ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 22 ปี ท่ามกลางความวิตกกังวลจากโควิด-19


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 47.2 ลดลงต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. 63 ที่อยู่ในระดับ 50.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน เม.ย. อยู่ที่ 39.2 ลดลงจากเดือน มี.ค.63 ที่อยู่ในระดับ 41.6

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวจากการปิดกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 46.0 จาก 49.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 56.4 จาก 59.9

ปัจจัยลบ

ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ

รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น การสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งมีการขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน (1-31 พ.ค.63)

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ

ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ มันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออก

ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงยังรู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวเสริมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคติดลบต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 259 เดือน หรือ 21 ปี 7 เดือน รวมทั้งความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้โดยรวมต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 22 ปี จากการที่เศรษฐกิจถูกบั่นทอนมานานจากสงครามการค้า ทำให้ขยายตัวต่ำมาตั้งแต่ไตรมาส 3/61 ซึ่งเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 4% และปี 62 ทั้งปีเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3%

สำหรับครึ่งแรกของปี 63 นี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะติดลบ -8 ถึง -10% โดยไตรมาส 2/63 น่าจะติดลบหนักที่สุด โดยจะถึงจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย.ก่อนจะเริ่ม Reopen หรือ Restart ธุรกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลากยาวต่อเนื่องถึงไตรมาส 3/63 ก่อนจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/63 ซึ่งการรีสตาร์ทธุรกิจได้เร็วจะช่วยชะลอการปลดคนงานได้ดีและจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากจนเกินไป

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนเข้ามาดูแลผลกระทบ บรรเทาผลกระทบจากการว่างงานด้วยเงิน 5 พันบาท แก่ประชาชน 16 ล้านคน และเราคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3 ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นในรูปแบบไหน เช่น การกระตุ้นผ่านกองทุนหมู่บ้าน ผ่านเศรษฐกิจชุมชน หรือการจ้างงานในพื้นที่ ยิ่งการกระตุ้นมีการกระจายตัวไปทุกพื้นที่และมีการจ้างงานกลับมาโดยเฉพาะการจ้างงานในท้องถิ่น การซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วขึ้น

และหวังว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินได้ในช่วงเดือน ก.ค.63 ก็น่าจะทำให้คนไทยเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งการสัมมนา ประชุม การท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเริ่มมีแนวคิดการคลายล็อกการประชุมสัมมนาแล้ว หากดำเนินการในกรอบที่เหมาะสมกับ Social Distancing จะทำให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปดูแลภาคการท่องเที่ยวและภาคการโรงแรมในต่างจังหวัด ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 3/63 และคาดว่า Soft Loan ของรัฐบาลที่เตรียมไว้ 4 แสนล้านบาทจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มการปลดล็อกให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นสัญญาณที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 3/63 และถ้าสถานการณ์ของการปลอดเชื้อโควิด-19 ในเอเชียและทั้งโลกดีขึ้น คาดว่าไตรมาส 4/63 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมา 6 ล้านคน หรือเดือนละประมาณ 2 ล้านคนขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐ น่าจะช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับขึ้นมาเร็วและทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว -3.5%

อ้างอิง: ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย