แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับบรรดาเกษตรกรไทย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนเล็กๆ ให้เกษตรกรไทย รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จับตาดูประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างจีน ที่เวลานี้กำลังเร่งวิจัยพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร จากปัจจุบัน จีนต้องนำเข้าพืชผลทางการเกษตร อาทิ ข้าว ผัก ผลไม้บางชนิด ฯลฯ ที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรในประเทศที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน
ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทางการจีนจึงทุ่มเททั้งงบประมาณและกำลังคนจำนวนมาก ค้นคว้าวิจัยทางด้านการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ขณะเดียวกันก็ทดลองในสนามจริงตามมณฑลต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ไปจนถึงเลือกสรรพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่สามารถนำไปขยายต่อยอดทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกสร้างรายได้ทดแทนการนำเข้า
โดยเฉพาะ ทุเรียน ผลไม้ยอดฮิตที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียและชาวจีนอย่างมาก ส่งผลให้ยอดส่งออกทุเรียนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศสูงที่สุด เห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกทุเรียนสูงถึง 44 % ของยอดส่งออกผลไม้โดยรวมทั้งหมด
หากพิจารณาในแง่มูลค่าพบว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกทุเรียนไปจำหน่ายในตลาดโลกสูงถึง 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ 45% โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีน และประเทศในอาเซียน ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกไปตลาดจีนรวม 425 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ผ่านมา 70% ทั้งนี้ ปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนรวมทั้งสิ้น 5.18 แสนตัน มูลค่ารวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
ความนิยมบริโภคทุเรียนที่คนจีนถือเป็นผลไม้มงคลพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการจีนใช้วิธีเรียนลัด นำเข้าพันธุ์ทุเรียนยอดนิยมจากมาเลเซีย ไปใช้เป็นต้นแบบในการวิจัยพัฒนาการปลูกทุเรียนในมณฑลไหหลำ แหล่งที่เคยปลูกเงาะ รวมทั้งทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยได้ผลมาแล้ว ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ความพยายามในการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวก็คืบหน้าไปไกล ทำให้ทางการจีนตั้งเป้าผลิตข้าวในเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกในอนาคตอันใกล้ โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง รายงานว่า สำนักข่าว China Daily ระบุว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนข้าวทนดินเค็ม เมืองชิงต่าว มณฑลชานตง ของจีน ได้ทดลองปลูกข้าวทนดินเค็มด้วยเมล็ดพันธุ์ใหม่กว่า 300 สายพันธุ์ ในพื้นที่ 670 เฮกตาร์ หรือประมาณ 4,187 ไร่ เพื่อคัดสรรสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก และทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นผลมาจากพื้นที่เพราะปลูกข้าว และพื้นที่กักเก็บน้ำในระบบชลประทานของลดลง และยังเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจรักษาความมั่นคงทางอาหาร
คาดว่าภายในปี 2562 นี้ โครงการดังกล่าวจะขยายพื้นที่ทดลองออกไปอีกรวมเป็น 1,300 เฮกต้าร์ หรือ 8,125 ไร่ ในมณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลชานตง มณฑลชานชี และเขตปกครองตนเองซินเจียง โดยตั้งเป้าคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตมากกว่า 4.5 ตัน ต่อ 1 เฮกตาร์( 6.25 ไร่) ข้าวสายพันธุ์ใดให้ผลผลิตได้ตามเกณฑ์ก็จะผ่านการคัดเลือกเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่
ภายในปี 2562 ศูนย์วิจัยแห่งนี้ จะส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกลุ่มแรก 7 สายพันธุ์ ไปยังกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำการตรวจสอบ หากได้รับการรับรองก็จะขึ้นทะเบียน และส่งเสริมให้เห็นพันธุ์ข้าวที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าให้มีการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ดินเค็มทั่วประเทศ 20 ล้านเฮตาร์ หรือประมาณ 125 ล้านไร่ คิดเป็นหนึ่งในห้าของพื้นที่ในประเทศจีนที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกข้าว
ขณะเดียวกันในการทดลองดังกล่าวทางการจีนได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต และลดการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง โดยปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมมือ กับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei นำเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ Big Data ,Cloud Computig, Internet of Things มาใช้จัดเก็บข้อมูล เพื่อติดตามและรายงานเกี่ยวกับสภาพความเค็มของดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคและแมลง ในลักษณะการเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agricultur ซึงในอนาคตจะขยายไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ
ทั้งนี้ การทดลองปลูกข้าวทนดินเค็ม เป็นโครงการที่ทางการจีนดำเนินการมาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และคาดว่าจีนจะนำพันธุ์ข้าวใหม่ที่ได้จากการวิจัยพัฒนาไปขยายผลเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์และจะขยายความร่วมมือด้านการเพาะปลูกข้าวไปหลายประเทศทั่วโลก
ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญประเทศหนึ่ง จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่างในตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งการส่งออกของตลาดข้าวไทย เพราะโอกาสที่จีนซึ่งปัจจุบันเป็นลูกค้าในตลาดข้าวของไทยจะเปลี่ยนบทบาทและกลายมาเป็นคู่แข่งระดับยักษ์ใหญ่ไม่น่าจะไกลเกินมือเอื้อม
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรไทย จึงต้องเร่งมือไปพร้อมๆ การพัฒนาเพื่อหามาตรการรองรับ อย่าให้จุดแข็งของไทยที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกมายาวนาน เสียแชมป์ให้มหาอำนาจอย่างจีน เพราะหากจีนเปลี่ยนจากคู่ค้า มาเป็นคู่แข่งเมื่อไหร่ เกษตรกร-ชาวสวนไทย เจอศึกหนัก…แน่นอน