะต้องหายไป มีการบูรณาการการเรียน ร่วมกันมากขึ้น มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ได้ ต้องตอบโจทย์เด็ก มีคุณภาพ ตอบโจทย์ประเทศและโลกที่กำลังเปลี่ยน เราไม่อยากให้มหาวิทยาลัยปิดตัว แต่ปัจจัยต่างๆ กำลังคุกคามอย่างหนัก ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ก็อยู่ไม่ได้”