ภาคเอกชนรับสมัครงานลดลง 37.4% งาน part-time อ่วมหายไปเกือบครึ่ง หลังประกาศ lockdown


EIC SCB เผยข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com เผยให้เห็นว่าจำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงถึง 37.4% นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศ lockdown

EIC มองว่าข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com ในส่วนของจำนวนประกาศรับสมัครงานประเภทต่าง ๆ สามารถสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดแรงงานได้อย่างเป็นปัจจุบันมากกว่าข้อมูลตลาดแรงงานโดยทั่วไปที่อาจมีความล่าช้ามากกว่าในการติดตาม โดย EIC พบว่า จำนวนประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 มีจำนวนประกาศอยู่ที่ 9.2 พันตำแหน่ง คิดเป็นการลดลงถึง 37.4% จากวันที่ 21 มีนาคม 2563 (1 วันก่อนประกาศ lockdown กรุงเทพฯ และปริมณฑลจากการระบาดของ COVID-19) โดยข้อมูลดังกล่าวมีรายละเอียดและนัยที่สำคัญต่อภาพเศรษฐกิจ ดังนี้

จำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงสำหรับการจ้างงานในทุกประเภท โดยเฉพาะงานในประเภท part-time ซึ่งเป็นงานที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจสูง จำนวนประกาศรับสมัครงานประเภท part-time ลดลงถึง 55.4% (ณ วันที่ 24 เมษายน เทียบกับ ณ วันที่ 21 มีนาคม) ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่มากกว่าในภาพรวม (37.4%)
อย่างมีนัยสำคัญ EIC มองว่าแม้สัดส่วนงานประเภท part-time จะมีไม่มากบนเว็บไซต์ JobsDB.com คือคิดเป็นเพียง 0.8% ของประกาศทั้งหมด แต่ก็อาจเป็นตัวสะท้อนภาวะการจ้างงานประเภท part-time ของเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากได้

จำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงในทุกกลุ่มเงินเดือน โดยงานที่ได้เงินเดือนน้อยมีจำนวนลดลงมากกว่างานเงินเดือนสูง เมื่อพิจารณาแยกตามระดับเงินเดือน พบว่า ประกาศรับสมัครงานสำหรับกลุ่มงานที่เงินเดือนน้อยที่สุด คือน้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทมีจำนวนลดลงมากที่สุดถึง 50.9% ขณะที่งานที่ได้เงินเดือนสูงกว่าจะมีจำนวนประกาศรับสมัครงานที่ลดลงน้อยกว่าลดหลั่นกันไปตามลำดับ โดย EIC มองว่าสาเหตุที่งานที่ได้เงินเดือนน้อยมีจำนวนลดลงมากเป็นพิเศษนั้นน่าจะมาจากการที่กลุ่มเงินเดือนน้อยเป็นคนส่วนใหญ่ในสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นต้น ขณะที่ส่วนเงินเดือนสูงเป็นงานในสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบหรือเป็นงานที่ใช้ทักษะสูงและงานระดับผู้บริหาร ทั้งนี้งานที่ได้รับเงินเดือนในช่วง 3-5 หมื่นบาทนั้นมีสัดส่วนสูงที่สุดในเว็บไซต์ JobsDB.com โดยคิดเป็น 36.0% ของประกาศรับสมัครงานทั้งหมด

นอกจากนี้ จำนวนประกาศรับสมัครงานในภาคเอกชนลดลงในทุกสาขาธุรกิจสะท้อนถึงผลกระทบของวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง นำโดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซึ่งจำนวนงานลดลงถึง 63.0% ตามมาด้วยการผลิตรถยนต์ และค้าส่งค้าปลีกที่ลดลงที่ 58.9% และ 48.0% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 สาขาธุรกิจล้วนแล้วแต่เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการหดตัวของกำลังซื้อและการหยุดชะงักของหลาย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่งานในสาขาธุรกิจอื่น ๆ ก็มีการลดลงในระดับเกิน 20% ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กินวงกว้างและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ถดถอย ทั้งนี้มีเพียงงานในองค์กรภาครัฐ/องค์กรอิสระ (คิดเป็น 0.3% ของการรับสมัครงานทั้งหมด) ที่ยังมีประกาศรับสมัครงานเพิ่มขึ้นที่ 25.0% ในช่วงเดียวกัน

EIC มองว่า การลดลงของประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ JobsDB.com เป็นอีกตัวสะท้อนถึงสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซาซึ่งอาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว ประกาศรับสมัครงานที่หายไปเป็นจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้นถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากและกินวงกว้าง จากปัจจัยลบรอบด้านที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางอยู่เป็นทุนเดิม โดย EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งจะทำให้ตลาดแรงงานยังคงมีความเสี่ยงและอาจซบเซาไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจตามที่ EIC เคยประเมินไว้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ EIC Note: EIC ประเมินวิกฤติ 2020 กระทบแรงงานวงกว้าง เสี่ยงตกงานเป็นประวัติการณ์ ซ้ำเติมความเปราะบางภาคครัวเรือน) โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการใช้จ่ายและการจ้างงานในภาวะที่ความไม่แน่นอนด้านรายได้ยังสูง ซึ่งจะส่งผลให้กำลังแรงงานที่ว่างงานรวมถึงกลุ่มบัณฑิตจบใหม่นั้นจะหางานได้ยากขึ้น และสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้ก็จะส่งผลต่อเนื่องทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างในระยะต่อไปมีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน

 

Source : EIC SCB